บีทีเอส “บางหว้า-ตลิ่งชัน” ไม่คืบ ติด EIA-ไร้ที่ดินสร้างสถานีจ่ายไฟ

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

เป็นรถไฟฟ้าอีกหนึ่งสายทางที่อยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วง “บางหว้า-ตลิ่งชัน” มี “กทม.-กรุงเทพมหานคร” เป็นผู้ผลักดันโครงการ สถานะของโครงการล่าสุด

“จักกพันธุ์ ผิวงาม” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ และการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งล่าช้าไปจากเดิมจะให้แล้วเสร็จในปี 2558 เนื่องจากยังติดปัญหาด้านการขอใช้พื้นที่บางส่วนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้เกิดความล่าช้า ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เร่งดำเนินการแล้ว

สำหรับแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายสายสีลม ตากสิน-เพชรเกษม ที่สถานีบางหว้า จากนั้นไปตามแนวเกาะกลางถนนราชพฤกษ์ ผ่านทางแยกตัดถนนบางแวก (ซอยจรัญฯ 13) แยกตัดถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4แล้วยกข้ามทางแยกถนนบรมราชชนนี ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกที่อยู่ในแนวรถไฟสายใต้ มาสิ้นสุดบริเวณทางลาดลงของสะพานข้ามรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี)

มี 6 สถานี ได้แก่ 1.สถานีบางแวก อยู่บริเวณปากทางเข้าซอยราชพฤกษ์ 6 2.สถานีบางเชือกหนัง อยู่บริเวณจุดตัดถนนบางแวกและซอยจรัญสนิทวงศ์ 13 3.สถานีบางพรมอยู่บริเวณจุดตัดถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4

4.สถานีอินทราวาส อยู่บริเวณด้านหน้าโครงการเดอะเซอร์เคิล 5.สถานีบรมราชชนนี อยู่บริเวณจุดตัดถนนบรมราชชนนี และ 6.สถานีตลิ่งชัน อยู่บริเวณหน้าซอยราชพฤกษ์ 24

แหล่งข่างจาก กทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเบื้องต้นรถไฟฟ้าสายนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานกว่า 9,000 ล้านบาท และค่าติดตั้งระบบการเดินรถ 5,000 ล้านบาท ส่วนการเวนคืนที่ดินจะไม่มีเนื่องจากสร้างบนเกาะกลางถนนราชพฤกษ์

“ปัญหาหลักทำให้การศึกษาความเป็นไปได้และการทำอีไอเอล่าช้า มาจากสาเหตุหลักคือ การหาพื้นที่ก่อสร้างสถานีจ่ายไฟให้กับโครงการ เดิมจะใช้พื้นที่ของกรมทางหลวงชนบทย่านราชพฤกษ์ในการก่อสร้าง แต่กรมทางหลวงชนบทไม่ให้ เพราะผิดวัตถุประสงค์การเวนคืนที่ดิน จะต้องนำพื้นที่นี้มาสร้างถนนเท่านั้น”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ดังนั้นโครงการจึงต้องหาพื้นที่ใหม่สำหรับสร้างสถานีจ่ายไฟ ในเบื้องต้นมองไว้ 2 แห่ง คือ 1.บริเวณพุทธมณฑลสาย 4 เป็นที่ดินของสำนักการโยธา กทม.เวนคืนมาสร้างถนน และ 2.บริเวณระหว่างถนนราชพฤกษ์ ตัดเข้าถนนบรมราชชนนี ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา หากสร้างสถานีจ่ายไฟฟ้าบริเวณนี้ จะสามารถจ่ายไฟให้กฟน.นำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วยหรือไม่ หากเจรจาตกลงกันได้ จะร่วมลงทุนก่อสร้างต่อไป

ทั้งนี้ กทม.มีแผนจะเสนอโครงการนี้ให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) บรรจุไว้ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือ M-MAP2 อีกด้วย หลังผลการศึกษาและอีไอเอแล้วเสร็จในปีนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาการจราจรฝั่งธนบุรี และเปิดพื้นที่การพัฒนาใหม่ ๆ ในเขตภาษีเจริญและเขตตลิ่งชันได้เป็นอย่างดี

เนื่องจากแนวเส้นทางของโครงการจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สาย 4 สี มีสายสีเขียว ช่วงถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินถึงบางหว้า, สายสีน้ำเงิน ช่วงท่าพระถึงบางแค, สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อถึงตลิ่งชัน และสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชันถึงดินแดง

โดยเฉพาะ “สถานีตลิ่งชัน” มีที่ว่างรอการพัฒนาอยู่ประมาณ 300 ไร่ จะสามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัยมารับกับรถไฟฟ้าสายต่าง ๆซึ่ง กทม.เตรียมจะปรับสีผังเมืองรวมบริเวณนี้ใหม่เป็นพื้นที่สีแดงและสีส้ม จากปัจจุบันเป็นพื้นที่สีเขียวลายขาวกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำและเกษตรกรรม แต่จากปัญหาอุปสรรคระหว่างทางกว่าโครงการจะฉลุย คนฝั่งธนฯคงต้องร้องเพลงรอกันอีกหลายปี