จบบริบูรณ์! การทาง-BEM เซ็นซูเปอร์ดีลสัมปทานทางด่วนนับ 1 มี.ค.นี้ ปิดฉากข้อพิพาท 25 ปี

ปิดฉากมหากาพย์สัมปทานทางด่วน 25 ปี “การทาง-BEM” ลงนามในสัญญาแล้ว มีผล 1 มี.ค.นี้ สิ้นสุด 31 ต.ค.78 เร่งหารืออัยการฯถอนคดีความ 17 คดี 21 ก.พ.นี้ เร่งสปีดให้ทันก่อนสัญญามีผล “สุรงค์”ยันทำด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ แจง”สุชาติ-วิชาญ”ลาออกเนื่องจากเหตุผลส่วนตัว ปัญหาสุขภาพ ด้าน BEM มั่นใจถอนคดีความทันทั้งหมด

เมื่อเวลา 17.20 น. ที่กระทรวงคมนาคม นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นประธานในการลงนามในสัญญา 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1. สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และ 2. สัญญาโครงการทางพิเศษอุดรรัถยา สายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข)

มีนายดำเกิง ปานขำ รองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการ ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ กทพ.เป็นผู้มีอำนาจลงนามฝ่ายกทพ. และ นายสุพงศ์ ชยุตสาหกิจ กรรมการบริหาร พร้อมด้วยนางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้มีอำนาจลงนามฝ่าย BEM โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายสุรงค์กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นการแก้ไขข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมาตลอด 25 ปี จึงขอชี้แจงกับสังคมว่า การเจรจาครั้งนี้เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและดำเนินการอย่างโปร่งใส มีตัวแทนจากหลายหน่วยงานมาร่วมเจรจา เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงานอัยการสูงสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ตามพ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 เป็นต้น มีสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งม.ธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกาาการเจรจา

พร้อมกันนี้กระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะทำงานที่มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วมพิจารณา มีสนข.เป็นผู้ตรวจสอบและวิเคราะห์ขั้นตอนเจรจาต่างๆ

“สัญญาทั้ง 2 ฉบับจะมีผลวันที่ 1 มี.ค.2563 นี้เป็นต้นไป และจะสิ้นสุดสัญญาพร้อมกันในวันที่ 31 ต.ค.2578”

หลังจากนี้ กทพ.และ BEM จะเดินทางไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อหารือในการทำเรื่องถอนฟ้องคดีความต่างๆที่มีร่วมกันทั้ง 17 คดีในวันที่ 21 ก.พ.2563 โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องใช้มติครม.วันที่ 18 ก.พ.2563 และสัญญาที่ลงนามร่วมกันในวันนี้ เป็นหลักฐานในการถอนฟ้อง ยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการให้ทันก่อนวันที่ 1 มี.ค.2563 นี้

สำหรับทั้ง 17 คดีข้อพิพาท แบ่งเป็น 1.คดีที่ศาลปกครองตัดสินมาแล้ว 4 คดี (กทพ.แพ้ 3 คดีด้านทางแข่ง และชนะ 1 คดีด้านอื่นๆ) 2. คดีที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินอีก 11 คดี และ 3. ข้อพิพาทที่ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยในชั้นอนุญาโตตุลาการและกทพ.แพ้ แต่ยังไปไม่ถึงศาลอีก 2 คดี เป็นคดีที่ BEM ฟ้อง 15 คดี และกทพ.ฟ้อง 2 คดี

ส่วนประเด็นที่ขอชี้แจง เช่น ทำไมมูลค่าข้อพิพาทถึงหยุดที่ 58,873 ล้านบาท ขอเรียนว่า เกิดจากการคิดมูลค่าข้อพิพาททางแข่งขัน ซึ่งมีมูลค่าหนี้ 78,908 ล้านบาท มาเจรจากับ BEM แล้วสามารถลดวงเงินเหลือ 58,873 ล้านบาท ก่อนนำมาคิดคำนวณออกมาเป็นระยะเวลาสัญญาที่ 15 ปี 8 เดือน ขณะที่พื้นที่ใต้ทางด่วน ในสัญญายังระบุให้เป็นของ กทพ.

ส่วนการลาออกจากผู้ว่าการฯของนายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ เป็นผลมาจากการไม่เห็นด้วยกับการใช้ฐานข้อมูลในการพิจารณาตัวเลขเท่านั้น และการลาออกก็มีเหตุผลส่วนตัวของนายสุชาติเองด้วย ขณะที่กรณีของนายวิชาญ เอกรินทรากุล เป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมากนายวิชาญป่วยเป็นโรคเบาหวาน และต้องพักฟื้นหลังจากไปผ่าตัดมา จึงไม่สะดวกรับตำแหน่งรักษาการผู้ว่า

ขณะที่การก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น (Double Deck) ได้นำไปรวมกับการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาจราจรบนทางด่วนทั้งระบบ ซึ่ง กทพ. จะเป็นผู้ทำการศึกษาเอง เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจึงจะนำมาเสนอกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง

ด้านนางเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวเพียงสั้นๆว่า ทุกอย่างเป็นไปตามที่นายสุรงค์ระบุทั้งหมด และไม่กังวลเรื่องการถอนฟ้อง เนื่องจากมั่นใจว่าจะสามารถถอนคดีความได้ทันกำหนด และหากสุดวิสัยไม่ทันจริงๆก็จะมีการหารือร่วมกันระหว่าง กทพ.และ BEM อีกครั้งในวันที่ 28 ก.พ.นี้