ธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ MD รถไฟความเร็วสูงสายประวัติศาสตร์

หลังตั้งบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท และปิดดีลสัมปทาน 50 ปี กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เมื่อ 24 ต.ค. 2562

ล่าสุด กิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ประกอบด้วย CP, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น (CRCC), บมจ.ช.การช่าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ได้จัดทัพผู้บริหารคุมงานก่อสร้าง โดยมี “นางโปง หง” บอสใหญ่จากประเทศจีนเป็น CEO และ “ธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ” ลูกหม้อเครือ ซี.พี. เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่

“ธิติฏฐ์” จบ ป.ตรี วิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คร่ำหวอดในธุรกิจโทรคมนาคม เคยเป็นผู้บริหาร ฮัทชิสัน เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) ออกแบบซอฟต์แวร์เพจเจอร์ภาษาไทยคนแรกและเป็นผู้บริหารระดับสูงในกลุ่มทรูที่ได้รับความไว้วางใจจาก “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” และ “ศุภชัย เจียรวนนท์” จึงได้นั่งเก้าอี้ MD ไฮสปีดเทรนคนแรกของประเทศไทย

“งานสร้างรถไฟความเร็วสูงเป็นอะไรที่ใหม่ ท้าทายมาก รถไฟต้องแข่งบริการและปลอดภัย ผลประโยชน์ผู้โดยสารต้องมาก่อน ไม่อยากให้คุณศุภชัยผิดหวัง”

งานแรกหลังเซ็นสัญญาคือเร่งออกแบบก่อสร้างทั้งวันทั้งคืนเพื่อส่งมอบให้การรถไฟฯใน 3 เดือน รัฐจะได้เวนคืน รื้อย้ายสาธารณูปโภคตลอดแนว 220 กม. โชคดีที่ทำงานล่วงหน้า จึงส่งแบบก่อนกำหนดเมื่อ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา

หากรัฐส่งมอบพื้นที่ได้เร็ว ถ้าโชคดีเราจะวางศิลาฤกษ์ได้เร็วสุดปลายปีนี้ การสร้างรถไฟเรื่องพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ จะสร้างแบบฟันหลอไม่ได้ ต้องสร้างทีเดียวทั้งเส้น

“ทำงานร่วมกับการรถไฟฯมาตลอด ทั้งเวนคืน รื้อย้าย ยากสุดคือย้ายท่อน้ำมัน เราเห็นความเอาจริงเอาจังของรัฐ ท่านปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานคณะทำงาน เราทำร่วมกับส่วนราชการถึง 21 หน่วยงาน และรัฐวิสาหกิจทีโอที กับ CAT ตอนนี้ทุกหน่วยรู้แล้วต้องย้ายอะไร ใช้งบฯเท่าไหร่ แบบที่เราส่งไปเหลือเรื่องรื้อย้าย หากช่วยกันทำอีอีซีจะเกิดได้เร็ว ไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีรถไฟความเร็วสูง เป็นความภาคภูมิใจ”

ยกเครื่องแอร์พอร์ตลิงก์

การส่งมอบพื้นที่ส่วนแรกสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ 28 กม. เพื่อบริหารแอร์พอร์ตลิงก์เดิม การรถไฟฯพร้อมส่งมอบทันทีหลังจ่ายค่าใช้สิทธิเดินรถ 10,671 ล้านบาท บริษัทที่ปรึกษาและ FS (บจ.Ferrovie dello Stato Italiane) พันธมิตรจากอิตาลีมาช่วยด้านโอเปอเรต กำลังทำแผนงานโครงการจะเสร็จอีก 2-3 เดือน จากนั้นจะประเมินการใช้งบฯลงทุน โครงสร้างบุคลากร ส่วนหนึ่งจะรับโอนจากแอร์พอร์ตลิงก์ที่มีอยู่ 500 คน และรับเพิ่มบางส่วน

“ผมลองใช้บริการจากสถานีบ้านทับช้างมาที่มักกะสัน คิดว่าต้องพัฒนาหลายจุด ทั้งซื้อรถเพิ่ม ปรับปรุงระบบราง อาณัติสัญญาณเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงและสายที่ไปอีสานในอนาคตตามนโยบายของท่านประธานอาวุโส (เจ้าสัวธนินท์) และคุณศุภชัย ต้องเรียนรู้และทำให้ดีที่สุด”

ฟื้นเช็กอินสถานีมักกะสัน

พร้อมฟื้นระบบเช็กอินในเมืองหรือซิตี้เทอร์มินอล “สถานีมักกะสัน” เพื่อให้ผู้ใช้บริการไปสนามบินสุวรรณภูมิและอู่ตะเภาได้สะดวก ผู้โดยสารที่มาจากต่างประเทศก็เช็กอินกระเป๋าที่มักกะสันได้ด้วย โดยปรับปรุงทางเข้า-ออกสถานี งานก่อสร้างมีอิตาเลียนไทยฯและ CRCC ดำเนินการ 2 ช่วง เริ่มก่อนที่สถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 170 กม. จะส่งมอบใน 2 ปี รัฐขอให้เสร็จ 1 ปี 3 เดือน ตอนนี้กำลังสำรวจสภาพดินร่วมกับอิตาเลียนไทยฯ แม้ส่งแบบไปแล้วแต่แบบอาจเปลี่ยนได้อีกเพราะเป็นดีไซน์แอนด์บิลด์ เช่น เข้าสนามบินอู่ตะเภา แนวจะทำยังไงให้ผู้โดยสารได้ประโยชน์สูงสุด

