ฟรี 6 เดือนรถเมล์ขนคนขึ้นรถไฟฟ้า กทม.จ่อดึงเอกชน PPP เดินรถทั่วกรุง

ดีเดย์ มี.ค. กทม.เปิดฟรี 6 เดือน ระบบฟีดเดอร์ 3 เส้นทางป้อนรถไฟฟ้า ลุย PPP ดึงเอกชนร่วมเดินรถทั่วกรุง ย้ำสายสีเขียวต่อขยายยังเปิดฟรีทั้งช่วงแบริ่ง-ปากน้ำ และหมอชิต-ม.เกษตร-วัดพระศรีฯ แบกภาระปีละพันล้าน รอ ครม.ไฟเขียวเซ็นสัมปทานบีทีเอส เคาะราคาใหม่ ไม่เกิน 65 บาท

นายพานุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเดือน มี.ค.นี้ กทม.จะเปิดบริการระบบฟีดเดอร์เป็นการทดลองเดินรถ shuttle bus รับผู้โดยสารเข้าสู่รถไฟฟ้า จะนำร่อง 3 เส้นทาง ได้แก่ สถานีขนส่งสายใต้-บีทีเอสบางหว้า, ดินแดง-บีทีเอสสนามเป้า และเคหะร่มเกล้า-แอร์พอร์ตลิงก์ลาดกระบัง เวลา 05.00-21.00 น. จะทดลองวิ่งเป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่เก็บค่าโดยสาร

“เป็นรถของบริษัทเอกชนที่สนใจจะทดลองเดินรถ เพื่อประเมินความต้องการของผู้ใช้บริการ ซึ่งเส้นทางที่ดำเนินการเป็นเส้นทางที่ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะให้บริการ จะทำให้ประชาชนเดินทางสะดวกมากยิ่งขึ้น”

ในปี 2564 ได้ขอจัดสรรงบประมาณจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมในการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน PPP เดินรถฟีดเดอร์ เนื่องจากในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าสายใหม่เปิดบริการอีกหลายเส้นทาง เช่น สายสีเหลือง สีชมพู สีส้ม

ทั้งนี้ กทม.มีเส้นทางที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาไว้ 10 เส้นทาง นำมาศึกษาความเป็นไปได้ในการให้เอกชนร่วม PPP ด้วย นอกจาก 3 เส้นทางนำร่องแล้ว จะมี 1.พระราม 6-BTS อารีย์ 2.ทองหล่อ-เอกมัย 3.ท่าเรือกรุงเทพ-อ่อนนุช 4.ซอยเสนานิคม-BTS เสนานิคม 5.BTS สยาม-สนามหลวง 6.ถ.สามเสน (ดุสิต)-ถ.มิตรไมตรี (ดินแดง) และ 7.สายไหม-BTS สะพานใหม่

“การเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน จะลดภาระรัฐ ทำให้โครงการเกิดได้เร็ว เพราะเอกชนจะคล่องตัวมากกว่า นอกจากนี้จะมีเปิด PPP รถไฟฟ้าไลต์เรลบางนา-สุวรรณภูมิ 18.3 กม. วงเงิน 27,892 ล้านบาท และสายสีเทาเฟสแรกวัชรพล-ทองหล่อ-ท่าพระ อยู่ระหว่างขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในปีหน้าจะของบฯศึกษารูปแบบ PPP”

นายพานุรักษ์กล่าวอีกว่า ภายในเดือน มิ.ย.นี้ กทม.จะเปิดให้บริการฟรีรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต อีก 4 สถานี ถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ จากปัจจุบันถึงสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเปิดตลอดสายปลายปี 2563 เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมในปี 2564

“ส่วนต่อขยายสายสีเขียว ทั้งแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต ยังไม่กำหนดจะมีการเก็บค่าโดยสาร รอสัญญาสัมปทานใหม่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน เพราะจะปรับโครงสร้างค่าโดยสารใหม่ เก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว เพดานสูงสุดไม่เกิน 65 บาท หากจะจัดเก็บเลยจะเป็นการซ้ำซ้อน และต้องออกประกาศอัตราค่าโดยสารล่วงหน้า 30 วัน”


ปัจจุบัน กทม.รับภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เก็บค่าโดยสารของสายสีเขียวต่อขยายทั้ง 2 ช่วงประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยใช้ฐานจากการเปิดส่วนต่อขยายของ กทม.ที่ขาดทุนปีละ 500 ล้านบาท