รีวิว 4 ปี ไฮสปีดเทรนไทย-จีน ลงเข็ม 3.5 กม.เร่งประมูล 11 กม.ส่งท้ายปี

วันที่ 19 ธ.ค. 2561 ที่จะถึงนี้ จะครบ 4 ปีนับวันที่ 19 ธ.ค. 2557 ที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยนำร่องช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,412 ล้านบาท

นับเป็น 4 ปีที่ต้องเคลียร์ปัญหาอุปสรรคเพื่อให้โครงการได้เดินหน้าต่อ ทั้งรูปแบบการลงทุนที่สุดท้ายรัฐบาลไทยต้องประกาศจะเป็นผู้ลงทุนโครงการเองทั้งหมด หลังเปิดโต๊ะเจรจาจีนเมื่อปี 2558 อยู่หลายครั้งแล้วไม่ลงตัวโดยจ้างจีนเป็นผู้ก่อสร้างและไม่มีการให้สัมปทานหรือร่วมทุนใดกับประเทศจีน

รวมทั้งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานจากรถไฟความเร็วปานกลางเป็นรถไฟความเร็วสูงที่ 250 กม./ชม. โดยฝ่ายจีนได้ดำเนินการปรับปรุงการออกแบบใหม่ใช้เวลาอยู่หลายเดือนกว่าจะคลอดแบบก่อสร้างเฟสแรกสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. เป็นงานถมคันทาง โดยกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการ วงเงิน 425 ล้านบาท เริ่มงานเมื่อเดือน ธ.ค. 2560

ขณะนี้ยังต้องลุ้นจะแล้วเสร็จตามแผนงานในเดือน ต.ค.นี้หรือไม่ ในเมื่อผลงานคืบหน้ากว่า 50% และยังล่าช้าจากแผน

ขณะที่งานก่อสร้างส่วนที่เหลือ 13 สัญญา ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ออกประกาศทีโออาร์งานสัญญาที่ 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. ปรับลดวงเงินจากกรอบเดิม 5,300.17 ล้านบาท เหลือ 3,350.47 ล้านบาท

เนื้องานเป็นการก่อสร้างทางรถไฟ ระยะทาง 11 กม. แบ่งเป็นคันทางรถไฟระดับดิน 7 กม. โครงสร้างทางรถไฟยกระดับ 4 กม. ศูนย์ซ่อมบำรุงทาง 1 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ควบคุมการเดินรถ หอพัก ที่ล้างรถ และงานระบายน้ำ งานรื้อย้ายราง ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ และงานอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับโครงการ

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สัญญาที่ 2 เปิดประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อีบิดดิ้ง) จะประกาศรับฟังข้อคิดเห็นทีโออาร์ถึงวันที่ 4 ต.ค.นี้ หากไม่มีการปรับแก้ไข คาดว่าจะเปิดประมูลภายในเดือน พ.ย.นี้ และได้ผู้รับเหมาก่อสร้างในเดือน ม.ค. 2562

อีก 12 สัญญาที่เหลือ คิดเป็นวงเงินกว่า 1.1 แสนล้านบาท จะทยอยเปิดประมูลให้หมดภายในเดือน ต.ค. 2562 เนื่องจากต้องรอให้ฝ่ายจีนส่งแบบรายละเอียดมาให้พิจารณาเพื่อกำหนดราคากลางถึงจะเปิดประมูลได้ คาดว่าจะมีวงเงินก่อสร้างสัญญาละประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท ได้แก่ สัญญา 3 ช่วงแก่งคอย-บันไดม้า ระยะทาง 32 กม. สัญญา 4 ช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคอง ระยะทาง 11.7 กม. สัญญาที่ 5 ช่วงบันไดม้าลำตะคอง ระยะทาง 24.8 กม. สัญญาที่ 6 ช่วงลำตะคอง-โคกกรวด ระยะทาง 37.6 กม. สัญญาที่ 7 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 13.7 กม.

สัญญาที่ 8 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองระยะทาง 11 กม. สัญญาที่ 9 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 22.6 กม. สัญญาที่ 10 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. สัญญาที่ 11 ช่วงเชียงรากน้อย เป็นงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง (เดโป้)

สัญญาที่ 12 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 14.4 กม. สัญญาที่ 13 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 30.5 กม. และสัญญาที่ 14 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 13 กม. โดยจะมีงานก่อสร้างอุโมงค์ 2 แห่งช่วงมาบกะเบากับลำตะคอง

ถึง “ร.ฟ.ท.” จะเร่งเคลียร์งานออกมาประมูลให้เสร็จทั้งโครงการภายในปีหน้า แต่ปัญหาการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างและรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคโดยเฉพาะท่อก๊าซ ปตท.ที่อยู่ในแนวเส้นทางก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ ร.ฟ.ท.จะต้องเร่งเคลียร์เพื่อส่งมอบให้กับผู้รับเหมา

จนถึงขณะนี้ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินยังไม่ได้ฤกษ์เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ ซึ่งทั้งโครงการเวนคืนที่ดิน 2,815 ไร่ วงเงิน 13,096 ล้านบาท

จากหลาย ๆ โครงการที่ “ร.ฟ.ท.” ดำเนินการมา หากไม่รีบดำเนินการโดยเร็ว สถานะของโครงการจะตกอยู่ในสภาวะใด และใช้เวลากี่ปีกว่าจะแล้วเสร็จ จะยังเปิดใช้ทันตามไทม์ไลน์ที่กำหนดในปี 2566 หรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องตามอย่างยิ่ง