คมนาคมแก้ปมคดีเวนคืน ใช้กฎหมายแก้กฎหมาย ทางออกแอชตันอโศก

สุรพงษ์ ปิยะโชติ
สุรพงษ์ ปิยะโชติ

“สุรพงษ์ ปิยะโชติ” รมช.คมนาคม ทุบโต๊ะคดีแอชตัน อโศก ต้องเคลียร์ให้จบในปีนี้แบบแฮปปี้เอนดิ้งทุกฝ่าย หลังลูกบ้าน 668 ห้องชุดขอความเป็นธรรม ได้รับความเดือดร้อนจากคำตัดสินศาลปกครองสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ตั้งคณะทำงานดึงมือกฎหมาย 9 คน ร่วมกันหาทางออก วงในชี้ต้องใช้กฎหมายแก้กฎหมาย แนะออก พ.ร.ฎ.เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์เวนคืน แก้เกม พ.ร.ฎ.เวนคืนฉบับเก่าที่ล็อกวัตถุประสงค์เดียวให้ใช้ในกิจการรถไฟฟ้าเท่านั้น

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความคืบหน้าคดีแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไข เพราะมีผู้รับผลกระทบจำนวนมาก เบื้องต้นตั้งเป้าหมายเคลียร์ด้านการอนุญาตใช้ทางผ่านให้จบภายในปี 2566 นี้

โดยมั่นใจว่าจะเป็นการจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ทั้งผู้อยู่อาศัย ผู้ประกอบการ และนักลงทุน เพราะโครงการคอนโดมิเนียมแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 มีผู้ร่วมลงทุนเป็นชาวต่างชาติด้วย ทำให้มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นการลงทุนของประเทศไทย

ตั้งคณะทำงานดูแลการอนุญาต

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีตัวแทนกลุ่มประชาชนผู้พักอาศัยห้องชุดแอชตัน อโศก ร้องเรียนขอความเป็นธรรมมายังกระทรวงคมนาคม ถึงการดำเนินการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในการให้เช่าที่ดินเป็นทางผ่านเข้าออก

โดยมีผู้รับโอนกรรมสิทธิ์แล้วทั้งสิ้น 668 ห้องชุด จำนวน 580 ครัวเรือน และกำลังได้รับผลกระทบจากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ที่สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างแบบมีผลย้อนหลัง เนื่องจากศาลพิจารณาว่าการอนุญาตให้เช่าที่ดินโดย รฟม. ออกให้กับแอชตัน อโศก ไม่ถูกต้อง จึงเป็นเหตุสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างดังกล่าว

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการ กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด โดยลงนามหนังสือแต่งตั้งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบการอนุญาตใช้พื้นที่ของ รฟม. โดยองค์ประกอบมีกรรมการ 9 คน เพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาให้ประชาชน โดยให้รายงานต่อ รมช.คมนาคมต่อไป

รายชื่อคณะทำงานชุดนี้ ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เป็นประธาน และมีกรรมการ ได้แก่ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง, ผู้ว่าการ รฟม., ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด, ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผู้แทนกรุงเทพมหานคร (กทม.), ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม, ผู้อำนวยการกองตรวจ สำนักงานปลัดฯ โดยมีรองผู้ว่าการ รฟม. ที่ได้รับมอบหมาย เป็นเลขานุการคณะทำงาน

“ข้อกังวลของลูกบ้านแอชตัน อโศก กระทรวงคมนาคมต้องสร้างความเชื่อมั่นให้คนอยู่อาศัย ทั้งนักลงทุน ทั้งผู้ประกอบการ ปีนี้เคลียร์ให้จบ ต้องจบ และจบแบบแฮปปี้” นายสุรพงษ์กล่าวย้ำ

ดึงมือกฎหมายรัฐ 9 อรหันต์

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่กระทรวงคมนาคมได้รับหนังสือขอความเป็นธรรมจากตัวแทนลูกบ้านแอชตัน อโศก ส่งถึง รมช.คมนาคม (นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ) เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 สาระสำคัญ ลูกบ้านแอชตัน อโศก ได้รับความเดือดร้อนขนาดหนัก ในส่วนของการดำเนินการเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแล รฟม. ซึ่งเป็นหน่วยงานอนุญาตให้แอชตัน อโศก เช่าที่ดินเปล่า

ข้อเดือดร้อนในเรื่องนี้ เมื่อมีการนำเสนอมาที่กระทรวงคมนาคม โดยลูกบ้านได้มีรายชื่อและลายเซ็นของเจ้าของห้องชุด 668 ราย จากการได้พักอาศัยในโครงการ ตนได้รับมอบหมายให้ดูแลและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในกรณีนี้ โดยให้ลงไปตรวจสอบดูอีกครั้ง

ทั้งนี้ ผลกระทบจากการที่ รฟม. ได้อนุญาตให้มีการเช่าพื้นที่ทางออก ไม่ใช่ให้เช่าเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นทางสาธารณะแน่นอน มีผู้เดือดร้อนจำนวนมาก ดังนั้น นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ จึงได้ลงนามหนังสือเลขที่ 1109/2566 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2566 แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบการอนุญาตใช้พื้นที่ของ รฟม.

