Happy Ending แอชตัน อโศก ออปชั่นใหม่คมนาคม “ใช้กฎหมายแก้กฎหมาย”

แอชตัน อโศก

24 ตุลาคม 2566 กระทรวงคมนาคมขานรับความเดือดร้อนลูกบ้าน แอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 จำนวน 668 ห้องชุด

โดย “สุรพงษ์ ปิยะโชติ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงนามคำสั่งตั้งคณะทำงาน 9 คน หนังสือแต่งตั้งเลขที่ 1109/2566 เรื่อง “แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบการอนุญาตใช้พื้นที่ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย”

โดยมีไทม์ไลน์ที่ชัดเจนจะหาข้อสรุปเบื้องต้นภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนดำเนินการให้แล้วเสร็จตามอำนาจหน้าที่ภายใน 30 วัน ดังนั้น ถ้านับตามไทม์ไลน์ของกระทรวงคมนาคม คาดว่าใช้เวลา 15 วัน+30 วัน เท่ากับ 45 วัน นับจากนี้

สุรพงษ์ ปิยะโชติ
สุรพงษ์ ปิยะโชติ

รมช.คมนาคมเผย “จบแฮปปี้”

ทั้งนี้ ความเดือดร้อนของลูกบ้าน แอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 หรือแอชตัน อโศก มาจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างแบบมีผลย้อนหลัง ต้นทางมาจากถนนความกว้าง 13 เมตร ที่ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” อนุญาตใช้ผ่านทางได้ในปี 2557 ไม่ถูกต้อง

ดังนั้น เมื่อนำเอกสารอนุญาตของ รฟม. มาประกอบการขออนุญาตก่อสร้างกับสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร จึงไม่ถูกต้อง และสั่งเพิกถอนดังกล่าว

ประเด็นร้อนของวงการอสังหาริมทรัพย์เมืองไทยเรื่องนี้ “สุรพงษ์ ปิยะโชติ” ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หน้าโถงลิฟต์ชั้น 1 กรมการขนส่งทางราง เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ผลกระทบจากคำตัดสินของศาลปกครองมีเรื่องความเชื่อมั่นด้วย กระทรวงคมนาคมจึงต้องพลิกฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา

Advertisment

“ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้คนอยู่อาศัย ทั้งนักลงทุน ทั้งผู้ประกอบการ ทุกอย่างแหละครับ” พร้อมกับอธิบายว่า มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลแล้ว ส่วนจะมีโซลูชั่นในการแก้ปัญหาอะไรบ้าง ต้องรอให้คณะทำงานเสนอผลการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาขึ้นมาก่อน สิ่งที่ยืนยันได้คือปีนี้จะเคลียร์ปัญหาให้จบ

คำถามสำคัญคือ จบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งหรือไม่

Advertisment

“แฮปปี้ครับ แฮปปี้ ผู้บริโภค ผู้อยู่อาศัย ผู้ประกอบการ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะเกี่ยวกับต่างชาติด้วย” คำกล่าวของ รมช.สุรพงษ์

โฟกัสแก้ข้อเดือดร้อนประชาชน

ถัดมา “สรพงศ์ ไพฑูรย์พงศ์” รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 มีตัวแทนลูกบ้านแอชตัน อโศก 668 ห้องชุด เดินทางมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม เพราะกำลังได้รับความเดือดร้อนขนาดหนัก จากการที่ รฟม.ให้เช่าที่ดินในอาคารชุด แอชตัน อโศก

ต่อมา รมช.คมนาคม (สุรพงษ์ ปิยะโชติ) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน 9 คน ประกอบด้วย 1.รองปลัดกระทรวงคมนาคม (สรพงศ์ ไพฑูรย์พงศ์) 2.อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์) 3.ผู้ว่าการ รฟม. (ภคพงศ์ ศิริกันทรามาศ) 4.ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด 5.ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

6.ผู้แทนกรุงเทพมหานคร 7.ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม 8.ผู้อำนวยการกองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และ 9.รองผู้ว่าการ รฟม. เป็นเลขานุการ

“หลังจากได้รับหนังสือขอความเป็นธรรมแล้ว ทางท่าน รมช.สุรพงษ์ ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการ หาแนวทางและมาตรการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน กรณีอาคารชุดแอชตัน อโศก โดยคณะทำงานชุดนี้ทำหน้าที่พิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาผู้รับผลกระทบการอนุญาตใช้พื้นที่ของ รฟม. เพื่อให้เกิดการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม สามารถตอบสนองและแก้ไขปัญหา ลดผลกระทบให้กับประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม”

โดยคณะทำงานชุดนี้จะเร่งศึกษาข้อมูลผลกระทบ และข้อเสนอแนะแนวทางต่าง ๆ ในเบื้องต้น ภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนดำเนินการให้แล้วเสร็จตามอำนาจหน้าที่ภายใน 30 วัน

“สิ่งสำคัญที่สุด เราไม่ได้เอากระบวนการพิจารณาที่ผ่านมาเป็นตัวตั้ง เราเอาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้ง ว่าจะช่วยได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาได้มีประสิทธิภาพสูงสุด” คำกล่าวของ “รองปลัดสรพงศ์”

พลิกปูมมติ ครม. 6 ก.ย. 2559

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นการเวนคืนที่ดิน และการใช้ที่ดินเวนคืนของหน่วยงานรัฐนั้น มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ในยุครัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติคณะรัฐมนตรี (มติ ครม.) เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 เห็นชอบและอนุมัติแนวทางตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 แนวทาง

