รถไฟความเร็วสูง “ดอนเมือง-อู่ตะเภา” ลงทุน3แสนล้าน สัมปทาน50ปี

ค่าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมอีอีซีบาน 3 หมื่นล้าน ร.ฟ.ท.ปรับแบบวิ่งเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ดึงเอกชนลงทุน 3 แสนล้านทั้งโครงการ รับสัมปทาน 50 ปี เพิ่มออปชั่นจูงใจได้สิทธิพัฒนาที่มักกะสัน 204 ไร่ พ่วงเชิงพาณิชย์รอบ 10 สถานี มีบริการ 2 ระบบ “City Line และรถด่วนพิเศษ” ใช้เวลาเดินทาง 1-2 ชั่วโมง ดีเดย์ พ.ย.ขายทีโออาร์

ตอกเข็มปลายปีหน้า เปิดใช้ปี”66 ผู้โดยสาร 169,500 เที่ยวคน/วัน

นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2560 ได้รายงานความก้าวหน้าต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถึงผลการศึกษาควบรวมโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ กับรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง ให้เป็นโครงการเดียวกัน มีผู้เดินรถรายเดียวกัน เพื่อเชื่อมการเดินทาง 3 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา อย่างไร้รอยต่อ

ผลสรุปการศึกษาโครงการจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร เป็นระบบรถไฟความเร็วสูง แบ่ง 2 ช่วง คือ พญาไท-ดอนเมืองและลาดกระบัง-ระยอง พร้อมทางรถไฟเชื่อมเข้าออกสนามบิน รวมระยะทาง 260 กม. มี 10 สถานี ได้แก่ ดอนเมือง บางซื่อ มักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา และระยอง

โดยการเดินรถช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. ช่วงลาดกระบัง-ระยอง ความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. ระยะเวลาเดินทางหากจอดทุกสถานีจากดอนเมือง-ระยอง ประมาณ 2 ชม. ส่วนขบวนรถด่วนพิเศษจากดอนเมือง-อู่ตะเภา ประมาณ 1 ชม. อัตราค่าโดยสาร City Line เริ่มต้น 13 บาท คิดเพิ่ม 2 บาท/กม. ขณะที่รถไฟความเร็วสูง เริ่มต้น 20 บาท คิดเพิ่ม 1.8 บาท/กม.

รูปแบบจะเป็นทางยกระดับสองทางวิ่ง มีอุโมงค์ทางคู่ 3 ช่วง ได้แก่ บริเวณ ถ.พระราม 6-ถ.ระนอง 1, เข้าออกสถานีสุวรรณภูมิ, ผ่านเขาชีจรรย์และเข้าออกสถานีอู่ตะเภา มีศูนย์ซ่อมบำรุงเดิมที่คลองตัน รองรับรถไฟ City Line และศูนย์ซ่อมบำรุงใหม่ที่ฉะเชิงเทรา 400 ไร่ รองรับรถไฟความเร็วสูง

“จะให้เอกชนลงทุน รูปแบบ PPP Net Cost เป็นระยะเวลา 50 ปี วงเงินกว่า 308,000 ล้านบาท ทั้งงานโยธาและระบบรถไฟฟ้า วงเงิน 226,000 ล้านบาท และได้สิทธิพัฒนาพื้นที่สถานีมักกะสัน 204 ไร่ ให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกรุงเทพฯกับอีอีซี หรือการเป็น “EEC Gateway” รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง วงเงิน 82,000 ล้านบาท เป็นการจูงใจเอกชนมาลงทุน ซี่งโครงการมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 12.8% และทางการเงิน 2.4%”

ทั้งนี้เงินลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับแบบก่อสร้างให้สามารถวิ่งเข้าสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอู่ตะเภา รวมถึงปรับปรุงรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์เดิมให้รองรับรถไฟความเร็วสูงได้ด้วย คาดว่าจะเริ่มประกาศขายทีโออาร์ประมาณเดือน พ.ย.นี้ จะได้เอกชนผู้ลงทุนและเริ่มงานก่อสร้างได้ช่วงปลายปี 2561 แล้วเสร็จเปิดบริการกลางปี 2566 คาดว่ามีผู้โดยสารอยู่ที่ 169,550 เที่ยวคนต่อวัน