ร.ฟ.ท.ลุยไฮสปีด 4 สาย ยืดสายใต้ “กทม.-หัวหิน ถึงสุราษฎร์” งบพุ่ง 3 แสนล.

ร.ฟ.ท.อัพเดตไฮสปีด 4 สาย มูลค่า 8.7 แสนล้าน “สายเจ้าสัว ซี.พี.” รอเคาะ EIA ครั้งสุดท้าย 24 มิ.ย.นี้ เทกระจาดประมูลเฟสแรกรถไฟไทย-จีนให้จบปีนี้ ฟากญี่ปุ่นยังชั่งใจลงทุนสายเหนือ กทม.-พิษณุโลก ยืดสายใต้ กทม.-หัวหินถึง “สุราษฎร์ธานี” งบฯบาน 2-3 แสนล้าน

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างเร่งรัดแผนการลงทุนรถไฟความเร็วสูง จำนวน 4 เส้นทาง วงเงินกว่า 8.7 แสนล้านบาท โดยรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท หลังคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (คชก.) เห็นชอบรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) วันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา รอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานอนุมัติวันที่ 24 มิ.ย.นี้

“หลังบอร์ดอีไอเอเห็นชอบแล้วภายในเดือน มิ.ย.นี้ จะพยายามลงนามในสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่ม ซี.พี.ในฐานะเอกชนผู้ได้รับการคัดเลือก ทั้งนี้ ต้องดูแผนการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างซึ่งต้องพิจารณาร่วมกับกลุ่ม ซี.พี.ก่อน เพื่อให้แผนการก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่มีความสอดคล้องกันอย่างน้อย 90% คาดว่าไม่เกินวันที่ 14 มิ.ย.นี้จะรวบรวมข้อมูลได้ครบถ้วน”

นายวรวุฒิยังกล่าวถึงความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ยังเหลืออีก 7 สัญญา ได้แก่ 1.อุโมงค์มวกเหล็ก-ลำตะคอง 2.บันไดม้า-ลำตะคอง 3.โคกกรวด-นครราชสีมา 4.บางซื่อ-ดอนเมือง 5.งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 6.บ้านโพ-พระแก้ว และ 7.สระบุรี-แก่งคอย รวมมูลค่าทุกสัญญาประมาณ 70,000 ล้านบาท ภายในเดือน ก.ค.นี้จะเร่งให้ออกประกวดราคาให้ได้ 6 สัญญา อีก 1 สัญญาช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง รอเจรจาพื้นที่ทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งภายในปีนี้จะประมูลได้ครบทุกสัญญา ขณะที่รถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่นช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลกยังอยู่ระหว่างเจรจากับญี่ปุ่นเพื่อร่วมลงทุนโครงการ

ขณะที่รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. เงินลงทุน 95,000 ล้านบาท ตามที่รัฐบาลสั่งให้ศึกษาแนวเส้นทางให้ต่อขยายลงไปถึง จ.สุราษฎร์ธานี ยังอยู่ระหว่างของบประมาณ 1,000 ล้านบาท จ้างบริษัทที่ปรึกษาสำรวจความเป็นไปได้ ออกแบบแนวเส้นทางและรูปแบบร่วมทุนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ 2562 จะใช้เวลา 18 เดือน

สำหรับมูลค่าโครงการจากเดิมระยะทาง 211 กม.อยู่ที่ประมาณ 100,000 ล้านบาท เมื่อมีระยะทางยาวขึ้นเป็น 600 กม.จะทำให้ค่าก่อสร้างต้องเพิ่มจากเดิมอย่างน้อย 2-3 เท่า หรือจะอยู่ประมาณ 200,000-300,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ไม่เคยมี และเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงมีราคาแพง ซึ่งการก่อสร้างอาจจะแบ่งเป็นเฟสคล้ายกับรถไฟไทย-จีน