อีกช่วงสถานีพญาไท-ดอนเมือง 22 กม. แผนส่งมอบ4 ปี แต่รัฐขอเร่ง 2 ปี 3 เดือน ถือเป็นช่วงที่ยากที่สุด เพราะต้องรื้อย้ายท่อน้ำมัน ท่อไซฟอนน้ำขนาดใหญ่ของ กทม. เสาตอม่อโฮปเวลล์ มีโค้งหักศอกช่วงพญาไท-สามเสน ต้องใช้พื้นที่เพิ่ม ไม่อยากเวนคืนมากกว่าที่รัฐกำหนดใน พ.ร.ฎ.เวนคืน ถ้ามีเปลี่ยนแปลงจะต้องทำรายงานสิ่งแวดล้อมใหม่ ต้องใช้ความเก่งของพันธมิตรและที่ปรึกษา

“งานนี้มี 4 เรื่องหลัก คือ ก่อสร้าง วางราง วางระบบอาณัติสัญญาณ และพัฒนาเชิงพาณิชย์ หรือ TOD เราให้พันธมิตรที่เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาช่วย งานก่อสร้าง วางรางมีอิตาเลียนไทยฯ และ CRCC ด้านโอเปอเรตมี FS ช่วยจัดการและเทรนนิ่งคนที่จะ transfer มา เพราะเราไม่มีประสบการณ์รถไฟความเร็วสูง ส่วนขบวนรถยังไม่ได้เลือก ของจีนก็เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ขี้เหร่ ส่วน ช.การช่างกับ BEM ยังไม่ได้คุยเชิงลึก”

TOD คีย์ซักเซสโครงการ

คีย์สำคัญที่จะทำให้โครงการมีกำไร อยู่ที่ TOD เหมือนต่างประเทศที่ทำสำเร็จ อาทิ โตเกียว โอซากา ปารีส-ลียอง เพราะเกิดชุมชน และเศรษฐกิจใหม่ในเส้นทางที่รถไฟผ่านเมืองขยายจากกรุงเทพฯไปฉะเชิงเทรา ชลบุรี พัทยา ศรีราชา และระยอง ถ้าโครงการแล้วเสร็จจะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้มาก ถ้าเชื่อมรถไฟความเร็วสูงสายอีสานได้อีก เราก็เชื่อม สปป.ลาว วิ่งไปจีนและยุโรปได้

“จะให้เกิดประโยชน์ต้องพัฒนา TOD ทุกสถานี เราจะเริ่มก่อน 2 สถานี คือ มักกะสัน 150 ไร่ ศรีราชา 25 ไร่ ทางที่ปรึกษาได้สำรวจพื้นที่มักกะสันแล้ว พร้อมวางแผนการพัฒนาในรูปแบบที่เป็นประโยชน์สูงสุดทั้งสังคมและโครงการ โดยความเป็นอยู่เดิมจะไม่ถูกเปลี่ยน”

โดยมีบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ช่วยออกแบบและพัฒนา คอนเซ็ปต์และรูปแบบการลงทุนยังไม่เสร็จ เชื่อว่าจะออกมาดี ส่วนศรีราชายังไม่ได้สำรวจ

ส่วนวิธีการเพิ่มปริมาณผู้โดยสารถือเป็นส่วนสำคัญเช่นกัน ซึ่งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ผู้โดยสารจะเป็นกลุ่มเดียวกับเมืองการบินอู่ตะเภา หากไม่ใช่เราเป็นผู้พัฒนาโครงการก็มีความเป็นไปได้ที่จะคุยกันรู้เรื่องและไม่รู้เรื่อง ในการเชื่อมโยงระหว่างสถานีกับสนามบิน

“ผมมองโลกในแง่ดีนะ ยังไงผู้โดยสารก็ต้องมาจากเรา เราก็ต้องพึ่งผู้โดยสารจากเขา ต่างคนต่างพึ่งพา เพราะคนที่ใช้สนามบินอู่ตะเภาต้องนั่งรถไฟความเร็วสูงเข้ากรุงเทพฯ จริง ๆ 2 โครงการนี้ต้องไปด้วยกัน”

เราถึงต้องเมกชัวร์ จะไปหวังน้ำบ่อหน้าไม่ได้ การลงทุนของ ซี.พี. ได้ศึกษารายละเอียดก่อนทุกครั้ง โดยนึกถึง 3 ประโยชน์ คือ ประชาชน ประเทศชาติ และตัวเรา