ปิดดีลโปรเจ็กต์ประวัติศาสตร์ “คีรี-หมอเสริฐ” คิกออฟ “เมืองการบิน”

นับจาก 24 ต.ค. 2562 วันประวัติศาสตร์ “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” เปิดทำเนียบรับ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ลูกชายเจ้าสัว ซี.พี.และพันธมิตร เซ็นสัญญา บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน รับสัมปทาน 50 ปี ก่อสร้างและบริหารรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 224,544 ล้านบาทไปแล้ว

19 มิ.ย.บิ๊กตู่ประธานเซ็นอู่ตะเภา

วันที่ 19 มิ.ย. 2563 เวลา 09.00 น. “บิ๊กตู่” เปิดทำเนียบเป็นครั้งที่ 2 รับ 2 เจ้าสัว “คีรี กาญจนพาสน์” เจ้าพ่อรถไฟฟ้าบีทีเอส “พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” ลูกชายหมอปราเสริฐ เจ้าของโรงพยาบาลกรุงเทพ และบางกอกแอร์เวย์ส” ที่มี บมจ.ซิไน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ของตระกูล “ชาญวีรกูล” เป็นพันธมิตรรับเหมาก่อสร้าง เพื่อเซ็นสัมปทาน 50 ปีกับ “บจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น” ที่กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ตั้งเป็นคู่สัญญาด้วยทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท โดยมี บมจ.การบินกรุงเทพ ถือหุ้นใหญ่ 45% บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ 35% บมจ.ซิโน-ไทยฯ 20% และ บจ.นาริตะ อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต เป็นผู้บริหารสนามบิน

เพื่อคิกออฟโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก เนื้อที่ 6,500 ไร่ ขับเคลื่อนการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ฟื้นเศรษฐกิจ-สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน หลังคลายล็อกจากสถานการณ์โควิด-19

“เมืองการบินอู่ตะเภา” นอกจากเป็นงานใหญ่งานแรกของปีนี้ ยังเป็น PPP โครงการแรกของกองทัพเรือที่ดึงเอกชนร่วมลงทุนด้วยมูลค่าถึง 305,555 ล้านบาท เมื่อคิดไปอีก 50 ปีข้างหน้าจะเป็นเม็ดเงินรวม 1.326 ล้านล้านบาท (ดูตาราง) เพราะมองว่าสนามบินอู่ตะเภาจะสร้างกำไรมหาศาลจากการบริหารพื้นที่เช่าและค่าธรรมเนียม

โดยมี “บางกอกแอร์เวย์ส” รองรับ รวมถึงดิวตี้ฟรี ขณะที่ “บีทีเอส” จะเป็นดีเวลอปเปอร์ โรงแรมและธุรกิจบริการต่าง ๆ ส่วน “ซิโน-ไทยฯ” ถือว่าได้งานใหญ่สร้างชื่อในโปรไฟล์

ใช้เวลา 1 ปีกว่าจะปิดดีล

แต่กว่าจะได้ชัยชนะวันนี้ต้องใช้เวลา 1 ปี 7 เดือน นับจากขายซอง พ.ย. 2561 ยื่นซอง 12 มี.ค. 2562 และต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการคัดเลือกโครงการอีก 17 ครั้ง เพราะรอการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด หลัง “กลุ่ม ซี.พี.”คู่ปรับเก่าบีทีเอสจากสนามประมูลไฮสปีดถูกปรับตกกรณียื่นซองช้า 9 นาที และยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองและมีคำสั่งให้เปิดซองราคาของกลุ่ม ซี.พี. แต่สุดท้ายคณะกรรมการคัดเลือกเคาะชื่อ “กลุ่ม BBS” เป็นผู้ชนะหลังเสนอผลตอบแทนให้รัฐดีที่สุด และเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อ 2 มิ.ย. 2563

ส่งมอบพื้นที่ภายในปี’65

“คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า วันที่ 19 มิ.ย.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกกับกลุ่ม BBS เป็นโครงการที่ 3 ในพื้นที่ EEC ต่อจากรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ที่เซ็นสัญญาปีที่แล้ว โดยเอกชนร่วมทุน PPP net cost เวลา 50 ปี ก่อสร้าง 3 ปี และรับสัมปทานซ่อมบำรุงโครงการ 47 ปี รัฐได้ผลตอบแทนค่าเช่าที่ดินและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำรายปีตลอดอายุสัญญา รวมเป็นเงิน 1.326 ล้านล้านบาท