โดยคณะทำงาน 9 คน มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 1.ศึกษาข้อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 2.ให้ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน 3.ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามมติของคณะทำงาน

4.ให้มีอำนาจเชิญบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ และรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น 5.แต่งตั้งคณะทำงานย่อยที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของคณะทำงานชุดนี้ และ 6.ในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่า มีข้อมูลหรือข้อเท็จจริง ไม่เพียงพอ ให้มีอำนาจขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

“ผมเองได้เรียนท่าน รมช.สุรพงษ์ จะเร่งและศึกษาแนวทาง รวมถึงเสนอแนะแนวทางเพื่อเสนอท่าน รมช. คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อศึกษาข้อมูลเบื้องต้น และจะได้เรียนรู้ข้อมูลผลกระทบด้านต่าง ๆ และอาจมีการดำเนินการเพิ่มเติม คาดหมายว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 30 วัน ผมขอให้ความมั่นใจว่า ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และในส่วนของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือผู้ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ขอให้เชื่อมั่นในมาตรการต่าง ๆ และความห่วงใยของภาครัฐ”

นายสรพงศ์กล่าวต่อว่า จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ จากคำพิพากษาของศาลปกครอง ถ้าหากกระทรวงคมนาคมเพิกเฉยไปจะมีผลกระทบต่อเรื่องคดีต่าง ๆ ที่จะตามมาในอนาคต ในฐานะกำกับดูแล รฟม. เพราะทำให้เกิดความเสียหายกับคนจำนวนมาก ซึ่งจะต้องมีการศึกษากฎหมายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร, พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อจะได้ดูว่าจะบรรเทาผลกระทบความเดือดร้อนได้อย่างไร

“…ผมไม่อาจก้าวล่วงคำพิพากษา ที่ผ่านมา มีข้อเท็จจริงว่าระหว่างการก่อสร้าง มีการเช่าที่ดินตรงนี้ใช้ด้วย เป็นต้นเหตุของการพิจารณาคดี สิ่งสำคัญที่สุด เราไม่ได้เอากระบวนการพิจารณาที่ผ่านมาเป็นตัวตั้ง เราเอาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้ง ว่าจะช่วยได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาได้มีประสิทธิภาพสูงสุด” นายสรพงศ์กล่าว

ย้อนคดีเพิกถอนแอชตัน อโศก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้พัฒนาโครงการแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 หรือแอชตัน อโศก

ชี้แจงว่า โครงการแอชตัน อโศก เป็นโครงการร่วมลงทุน หรือ JV-joint venture ระหว่างอนันดาฯ ถือหุ้น 51% กับพันธมิตรยักษ์อสังหาริมทรัพย์จากประเทศญี่ปุ่น กลุ่มมิตซุย ฟุโดซัง ถือหุ้น 49% จัดตั้งบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนและเป็นผู้พัฒนาโครงการ

โดยแอชตัน อโศก ได้รับใบอนุญาตผ่านทางจาก รฟม. ด้วยการขยายสิทธิถนนเดิมที่ติดมากับแปลงที่ดิน ขนาดกว้าง 6.4 เมตร มีการเช่าที่ดินเพิ่มเป็น 13 เมตร ในปี 2557 เริ่มต้นก่อสร้างในปี 2558 ต่อมามีการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองกลาง 2 คดี ในปี 2559 และปี 2560 แต่ยังไม่มีคำตัดสิน จนกระทั่งโครงการสร้างเสร็จและเริ่มต้นทยอยโอนกรรมสิทธิ์ให้กับลูกค้าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 จำนวน 668 ห้องชุด

ล่าสุดคดีที่ผู้ฟ้องร้องคือ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ทางศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 พิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างแบบมีผลย้อนหลัง ในขณะที่มีผู้บริโภคที่รับโอนกรรมสิทธิ์และพักอาศัยแล้ว คิดเป็นสัดส่วน 87% ของจำนวนห้องชุดทั้งโครงการที่มีจำนวน 783 ห้องชุด

แนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากคำตัดสินศาลปกครองสูงสุด บริษัทอนันดาฯดำเนินการ 5 แนวทาง ได้แก่ 1.ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยการซื้อ หรือหาที่ดินเพิ่มเติม 2.เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขปัญหากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผ่านสำนักการโยธา กทม. ไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไปยังคณะรัฐมนตรี

3.เสนอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องแก้ไข ผ่าน รฟม. เสนอผ่านกระทรวงคมนาคมไปยังคณะรัฐมนตรี 4.ประสานเจ้าของเดิมให้ยื่นทบทวนสิทธิที่ดินทางเข้า-ออกจาก รฟม. ให้ทบทวนสิทธิที่ดินเดิมก่อนเวนคืน ควรให้สิทธิทางเข้าออกอย่างน้อย 12-13 เมตร เพื่อให้สามารถขึ้นอาคารสูงและขนาดใหญ่พิเศษได้ 5.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่ ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป

