
คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : สมถวิล ลีลาสุวัฒน์
วันก่อนเพื่อนกริ๊งกร๊างว่า ได้รับมรดกจากแม่เป็นเงินกับที่ดินเยอะมาก ตอนนี้ทำเลไม่ไกลแล้วแต่กลายเป็นไพร์ม เพราะมี เซเว่นฯ มาขอเช่าที่นิดนึง
สรุปที่ดินได้ทำให้เพื่อนมีรายได้ต่อเดือน 4.5-5 หมื่นบาทไปอีกหลายปี ทั้งขึ้นค่าเช่าได้อีก 10% ในทุก ๆ ปีที่ตกลงกันไว้
สำคัญสุดคือ เซเว่นฯ นำพาความเจริญมาสู่บ้านเกิดให้เป็นทำเลที่คึกคัก สว่างไสวในพริบตา เป็นศูนย์รวมการค้าขาย ทราฟฟิกผู้คน เกิดการจับจ่ายใช้สอย มีรถเข็น แผงลอย เป็นชุมชนเกิดใหม่เล็ก ๆ ที่เพื่อนภาคภูมิใจ
จากที่เคยภูมิใจเรื่องแม่ หนึ่งในแลนด์ลอร์ดของเมืองกาญจน์ที่เคยลดค่าเช่าให้กับชาวไร่ชาวนาที่ปลูกอ้อย เพราะใจอยากให้เกษตรกรหายจน หรือลืมตาอ้าปากได้บ้าง
วกมาเรื่อง “มรดก” ตอนแรกเพื่อนเข้าใจว่าต้องเสียภาษีรายได้ส่วนนี้ หลังปรึกษากูรูกูเกิลทำให้รู้ว่าไม่ต้องเสียภาษีเพื่อชาติใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะมูลค่ามรดกที่ได้รับเป็นทรัพย์สินรวมกันแล้วไม่ถึงร้อยล้าน ตามกฎหมายระบุไม่เข้าข่าย
ล่าสุดมาเห็นข่าวกระทรวงการคลัง ในยุครัฐบาลเศรษฐา 1 มีนโยบายจะทบทวน “ภาษีมรดก” อย่างจริงจัง
ด้วยการเพิ่มความเข้มงวดขึ้น หลังรู้จุดอ่อนตัวเองแล้วว่า รัฐผ่อนปรนข้อยกเว้นไว้เยอะ ทำให้รายได้พลาดเป้า
ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้มานานแล้วเกือบ 10 ปี คือเริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 แต่เก็บภาษีได้แค่ 3.6 พันล้านบาท ถือว่าจิ๊บจ๊อยมาก
ทำให้ท่านปลัดคลัง คุณลวรณ (อ่านว่า ละ-วะ-รน) แสงสนิท ต้องแอ็กทีฟ
เร่งปรับเงื่อนไขในการจัดเก็บภาษีมรดกใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม
ช่วงแรกนี้ ใจกระทรวงการคลังเองก็ไม่อยากจะเข้มงวดอะไรเกินไป โดยเฉพาะเงื่อนไขและข้อยกเว้นต่าง ๆ
ที่ร้อนแรงสุดคือ เพดานของมูลค่ามรดกที่ขีดเส้นไว้คือ 100 ล้านบาท ต้องส่วนเกินเท่านั้นที่บรรดาเศรษฐีเก่าใหม่จะต้องจ่ายให้กับรัฐ
ประเด็นนี้รัฐอาจทบทวนลดเพดานลง เนื่องจากคนรวยที่เห็นแก่ตัวมักจะงก ขี้เหนียว เลี่ยงได้เลี่ยง โกงได้โกง
จึงเล่นแร่แปรธาตุ เขย่ามรดกกองโตให้เป็นกองเล็ก ๆ กระจายกันไป ให้ไม่ถึง 100 ล้านบาท เพื่อไม่ให้เข้าข่ายต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
ให้สมกับคำว่า “เหมาะสม” อย่างแทร่
กล่าวถึงรายละเอียดภาษีมรดก ปัจจุบันเก็บที่ 10% ของมูลค่าสินทรัพย์
แต่มีเงื่อนไขยกเว้น คือ การจัดเก็บภาษีจะเก็บเฉพาะมรดกในส่วนที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาทต่อคน ทำให้เกิดเป็นช่องว่างที่คนเห็นแก่ตัวตั้งใจหลีกเลี่ยงที่จะจ่ายภาษี
ยกตัวอย่าง บิดาเสียชีวิตมีมรดกอยู่ 300 ล้านบาท แบ่งให้ลูก 2 คน คนละ 100 ล้านบาท และญาติอีกคน 100 ล้านบาท
เท่ากับว่า “มรดก” ตระกูลนี้ ไม่มีภาระภาษี เนื่องจากได้รับมรดกไม่เกิน 100 ล้านบาท
กรณีหากมรดกเกิน 100 ล้านบาท ผู้เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน อย่างลูกโดยสายเลือดจะได้ลดภาษี คือ เสียแค่ 5% ไม่ใช่ 10% เต็มจำนวน
แต่ผู้ที่ไม่ใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของผู้ส่งมอบมรดก จะต้องเสียภาษี 10% ท่องไว้เลยนะจ๊ะเศรษฐีขี้งก
โดยทรัพย์สินมรดกที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี คือ อสังหาริมทรัพย์ หุ้น ตราสารหนี้ เงินฝาก ยานพาหนะที่ตีทะเบียน ทรัพย์สินทางการเงิน
ส่วนมรดกที่ไม่ต้องเสียคือ เงินสด ทองคำ เครื่องเพชร เครื่องพลอย ของสะสมโบราณ และทรัพย์สินทางปัญญา
จุดนี้ล่ะที่เศรษฐีชอบใช้เป็นช่องว่าง เปลี่ยนการถือครองทรัพย์สินเป็นประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมรดก คือ นิยมเปลี่ยนเป็นเงินสด ทองคำ เครื่องเพชรแทน
ส่งผลให้กรมสรรพากรเก็บภาษีมรดกได้น้อยมาก ๆๆๆๆๆๆๆ
จากที่เริ่มจัดเก็บมาถึงวันนี้มีรายได้เข้าแผ่นดินรวม 3,643 ล้านบาท ส่วนใหญ่เก็บได้แค่หลักร้อยล้าน และเพิ่งเก็บได้เกิน 1,000 ล้านบาทก็ในปี 2567
เห็นสถิติแล้ว นายกฯเศรษฐา ผู้ชังความเหลื่อมล้ำ คงปวดใจ เพราะคิดผลักดันเรื่องนี้มานานก่อนเป็นผู้นำรัฐบาล ผู้นำนักการเมืองที่รวยอื้อซ่า