6 ปีสายสีแดง งบฯบานไม่หยุด ขอเพิ่มอีก 3 พันล้านลุ้นเปิดปี”64

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

ปัญหาเก่ายังไม่ทุเลาเบาบาง กำลังมีปัญหาใหม่โผล่ขึ้นมาชวนให้ “รัฐบาลทหาร” ปวดหัวกันอีกแล้วสำหรับรถไฟฟ้าสายมาราธอนสายสีแดงช่วง “บางซื่อ-รังสิต” ระยะทาง 26 กม.ที่ใช้เม็ดเงินลงทุน 93,950 ล้านบาท ซึ่งกว่าโครงการจะเคาะวงเงินสุดท้ายก็ขยายกรอบวงเงินมาถึง 4 รอบ จากเดิมอยู่ที่ 59,888 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง มีการแก้ปัญหาระหว่างทางอยู่ทุกวัน เพราะเป็นการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ที่ผ่านมามีแก้ปัญหาใหญ่ไปหมดแล้ว เช่น การรื้อย้าย การจัดหาขบวนรถที่ทางซัพพลายเออร์จากญี่ปุ่นรับปากจะส่งมอบขบวนแรกให้ในเดือน ส.ค. 2562 ขณะนี้ยังมีเรื่องการขอใช้พื้นที่กับกรมทางหลวงเพื่อก่อสร้างทางเดินเชื่อมสถานี หรือ sky walk จำนวน 12 แห่ง

“ปัจจุบันงานก่อสร้างในภาพรวมมีความคืบหน้ากว่า 60% นับจากเริ่มงานก่อสร้างเมื่อเดือน ก.พ. 2556 ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่การเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ จะเลื่อนจากกำหนดการเดิมกลางปี 2563 เป็นต้นปี 2564 เพราะรถขบวนสุดท้ายที่ญี่ปุ่นจะส่งมอบให้ในเดือน มิ.ย. 2563 จะต้องทดสอบระบบอีกอย่างน้อย 6 เดือน” ขณะที่งานก่อสร้างทั้ง 3 สัญญา

แหล่งข่าวกล่าวว่า งานสัญญาที่ 1 งานสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง เริ่มงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2556 มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SU (บมจ.ซิโน-ไทยฯ และ บมจ.ยูนิคฯ) เป็นผู้ก่อสร้าง มีผลงานกว่า 65% ล่าช้าจากแผนงานอยู่ประมาณ 1% ตามสัญญาจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2562

สัญญาที่ 2 งานโครงสร้างทางวิ่งยกระดับและระดับพื้น งานสถานี 8 แห่ง และถนนเลียบทางรถไฟและถนนทางข้ามไซต์ก่อสร้างของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หลังเริ่มงานตอกเข็มเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2556 ปัจจุบันคืบหน้า 99.99% ยังล่าช้าเนื่องจากติดการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง sky walk ปัจจุบันสัญญาหมดไปเมื่อเดือน พ.ค. 2561 ล่าสุด บริษัทจะขอขยายใหม่ไปอีก 1 ปี ถึงเดือน ก.ย. 2562

และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้า เครื่องกล และจัดหาตู้รถไฟฟ้า ซึ่งมีกลุ่มมิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-สุมิโตโม จากประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ดำเนินการ โดยได้เริ่มงานเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2559 ล่าสุด มีความคืบหน้า 25% ยังล่าช้าจากแผน 25% ตามสัญญาจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2563 ยังไม่รู้ว่าจะมีการขยายเวลาออกไปหรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มหรือไม่ เนื่องจากเพิ่งเริ่มงาน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ผลจากการที่งานก่อสร้างล่าช้า จนผู้รับเหมาขอขยายเวลา ในส่วนของสัญญาที่ 1 และ 2 ทำให้มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่ง ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างรวบรวมรายละเอียดเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.พิจารณา เพื่อขอขยายกรอบวงเงินไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.)

โดยจะรวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใหม่ของสัญญาที่ 1 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท จากการที่มีการรื้อสิ่งปลูกสร้างของ ร.ฟ.ท.ออกจากพื้นที่และปลูกสร้างขึ้นใหม่ขึ้นมาแทน เช่น ย้ายตึกบริการสินค้า เนื่องจากเป็นงานที่ไม่ได้อยู่ในการดำเนินการตั้งแต่แรก ขณะนี้อยู่ระหว่างให้บริษัทที่ปรึกษาจัดทำรายละเอียด