ได้แก่ 1.เห็นชอบแนวทางการนำที่ดินที่ได้จากการเวนคืนไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้ส่วนราชการถือเป็นแนวปฏิบัติราชการ

2.มอบหมายหน่วยงานรัฐ ที่ประสงค์จะนำที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ไปใช้ประโยชน์ ตรวจสอบ
ที่ดินในเบื้องต้นตามแนวทางความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา

3.อนุมัติหลักการในการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณายกร่างกฎหมายตามแนวทางดังกล่าวต่อไป

อย่างไรก็ตาม มติ ครม.ที่มีมาตั้งแต่ปี 2559 ปรากฏว่าจนถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยมีการนำมาปรับใช้กับหน่วยงานรัฐแต่อย่างใด จึงอาจกล่าวได้ว่า กรณีแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 อาจเป็นเคสแรกที่สามารถนำ มติ ครม. 6 กันยายน 2559 มาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม ถูกที่ถูกจังหวะ และถูกต้องตามที่ได้เคยมีมติ ครม. กำหนดแนวทางดำเนินการให้ไว้

ใช้ที่เวนคืนเพื่อประโยชน์สูงสุด

สำหรับที่มาที่ไปของมติ ครม. 6 กันยายน 2559 นั้น ทางสำนักงานกฤษฎีกา ทำหนังสือลงวันที่ 26 สิงหาคม 2559 ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (อำพน กิตติอำพน) ในขณะนั้น

สรุปสาระสำคัญว่า จากการที่ได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้กฤษฎีกาพิจารณาแนวทางการนำที่ดินที่เหลือจากการใช้ ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ไปใช้ประโยชน์อื่น เช่น การนำพื้นที่สองข้างทางรถไฟฟ้า หรือพื้นที่ตามแนวเขตทางรถไฟและย่านสถานีไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

และแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้ภาครัฐสามารถนำที่ดินที่ได้จากการเวนคืนไปใช้ประโยชน์อื่นเพิ่มเติมจากวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นของรัฐ

แนวทางคือ ที่ดินที่ได้จากการเวนคืนหลังรัฐธรรมนูญปี 2521 ใช้บังคับ หากได้เข้าใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ตามวัตถุประสงค์ที่เวนคืนมาแล้วทั้งหมด กรรมสิทธิ์ย่อมตกเป็นของรัฐโดยเด็ดขาด รัฐสามารถนำที่ดินไปใช้เพื่อหาประโยชน์ หรือใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะอื่นเพิ่มเติม ตามที่เห็นเหมาะสมในภายหลังได้ โดยต้องไม่กระทบต่อวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดิน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ที่ดิน

เสนอใช้กฎหมายแก้กฎหมาย

แหล่งข่าวให้ความเห็นว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 นั้น แนวทางการพิจารณาคดีของศาลปกครอง จะเห็นว่ามีประเด็นกฎหมายเป็นข้อพิจารณาหลัก ดังนั้น หนึ่งในทางออกของแอชตัน อโศก สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้กฎหมายมาแก้ไขปัญหา

แนวทางคือ อ้างอิงกฎหมายเวนคืนที่กำกับดูแลโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ มติ ครม. วันที่ 6 กันยายน 2559 ซึ่งจะพบว่า การเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้า MRT มีการออกเป็นกฎหมายเวนคืนชั้นพระราชกฤษฎีกา และมีข้อกำหนดวัตถุประสงค์เวนคืนสำหรับกิจการรถไฟฟ้า ดังนั้นเมื่อ รฟม.ก่อสร้างกิจการรถไฟฟ้าแล้วเสร็จผ่านมา 20 ปี ขณะที่แปลงที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่แอชตัน อโศก ขอใช้เป็นทางผ่านนั้น ศาลตัดสินว่าเป็นการอนุญาตที่ไม่ถูกต้อง เพราะผิดวัตถุประสงค์การเวนคืน

ดังนั้น แนวทางที่น่าจะเป็นทางออกโดยวิธีการ “ใช้กฎหมาย-แก้ไข-กฎหมาย” สามารถทำได้ก็คือ ให้ออกกฎหมายที่มีศักดิ์เท่ากัน คือออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดิน เพื่อเปิดให้ รฟม.สามารถอนุญาตผ่านทางได้

“กรณีแอชตัน อโศก มองในมุมนักกฎหมายก็ต้องบอกว่า ยังมีทางออกด้วยการใช้กฎหมายแก้กฎหมาย ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่มีความเห็นสอดคล้องกันมากที่สุดในวงการกฎหมายภาครัฐในขณะนี้”

สอดคล้อง-ส่งเสริมโมเดล TOD

แหล่งข่าวกล่าวตอนท้ายว่า หากมีการออกกฎหมายใหม่มาแก้ไขกฎหมายเก่า ยังจะเป็นการสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564) ในด้านยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ “การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง”

โดยสนับสนุนให้มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานี ให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง (ในที่นี้คือโครงการรถไฟฟ้า) อย่างเต็มประสิทธิภาพ

โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง การสร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่ และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีระบบขนส่งมวลชน หรือ TOD-Transit Oriented Development ซึ่งเป็นเทรนด์การพัฒนาเมืองสำคัญระดับโลกที่มีตัวอย่างให้เห็นอย่างมากมายในต่างประเทศ และกำลังเป็นเมกะเทรนด์การพัฒนาเมืองในประเทศไทยอีกด้วย