พลิกตำราสู้คดีศาลปกครอง

การแสวงทางออกคดีแอชตัน อโศกนั้น แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความพยายามของแอชตัน อโศก ที่จะขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ ขั้นตอนปกติศาลปกครองมีหลักเกณฑ์ให้สามารถทำได้ แต่เงื่อนไขสำคัญต้องมีข้อเท็จจริงใหม่ ที่ผ่านมาการขอรื้อฟื้นคดีใหม่ทำได้เพียง 2 คดีเท่านั้น คือคดีคลองด่านกับโฮปเวลล์ ซึ่งผู้เสียหายคือภาครัฐเป็นผู้ขอรื้อฟื้นคดี

กรณีแอชตัน อโศก ที่ระบุว่ามีข้อเท็จจริงใหม่ อยู่ที่ศาลปกครองจะพิจารณา เบื้องต้น ลูกบ้าน 668 ห้องชุด อ้างอิงเหตุผลไม่ได้เป็นผู้ร้องสอดในคดี ขณะที่ข้อเท็จจริงในสำนวนพิจารณาคดีของศาลปกครองมีผู้ร้องสอดปรากฏตัวแล้วคือ บริษัทอนันดาฯ การที่ลูกบ้านไม่ได้เป็นผู้ร้องสอดเป็นเรื่องการไม่สามารถรักษาสิทธิของตัวเองไว้ตั้งแต่แรก จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงใหม่

ส่วนประเด็นมีอดีตผู้บริหาร รฟม. ที่เป็นผู้อนุญาตในปี 2557 มีความยินดีจะเป็นพยานถ้ามีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ แต่ข้อเท็จจริงในสำนวนคือ รฟม.ได้ให้ถ้อยคำในสำนวนพิจารณาไว้หมดแล้ว การที่มีบุคคลมาเพิ่มเติมภายหลังที่เป็นอดีตผู้บริหารของ รฟม. ถือได้ว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริงใหม่ เพราะเป็นคนในองค์กรเดียวกัน เป็นหน้าที่ของ รฟม.ที่จะต้องพูดคุยกันภายในเพื่อให้ข้อเท็จจริงเพียงหนึ่งเดียวในนาม รฟม.

และประเด็นที่ดินเวนคืน เมื่อใช้ในกิจการเวนคืนเสร็จสิ้นลง ถ้ามีที่ดินเปล่าหลงเหลืออยู่ ทางเจ้าของเดิมหรือทายาทเป็นผู้ขอซื้อคืนนั้น คำอธิบายคือ ที่ดินเวนคืนทุกแปลงมีข้อกำหนดในการซื้อคืนโดยเจ้าของเดิมหรือทายาทอยู่แล้ว แต่มีหลักเกณฑ์หลังจากก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ หากทายาทมีความประสงค์ขอซื้อที่ดินคืนจะต้องดำเนินการภายใน 3 ปี และมีการติดประกาศทั่วไป กรณีแอชตัน อโศก หลังจากสร้างรถไฟฟ้า MRT เสร็จแล้ว มีการติดประกาศตามระเบียบ แต่ทายาทไม่ได้มาขอใช้สิทธิซื้อคืนในเวลาที่กำหนด ประเด็นนี้จึงตกไป

ทางออกใช้กฎหมาย แก้เกมกฎหมาย

แหล่งข่าวกล่าวสรุปว่า ไฮไลต์อยู่ที่การพิจารณาคดีของศาลปกครอง จะเห็นว่ามีประเด็นกฎหมายเป็นข้อพิจารณาหลัก ดังนั้น หนึ่งในทางออกของแอชตัน อโศก สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้กฎหมายมาแก้ไขปัญหา

วิธีการคือ การเวนคืนที่ดินของ รฟม.ในช่วงปี 2540 กว่า ๆ ออกเป็นกฎหมายเวนคืนชั้นพระราชกฤษฎีกา และมีข้อกำหนดวัตถุประสงค์เวนคืนสำหรับกิจการรถไฟฟ้าของ รฟม. ดังนั้นเมื่อ รฟม.ก่อสร้างกิจการรถไฟฟ้าแล้วเสร็จผ่านมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ขณะที่แปลงที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่แอชตัน อโศก ขอใช้เป็นทางผ่านนั้น ศาลตัดสินว่าเป็นการอนุญาตที่ไม่ถูกต้อง เพราะผิดวัตถุประสงค์การเวนคืน

ดังนั้น แนวทางที่สามารถทำได้ก็คือ ให้ออกกฎหมายที่มีศักดิ์เท่ากัน คือออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดิน โดย รฟม.สามารถอนุญาตผ่านทางได้

“กรณีแอชตัน อโศก มองในมุมนักกฎหมายก็ต้องบอกว่า ยังมีทางออกด้วยการใช้กฎหมายแก้กฎหมาย ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่มีความเห็นสอดคล้องกันมากที่สุดในวงการกฎหมายภาครัฐในขณะนี้” แหล่งข่าวกล่าว