การเริ่มต้นก่อสร้างยังติดการส่งมอบพื้นที่และรออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) รันเวย์ที่ 2 และทางขับขนานสนามบิน 17,768 ล้านบาท หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่กองทัพเรือดำเนินการ คาดใช้เวลา 1 ปีครึ่ง นับจากเซ็นสัญญา เพื่อเคลียร์พื้นที่ส่งมอบให้คู่สัญญาได้

“การส่งมอบพื้นที่จะทำเหมือนรถไฟความเร็วสูง มีคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ช่วยดูการส่งมอบพื้นที่เพื่อออกแบบให้ทั้ง 2 โครงการเป็นไปตามแผนและเกื้อหนุนกัน เรื่องดีมานด์ผู้โดยสารหากปราศจากโครงการใดโครงการหนึ่งจะได้ประโยชน์ไม่เต็มที่”

ลงทุนพัฒนา 4 เฟส

สำหรับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภามี 6 กิจกรรม ได้แก่ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ และศูนย์ฝึกอบรมการบิน

“ทาง BBS แบ่งสร้าง 4 เฟส เฟสแรก 40,000 ล้านบาท สร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 รองรับได้ 16 ล้านคนต่อปี เฟสสุดท้ายรองรับได้ไม่ต่ำกว่า 60 ล้านคนต่อปี ซึ่งเอกชนสำรวจพื้นที่แล้ว” นายคณิศกล่าวและว่า

เมื่อ “เมืองการบินภาคตะวันออก” พัฒนาเสร็จจะทำให้อู่ตะเภาเป็นสนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3 เชื่อมดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว โลจิสติกส์ และการบินของ EEC ยังเป็นศูนย์กลางของมหานครการบินภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ในรัศมี 30 กม. รอบสนามบินในเมืองพัทยาถึงเมืองระยอง

ลงทุนรอธุรกิจการบินฟื้น

“คีรี กาญจนพาสน์” ประธานบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ปฯ เปิดเผยว่า เซ็นสัญญาแล้วจะเตรียมออกแบบรายละเอียดนอกจากเตรียมเงินทุนและพันธมิตรธุรกิจที่ร่วมลงทุนแต่ละกิจกรรม แม้จะเกิดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลกก็ยังเดินหน้าโครงการต่อไป เพราะโครงการใช้เวลาพัฒนา 3 ปี ถึงเวลานั้นธุรกิจการบินจะกลับสู่ภาวะปกติ

“งานก่อสร้างยังมีเวลา เราต้องดูรถไฟความเร็วสูงด้วย จะเริ่มสร้างและเสร็จเมื่อไหร่ ไม่ใช่ว่าสนามบินเสร็จแต่ดีมานด์ไม่มี”

เฟสแรกประเดิม 4 หมื่นล้าน

“สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ปฯ กล่าวว่า รอส่งมอบพื้นที่จากกองทัพเรือ จะเริ่มสร้างเฟสแรกปี 2565 ใช้เงินลงทุน 40,000 ล้านบาท สร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 รองรับผู้โดยสาร 16 ล้านคนต่อปี มากกว่าที่กำหนดไว้ 12 ล้านคนต่อปี พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และสร้างระบบต่อเชื่อมการเดินทางภายในโครงการ อาคารผู้โดยสารกับถนนด้านนอกโครงการ และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

“เฟสแรกใช้เวลา 3 ปี เปิดบริการปี 2567 เมื่อผู้โดยสารเป็นไปตามเป้าจะเริ่มเฟส 2 เพิ่มการรองรับให้ได้ 30 ล้านคนต่อปี โดยจะพัฒนาระบบรถไฟฟ้า APM เชื่อมการเดินทางภายในโครงการ จากนั้นจะเป็นเฟส 3 และ 4”

นอกจากการวางมาสเตอร์แพลนที่ใช้เวลาพัฒนากว่า 10 ปีแล้ว รัฐต้องทุ่มทุนสร้างรันเวย์ที่ 2 ระบบไฟฟ้า น้ำเย็น หอบังคับการบินใหม่ ทางยกระดับเชื่อมถนนสุขุมวิทกับอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ และมอเตอร์เวย์ สาย 7เพื่อ

พลิกโฉม “อู่ตะเภา” สนามบินทหารเรือที่ผ่านการใช้งานมา 59 ปี สู่มหานครการบินและฮับของภูมิภาคนี้

ตารางเมืองการบิน