ลงพื้นที่เวนคืน 4 จังหวัดเหนือ สร้างรถไฟทางคู่สายมาราธอน เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

นับจากปี 2503 ถึงปี 2562 เข้าสู่ปีที่ 59 ที่โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” ที่ได้ยินชื่อกันมานานจะได้มีการลงเสาเข็มอย่างจริงจัง

หลังจาก “ครม.-คณะรัฐมนตรี” อนุมัติให้ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” เปิดประมูลก่อสร้างเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ล่าสุด “ร.ฟ.ท.” กำลังจ้างที่ปรึกษาสำรวจพื้นที่ที่จะเวนคืน เพื่อตรวจสอบจำนวนผู้ที่จะถูกเวนคืนจะตรงกับที่เคยศึกษาไว้หรือไม่ ก่อนจะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน

ที่สำคัญ เป็นการปรับปรุงข้อมูลให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ไม่ให้ซ้ำรอยมอเตอร์เวย์สาย “บางใหญ่-กาญจนบุรี” ที่ติดหล่มค่าเวนคืนพุ่งพรวดจาก 5,420 ล้านบาท ทะลุ 14,000 ล้านบาท จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ฉุดการก่อสร้างล่าช้าจากแผนร่วมปี

ในการประชุม “ครม.สัญจร” ที่ จ.เชียงราย เมื่อปลายเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ย้ำหนักแน่น รถไฟทางคู่สายนี้จะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 ส่วนจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ ยังต้องลุ้น

สำหรับรายละเอียดของโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีระยะทาง 323 กม. ใช้เงินลงทุน 85,345 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 72,927 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 1,764 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 10,660 ล้านบาท ซึ่งค่าเวนคืนเพิ่มขึ้นจากที่ประเมินไว้เมื่อปี 2554 ประมาณ 6,852 ล้านบาท ตามแผนจะใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี ซึ่ง ร.ฟ.ท.ตั้งเป้าจะเริ่มสร้างในปี 2562 เสร็จปี 2565 แต่ดูแนวโน้มแล้ว ฤกษ์ตอกเข็มคงจะขยับไปเป็นปี 2563 แล้วเสร็จในปี 2566 เพราะจนถึงขณะนี้ พ.ร.ฎ.เวนคืนก็ยังไม่ประกาศ การเปิดประมูลก็ยังไม่ได้เริ่มตั้งไข่ เพราะเป็นรถไฟที่ต้องเปิดพื้นที่สร้างใหม่ อาจจะใช้เวลาดำเนินการค่อนข้างนาน จึงทำให้ไทม์ไลน์อาจจะขยับออกไปอีก

ทั้งนี้ ในผลการศึกษาจะมีเวนคืน 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย โดยแนวเส้นทางจะเริ่มต้นที่สถานีเด่นชัย จ.แพร่ มุ่งไปทางทิศเหนือ ผ่าน จ.ลำปาง พะเยา และเชียงราย สิ้นสุดที่ด่านพรมแดนเชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งพื้นที่เวนคืนจะมีเขตทางกว้าง 50 เมตร มีทั้งหมด 7,292 แปลง และที่ดิน 9,661 ไร่

ได้แก่ จ.แพร่ มี อ.เด่นชัย 2 ตำบล ที่ ต.เด่นชัย ต.ปงป่าหวาย, อ.สูงเม่น 6 ตำบล มี ต.น้ำชำ ต.สูงเม่น ต.พระหลวง ต.สบสาย ต.ดอนมูล ต.ร่องกาศ, อ.เมืองแพร่ มี 7 ตำบล มี ต.นาจักร ต.กาญจนา ต.เหมืองหม้อ ต.ทุ่งกวาว ต.ทุ่งโฮ้ง ต.แม่หล่าย ต.แม่คำมี, อ.สอง มี ต.หัวเมือง ต.แดนชุมพล ต.ทุ่งน้าว ต.ห้วยหม้าย ต.บ้านหนุน ต.บ้านกลาง, อ.หนองม่วงไข่ มี ต.หนองม่วงไข่, จ.ลำปาง อ.งาว มี 7 ตำบล มี ต.แม่ตีบ ต.หลวงใต้ ต.บ้านแหง ต.หลวงเหนือ ต.นาแก ต.ปงเตา และ ต.บ้านร้อง,จ.พะเยา มี อ.เมืองพะเยา มี 4 ตำบล คือ ต.แม่กา ต.จำป่าหวาย ต.แม่ต๋ำ และ ต.ท่าวังทอง, อ.ดอกคำใต้ มี 2 ตำบล คือ ต.ดอกคำใต้ ต.ห้วยลาน, อ.ภูกามยาว มี 3 ตำบล คือ ต.แม่อิง ต.ดงเจน ต.ห้วยแก้ว และ จ.เชียงราย อ.ป่าแดด มี 4 ตำบล คือ ต.สันมะค่า ต.ป่าแดด ต.โรงช้าง และ ต.ป่าแงะ, อ.เทิง ที่ ต.เชียงเคียน, อ.เมืองเชียงราย มี 4 ตำบล คือ ต.ดอยลาน ต.ห้วยสัก ต.ท่าสาย และ ต.รอบเวียง, อ.เวียงชัย มี 3 ตำบล คือ ต.เวียงชัย ต.เวียงเหนือ ต.เมืองชุม, อ.เวียงเชียงรุ้ง มี 2 ตำบล ที่ ต.ทุ่งก่อ ต.ป่าซาง, อ.ดอยหลวง ที่ ต.โชคชัย และ อ.เชียงของ มี 4 ตำบล คือ ต.ห้วยซ้อ ต.ศรีดอนชัย ต.สถาน ต.เวียง

ตลอดเส้นทางมี 26 สถานี ลานขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง ลานกองเก็บตู้สินค้า 1 แห่ง ก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ 4 อุโมงค์ ก่อสร้างถนนยกข้ามทางรถไฟ 40 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ 102 แห่ง

ขณะที่การเปิดประมูล ก่อนหน้านี้ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นจะแบ่งสัญญาก่อสร้างออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. วงเงิน 26,704 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. วงเงิน 28,735 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. เงินลงทุน 17,482 ล้านบาท โดยงานโยธาจะประกวดราคารูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) และรูปแบบนานาชาติ (international bidding) สำหรับงานระบบอาณัติสัญญาณ อาจจะต้องแยกประมูลต่างหาก

เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะรองรับการเดินทาง การค้าชายแดน การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ภาคเหนือตอนบน รวมถึงรองรับศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ เชื่อมการค้าระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้จากประเทศไทย ไปยัง สปป.ลาว เมียนมา และจีนตอนใต้


ที่สำคัญ จะช่วยบูตเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงรายที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้แจ้งเกิดได้เร็วขึ้น