เจน 2 “ซีวิลเอนจีเนียริง” ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ปักหมุด “เมกะโปรเจ็กต์” 2 หมื่นล้าน

สัมภาษณ์

คร่ำหวอดในธุรกิจรับเหมามาร่วม 50 ปี วันนี้ “บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด” จากผู้รับเหมางานถนน กลายเป็นม้ามืดกำลังฉายแสงในสนามประมูลงานเมกะโปรเจ็กต์

หลังคว้างานมอเตอร์เวย์ “บางปะอิน-โคราช” 4 สัญญารวด มูลค่า 4,500 ล้านบาท เมื่อปี 2562 ยังได้จารึกชื่อเป็นผู้รับเหมาไทยรายแรกคว้างานก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา สัญญาที่ 2-1 งานก่อสร้างคันทางระดับดิน ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 3,300 ล้านบาท

แม้จะเป็นงานที่ไม่มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านเหมือนพี่ใหญ่ในวงการ แต่ทั้งชื่อและผลงานของ “ซีวิลเอนจีเนียริง” ก็เป็นที่ประจักษ์ไม่ด้อยไปกว่าใคร ภายใต้การกุมบังเหียนของเจเนอเรชั่นที่ 2 มี “ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข” นั่งเป็นซีอีโอ

งานหินมอเตอร์เวย์-ไฮสปีด

“ปิยะดิษฐ์” เล่าถึงผลงานที่ภาคภูมิใจโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมาทั้ง 4 สัญญา ว่าได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบให้กรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการแล้ว 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 29 ช่วง กม.131+335-132+995 ขนาด 4 เลน ระยะทาง 1.62 กม. วงเงิน 1,483 ล้านบาท สัญญาที่ 30 ช่วง กม.132+995-135+150 (ช่วงลำตะคอง) ขนาด 4 เลน ระยะทาง 2.195 กม. วงเงิน 1,588 ล้านบาท เป็นช่วงที่ภาคภูมิใจที่สุดเพราะสามารถก่อสร้างและส่งมอบงานได้ก่อนกำหนดสิ้นสุดสัญญาถึง 9 เดือน และสัญญาที่ 31 ช่วง กม.135+150-136+920 ขนาด 4 เลน ระยะทาง 1.77 กม. วงเงิน 1,472 ล้านบาท

ขณะนี้เหลืออีก 1 สัญญาเท่านั้นที่ยังค้างอยู่ คือ สัญญาที่ 16 ช่วง กม.70+085-71+259 ขนาด 4 เลน ระยะทาง 0.996 กม. วงเงิน 960 ล้านบาท มีความคืบหน้ารวม 80% เนื่องจากต้องย้ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ใกล้กับโรงปูนอินทรี แถว อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ออกไปก่อน อีกทั้งมีพื้นที่ก่อสร้างบางส่วนล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าไม้ของกรมป่าไม้ ทางกรมทางหลวงได้ประสานงานกับกรมป่าไม้หารือจนได้ข้อยุติแล้ว คาดว่าเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้จะสร้างเสร็จ

ส่วนโครงการรถไฟไทย-จีน สัญญา 2-1 ที่ประมูลได้เมื่อปีที่แล้ว มีความคืบหน้า 10% เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ส่งมอบพื้นที่ล่าช้าเพิ่งจะส่งมอบได้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อยู่ระหว่างขอขยายระยะเวลาสัญญาออกไป เพราะสัญญาก่อสร้างจะสิ้นสุดปลายปี 2563 นี้ ส่วนจะขยายเวลาไปถึงเมื่อไหร่ยังตอบไม่ได้

เร่งรัดประมูลงานใหม่

ขณะที่แนวโน้มการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ ปี 2563 นี้ “ปิยะดิษฐ์” บอกว่า ยังบอกไม่ได้ ยังต้องรอดูนโยบายรัฐในหลาย ๆ ส่วน เช่น การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือนโยบายการลงทุนของหน่วยงานต่าง ๆ ก่อน ตอนนี้บริษัทสนใจทุกงาน ทั้งรถไฟไม่ว่ารถไฟทางคู่หรือรถไฟความเร็วสูง สนามบิน การสร้างทางของกรมทางหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมชลประทาน

หวังว่ารัฐบาลจะกระตุ้นให้งานที่รอลงทุนต่าง ๆ ทยอยออกมาเปิดประมูลให้ได้ภายในปีนี้ อีกทั้งปัจจัยด้านงบประมาณที่ยังไม่มีการเบิกใช้ ก็ทำให้งานที่บริษัทรอประมูลต้องล่าช้าออกไป ทำให้การเบิกจ่ายเพื่อดำเนินการก่อสร้างในส่วนงานที่ได้รับมอบมาแล้วล่าช้าออกไป เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ จ.นครศรีธรรมราช วงเงิน 500 ล้านบาท ที่ยังติดค่าเวนคืนที่ดินของชาวบ้าน ซึ่งรอเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2563 ก็ล่าช้าออกไปด้วย

