“บอร์ดอีอีซี” ยืนยันไม่แก้สัญญาไฮสปีดซี.พี.-ทุกอย่างจบแล้ว รอแผนส่งมอบที่ดิน3เฟส

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) แถลงผลการประชุม กพอ.ครั้งที่ 10/2562 ว่า “มติที่ประชุมไม่มีการแก้ไขสัญญาใดๆ เพราะสัญญาโครงการนี้ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จบไปแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความใดๆ ในสัญญา และได้เห็นชอบแผนการส่งมอบพื้นที่ เพื่อให้การทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมาย ตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน”

นายคณิศกล่าวด้วยว่า จากนี้คณะกรรมการคัดเลือกจะนำมติว่าด้วยแผนการส่งมอบพื้นที่ การรื้อย้ายสิ่งก่อสร้าง สาธารณูปโภค รวมทั้งงบประมาณของทั้งฝ่ายราชการและฝ่ายเอกชน ไปประกอบเอกสารแนบท้ายการลงนามในสัญญา

โดยสรุปแผนการส่งมอบพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ “ส่วนแรกช่วงพญาไท – สุวรรณภูมิ ระยะทาง 28 กม. หรือโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงค์เดิม พร้อมส่งมอบทันทีเมื่อกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เอกชนที่เสนอให้รัฐอุดหนุนน้อยที่สุด 117,227 ล้านบาท จ่ายค่าสิทธิ์การเดินจำนวน 10,671 ล้านบาท

ส่วนที่ 2 ช่วงสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. จะเร่งรัดส่งมอบพื้นที่ให้ได้ภายใน 1 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 2 ปีนับแต่ลงนาม และส่วนที่ 3 ช่วงพญาไท – ดอนเมือง ระยะทาง 22 กม. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาอุปสรรคการส่งมอบพื้นที่มากที่สุด จะเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ให้ได้ภายใน 2 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 4 ปีหลังลงนาม

โดยการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค มี 5 รายการสำคัญที่ต้องทำ ได้แก่ แก้จุดตัดเสาไฟแรงสูง 230 จุด, ย้ายอุโมงค์ระบายของกรุงเทพมหานคร (กทม) 1 จุด, ย้ายท่อน้ำมัน ของ บจ. ขนส่งน้ำมันทางท่อ (FPT) ความยาว 4 กม., นำเสาไฟฟ้าลงใต้ดิน ความยาว 450 ม. และย้ายเสาโทรเลขของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นแนวยาว 80 กม.

“การขยายเวลาส่งมอบพื้นที่ มีเงื่อนไขกำหนดให้ทำได้อยู่แล้ว ยืนยันจะไม่ทำให้ต้นทุนเอกชนเพิ่มและเป็นช่องที่ทำให้เกิดการฟ้องร้องแน่นอน เงื่อนไขตามทีโออาร์กำหนดชัดเจนอยู่แล้วว่ามีความเสี่ยงเรื่องอะไรบ้าง แต่เรื่องส่งมอบพื้นที่เป็นเรื่องในรายละเอียดในส่วนสัญญาแนบท้ายก็ต้องคุยกัน” นายคณิศกล่าวและว่า

ส่วนงบประมาณที่จะดำเนินการ เดิมกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคทำเอง แต่เนื่องจากมีความเร่งด่วนของโครงการจึงต้องมีการของบเสริมร่วมด้วย แต่มีกรอบตัวเลขแล้ว และไม่ใช่เงินจำนวนที่เยอะ สำนักงบประมาณ จะพิจารณาก่อนว่าจะใช้งบดำเนินการของรัฐวิสาหกิจหรืองบประมาณปกติ คาดว่าจะสรุปได้ในเดือน พ.ย.นี้ และในท้ายที่สุดจะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบด้วย

