“คมนาคม” ชงครม.เศรษฐกิจเคาะ 5 มาตรการอุ้มสายการบิน 11 เส้นทาง เซ่นพิษโควิด-19

“ศักดิ์สยาม” รับข้อเรียกร้อง7สายการบิน ฝ่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 “บินไทย-ไทยสมายล์” ขอเข้าพบต่างหากพรุ่งนี้ “ผอ.กพท.”เผยที่ประชุมเคาะแล้ว 5 มาตรการช่วยผู้ประกอบการเล็งเสนอครม.เศรษฐกิจ 6 มี.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2563 มี 7 สายการบินที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ แอร์เอเชีย , แอร์เอเชียเอ็กซ์ ,บางกอกแอร์เวย์ส, นกแอร์,นกสกู๊ต,ไทยไลอ้อนแอร์,ไทยเวียตเจ็ต

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สายการบินเข้าหารือยื่นข้อเสนอขอความช่วยเหลือจากผลกระทบของการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเสนอถึง 4 หน่วยงานสำคัญคือ กรมท่าอากาศยาน (ทย.), บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.), บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อขอลดค่าธรรมเนียมด้านต่างๆ

ทั้งการขึ้นลงทางอากาศ, การใช้สะพานเทียบ, ที่เก็บเครื่องบิน, ค่าเช่าพื้นที่สนามบิน เป็นต้น เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศลดลงถึง 35.2% ส่วนผู้โดยสารในประเทศลดลงถึง 18.4% คิดเป็นจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 2.54 ล้านคน

ได้มอบนโยบายไปว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเคยให้นโยบายไปแล้ว จะต้องช่วยเหลือให้ทุกคนผ่านพ้นสถานการณ์ของโรคระบาดให้ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่อยู่ในข่ายที่ต้องรับผิดชอบ ก็จะสามารถพิจารณาให้ความช่วยเหลือได้ จึงให้นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม สรุปและรายงานมาตรการทั้งหมดให้ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เห็นชอบในวันที่ 6 มี.ค.นี้

เมื่อเห็นชอบแล้ว แต่ละหน่วยงานก็จะไปดำเนินการตามขั้นตอน โดยทอท. กพท.และบวท.จะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ดให้ความเห็นชอบก่อน ส่วนทย.จะต้องนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ตามกระบวนการปกติ

“เบื้องต้นแต่ละสายการบิน ขอให้มีมาตรการยาวไปประมาณ 2 ปี แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรให้จนถึงเมื่อสถานการณ์โรคระบาดจบไปก็พอ แต่สิ่งนี้เป็นเรื่องปกติของการประเมินสถานการณ์ ซึ่งเขามองว่าต้องใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 1 ปีเป็นอย่างน้อย ส่วนมาตรการที่ออกมาจะต้องได้รับเท่ากันทั้งหมดทุกสายการบิน” นายศักดิ์สยามกล่าวและว่า

ส่วนบมจ.การบินไทย และบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ยังไม่ได้มาร่วมประชุมด้วยในวันนี้ (4 มี.ค.) จะมาเข้าพบตนในวันพรุ่งนี้ (5 มี.ค.) เวลา 10.00 น. โดยจะมาเรียกร้องในเรื่องเดียวกันคือ มาตรการรับผลกระทบโควิด-19 ส่วนจะนำมารวมกับสายการบินที่มาวันนี้หริอไม่ คงต้องรอสรุปก่อน

ไฟเขียว 5 มาตรการอุ้มผู้ประกอบการ

ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า สำหรับมาตรการที่มีการสรุปร่วมกัน ประกอบด้วย 1. มาตรการลดค่า Landing-Parking ของแต่ละสายการบินลง 50% ตั้งแต่ 1 เม.ย. – 31 ธ.ค.2563 ให้กับทุกสายการบินไทยและต่างประเทศที่เดินทางใน 11 เส้นทาง ประกอบด้วย จีน,ญี่ปุ่น,เกาหลีใต้,สิงคโปร์,อิหร่าน,ไต้หวัน,มาเก๊า,ฮ่องกง,ฝรั่งเศส,เยอรมนีและอิตาลี หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ ทอท. และ ทย.

2. มาตรการลดค่าจราจรทางอากาศ แบ่งเป็นเที่ยวบินในประเทศลด 50% และเที่ยวบินระหว่างประเทศลด 20% ใน 11 เส้นทางข้างต้น โดยลดให้ทั้งสายการบินไทยและต่างประเทศ มาตรการเริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. – 31 ธ.ค. 2563 หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ บวท.

3. มาตรการลดค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกนอกประเทศ5 บาท จาก 15 บาท เหลือ 10 บาท ใช้กับทุกสายการบินไทยและต่างประเทศที่เดินทางใน 11 เส้นทางข้างต้น มาตรการจะเริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. – 31 ธ.ค.2563 หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กพท.

4. มาตรการลดค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน จะให้เฉพาะสายการบินของไทย เพราะไม่ติดข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ทั้งนี้ จะต้องกลับไปตรวจสอบก่อน เพราะแต่ละพื้นที่กรมธนารักษ์เก็บค่าเช่าไม่เหมือนกัน ซึ่งทอท.และทย.จะเป็นผู้รับผิดชอบ

5. ขอขยายชำระภาษีสรรพสามิตน้ำมันภายในประเทศ ซึ่งมีกำหนดถึง 30 ก.ย.นี้ จาก 4.726 บาท/ลิตร เหลือ 0.2 บาท/ลิตร ขยายไปถึง 31 ธ.ค. 2563 นี้

หลังจากนี้ แต่ละหน่วยงานทีเกี่ยวข้องจะกลับไปตรวจสอบว่า มาตรการต่างๆจะกระทบกับรายได้ที่มีอยู่อย่างไรบ้าง และจะต้องขออุดหนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติมหรือไม่ และ กพท.จะต้องตามไปดูว่าแต่ละสายการบินจะไม่มีการปรับลดต้นทุนด้านความปลอดภัยลง