สนประมูลงานเอกชน

ขณะเดียวกัน “ซีวิลเอนจีเนียริง” ไม่ได้ปิดกั้นรับเฉพาะโครงการของรัฐ แต่ได้ให้ความสนใจกับโครงการใหญ่จากฟากเอกชนด้วย เนื่องจากมีการประเมินความเสี่ยงงานของภาครัฐ แม้จะมีการลงทุน แต่ก็เกิดการชะลอ ไม่รู้จะชะลอไปถึงเมื่อไหร่ ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ทราบมาว่าโครงการ One Bangkok ของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี กำลังหาผู้รับจ้างก่อสร้างทางลอดของโครงการบริเวณบ่อนไก่เชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 1 อยู่ระหว่างเสนอราคา หรือแม้แต่โครงการเดอะ ฟอเรสเทียส์ของ บจ.แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น เราก็ให้ความสนใจจะเข้าไปซัพพอร์ตงานเช่นกัน

“เรายังจะเข้าไปช่วยซัพพอร์ตเอกชนที่ประมูลโครงการใหญ่ของรัฐได้ในส่วนของการก่อสร้าง เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งซีวิลฯเป็นพันธมิตรกับ บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอปอร์เรชั่น (CRCC) เป็นหนึ่งในพันธมิตรของกลุ่ม ซี.พี.ที่ได้โครงการไป ทาง CRCC ได้มีการหารือในเรื่องนี้บ้างแล้ว แต่ต้องรอความชัดเจนในการแบ่งงานกับ ช.การช่าง และอิตาเลียนไทยฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมก่อน”

รอเซ็นงานใหม่ 1.6 หมื่นล้าน

ส่วนโครงการรอเซ็นสัญญาในปีนี้มี 2 โครงการ รวมมูลค่างาน 16,519 ล้านบาท คือ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. วงเงิน 10,421.014 ล้านบาท กับทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก สัญญาที่ 3 ช่วงทางยกระดับจากแยกต่างระดับจากโรงพยาบาลบางปะกอก-ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 6.5 กม. วงเงิน 6,098 ล้านบาท ทั้ง 2 งานอยู่ระหว่างการอนุมัติของคณะกรรมการ (บอร์ด) ของทั้ง 2 หน่วยงาน คาดว่าจะได้ลงนามในช่วงครึ่งปีแรก

“ขณะนี้บริษัทมียอดงานในมือ (backlog) ประมาณ 20,000 ล้านบาท คิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อปีที่ 4,000 ล้านบาท ส่วนตั้งเป้าจะตุน backlog เพิ่มไหมก็ยังตอบยาก แต่ซีวิลฯจะพยายามเน้นไปที่งานที่มีความถนัดคือรับเหมาก่อสร้าง”

จ่อเข้าตลาดในปี’63

“ปิยะดิษฐ์” กล่าวถึงรายได้ของบริษัท ว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมามีรายได้รวม 3,500 ล้านบาท ลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 ส่วนผลกำไรขาดทุนสุทธิยังอยู่ระหว่างปิดงบฯประจำปี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รายได้ลดลงมาจากรายได้การขายวัสดุก่อสร้างให้กับโครงการข้างเคียงหายไป เพราะได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจึงไม่มีวัสดุก่อสร้างขายต่อ และความล่าช้าจากขั้นตอนการทำงานก่อนเซ็นสัญญา ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสขึ้นกระทบกับรายได้ที่คาดการณ์ไว้เดิมลดลง รวมถึงสภาวะการแข่งขันในตลาดรับเหมาที่มีแนวโน้มการแข่งขันรุนแรงขึ้น ส่วนปี 2563 ตั้งเป้ารายได้ที่ 5,000 ล้านบาท

แม้รายได้จะลดลงไม่ส่งผลกับแผนนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯภายในปีนี้ เพราะเรามีแผนอยู่แล้ว บวกกับ backlog ที่มีอยู่ 20,000 ล้านบาท และเนื้องานแต่ละโครงการที่ได้มามีอายุเฉลี่ย 3 ปี จึงเชื่อได้ว่าในอนาคตประมาณ 1-2 ปีนี้รายได้จะเพิ่มจากระดับ 3,000-4,000 ล้านบาทไปแตะระดับ 6,000 ล้านบาท แต่ก็มีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณา เช่น การส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ถ้าไม่มีปัจจัยเหล่านี้แทรกซ้อนน่าจะได้เห็นรายได้ที่ 6,000 ล้านบาทแน่นอน

ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างยื่นคำขอออกและเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป (filing) กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายในเดือน มี.ค.นี้ โดยใช้ฐานรายได้ในปี 2562 ประกอบ หลังจากนั้น ก.ล.ต.จะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 6 เดือนจึงจะทราบว่าผ่านเกณฑ์ตามที่ ก.ล.ต.พิจารณาหรือไม่ เมื่อผ่านแล้วก็ต้องรอดูสภาวะตลาดที่เหมาะสมที่จะเข้าทำ IPO ตามขั้นตอน โดยมีระยะเวลาให้พิจารณาอีก 6 เดือน แต่ก็ไม่น่าห่วงเพราะบริษัทมี บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ให้

ส่วนตั้งเป้า IPO เท่าไหร่ ขอไม่เปิดเผย เดี๋ยวปืนลั่น (หัวเราะ)