“ตอนนี้ ปตท. กับ กฟผ. ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ ยืนยันกลับมาว่ามีงบดำเนินการเอง แต่ของ กฟน.มีสายไฟแรงสูงบริเวณดอนเมือง ที่ขอให้อีอีซีจ่ายค่าดำเนินการให้ได้หรือไม่ เพราะเคยย้ายหลบสายสีแดงไปแล้วรอบหนึ่ง ใช้งบ 220 ล้านบาท” นายคณิศกล่าว

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่า ร.ฟ.ท.ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือก กล่าวว่า การส่งมอบพื้นที่ยังครอบคลุมตามเดิม แต่ขอแก้ไขเรื่องความพร้อม 72% เพราะการส่งมอบ 72% ต้องดูก่อนว่ากลุ่ม CPH ในฐานะคู่สัญญาดำเนินการใดๆ ตามทีโออาร์ได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็จะเกิดการขัดแย้งขึ้นต่อไป เพราะถ้าทำแบบเดิมตามทีโออาร์อาจจะทำให้โครงการก่อสร้างไม่ต่อเนื่อง เช่น ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างได้ในช่วง กม.ที่ 1-7 แต่เว้น กม.ที่ 8 แล้วกระโดดไป กม.ที่ 9 ก็ทำให้การก่อสร้างมีปัญหา จึงเปลี่ยนใหม่ แยกเป็นส่วนๆ ตามข้างต้นแทน

ส่วนกลุ่ม CPH จะบอกเลิกสัญญากรณีส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ตามเวลานั้น ต้องดูก่อนว่าการส่งมอบไม่ทันมาจากสาเหตุอะไร เป็นปัจจัยที่ควบคุมได้หรือไม่ ถ้ามีเหตุให้ส่งมอบไม่ทันทั้งสองฝ่ายต้องมาคุยกันก่อน ไม่ใช่จะเลิกกันง่ายๆ

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงกรณีมีการปรับแก้สัญญาแนบท้ายกรณีส่งมอบพื้นที่ไม่ทันกรอบเวลา จะเปิดช่องให้รัฐจ่ายค่าชดเชยและบอกเลิกสัญญากับเอกชนได้นั้น นายวรวุฒิ กล่าวว่า ไม่มีซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังทำงานกันอยู่ ไมมีใครที่ตั้งใจจะเซ็นสัญญาแล้วจะบอกเลิกสัญญาหรอก

สำหรับกำหนดจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาปี 2566-67 ช่วงสถานีพญาไท-ดอนเมืองปี 2567-68 แต่หากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามกำหนด ก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะสามารถขยายเวลาให้เอกชนทำงานต่อไปได้ และจะไม่มีการชดเชย เนื่องจากว่าเอกชนรับทราบเงื่อนไขในการลงทุนแล้วว่าจะต้องแบกรับต้นทุนบวกความเสี่ยงทั้งหมดแล้ว

สำหรับงบการรื้อย้ายสาธารณูปโภค 8 หน่วยงาน เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวงที่ต้องการทำรื้อสายไฟ ซึ่งทั้งหมดได้เตรียมงบประมาณไว้ โดยงบดังกล่าวจะกระจายให้ 8 หน่วยงานเพื่อใช้ในการรื้อย้าย

ส่วนบางกรณีสำหรับบางหน่วยงานอาจจำเป็นต้องใช้งบประมาณของตัวเอง เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ต้องมีการรื้อแนวท่อก๊าซ/แนวท่อน้ำมันใต้ดิน

ส่วน กฟน. รัฐต้องใช้งประมาณจ่ายให้ทั้งหมด เพราะก่อนหน้านี้ กฟน.เคยรื้อย้ายสายไฟเพื่อหลีกเลี่ยงดโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงให้แล้วเป็นงบประมาณที่สูงมาก ดังนั้นครั้งนี้รัฐจำเป็นต้องสนับสนุนค่าใช้จ่าย

คลิกอ่านข่าว >>> “อนุทิน” เผย “ศุภชัย” นายใหญ่ซี.พี. เข้าพบหารือก่อนเซ็นสัญญาไฮสปีด