ปิดดีลมอเตอร์เวย์ 4 หมื่นล้าน “BTS-GULF-STEC” เซ็นระบบเก็บเงิน 30 ปี

ปิดปลายปี'65 - ภาพความก้าวหน้ามอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้าไปกว่า 80% กรมทางหลวงจะทดลองเปิดให้วิ่งบางช่วงปลายปี 2565 ก่อนจะเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 2566 เพราะต้องรองานระบบเก็บค่าผ่านทางแล้วเสร็จก่อน

จับตา มิ.ย. กรมทางหลวงชง ครม.อนุมัติจ้าง “บีทีเอส-กัลฟ์-ซิโน-ไทย-ราชกรุ๊ป” ติดตั้งระบบเก็บเงินและซ่อมบำรุงมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจน์ ระยะเวลา 30 ปี วงเงิน 3.9 หมื่นล้าน เซ็นสัญญา ก.ค. นี้ ทยอยเปิดใช้ปี’65-66 จ่อผุดจุดพักรถ ประเดิมสายพัทยา-มาบตาพุด 3 จุด ดึงเอกชนร่วม PPP ศรีราชา 100 ไร่ และบางละมุง 50 ไร่ ส่วนมาบประชันลุยเอง เสร็จปี’65

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ภายในเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ คาดว่าจะเซ็นสัญญากลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ราชกรุ๊ป ผู้ชนะประมูลโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี รูปแบบ PPP gross cost ระยะเวลา 30 ปี ด้วยวงเงิน 39,138 ล้านบาท

ล่าสุด สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ตรวจสอบร่างสัญญาทั้ง 2 โครงการ และส่งกลับมาที่กรมและส่งให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป โดยกระทรวงจะใช้เวลาพิจารณา 30 วัน ซึ่งจะตรวจสอบรายละเอียด เช่น การดำเนินการเป็นไปตามทีโออาร์หรือไม่ มีการได้เปรียบเสียเปรียบกันหรือไม่ เป็นต้น

“หลังเซ็นสัญญาคาดว่า สายบางปะอิน-โคราชจะออกหนังสือให้เริ่มงานได้ทันที เพราะงานโยธาเดินหน้าแล้ว 85% และผู้รับเหมาในสัญญาต่าง ๆ ได้เว้นที่ไว้รองรับงานระบบอยู่แล้ว ประมาณ 600-700 เมตร ตามจุดต่าง ๆ คาดว่าจะเริ่มทดลองระบบปลายปี 2565 และอาจจะให้ประชาชนทดลองใช้บางช่วง ก่อนเปิดเต็มรูปแบบต้นปี 2566

นายสราวุธกล่าวอีกว่า ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี หลังจ่ายค่าเวนคืนครบ ผู้รับเหมา 25 สัญญาเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ปัจจุบันคืบหน้า 28% คาดว่าจะออกหนังสือเริ่มงานระบบได้อีก 6 เดือนหลังเซ็นสัญญา ขณะนี้เร่งผู้รับเหมาทุกสัญญาให้ระดมขนเครื่องจักรเข้ามาก่อสร้างให้เสร็จตามแผนมากที่สุด

ทำให้จากแผนคาดว่าจะช้ากว่ากำหนดเดิม 2 ปี เหลือเพียง 1 ปี โดยงานโยธาจะเสร็จกลางปี 2566 และปลายปีเปิดบริการเต็มรูปแบบ

พัฒนาพื้นที่จุดพักรถ

นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างเร่งรัดพัฒนาพื้นที่จุดพักรถ (rest area) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้ทาง โดยรูปแบบการลงทุนของโครงการจะเป็น PPP net cost ระยะเวลา 30 ปี

โดยเอกชนจะต้องเป็นผู้ออกแบบคอนเซ็ปต์และรูปแบบการวางตำแหน่งสิ่งอำนวยความสะดวกและผังร้านค้าต่าง ๆ ของ rest area เองทั้งหมด และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดกรมทางหลวง เรื่องมาตรฐานและลักษณะที่พักริมทางในเขตทางหลวงพิเศษ และทางหลวงสัมปทาน 2560 เช่น มีที่จอดรถไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่ทั้งหมด มีพื้นที่พาณิชย์ไม่เกิน 15% เป็นต้น

โดยจะนำร่องมอเตอร์เวย์สาย 7 กรุงเทพฯ-ชลบุรี รวมถึงส่วนต่อขยายช่วงพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. ที่เพิ่งเปิดทดลองใช้เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาด้วย มีพื้นที่ rest area จำนวน 3 จุด คือ

1. บริเวณทางแยกไป อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พื้นที่รวม 100 ไร่ แบ่งเป็นฝั่งขาเข้าและขาออก ฝั่งละ 50 ไร่

2. ด่านบางละมุงทั้งฝั่งขาเข้า-ขาออก พื้นที่รวม 50 ไร่ แบ่ง 2 จุดขาเข้า-ขาออก พื้นที่จุดละ 25 ไร่

3. ด่านมาบประชันพื้นที่รวม 10 ไร่ แบ่ง 2 จุดขาเข้า-ขาออก จุดละ 5 ไร่

“ที่มาบประชันกรมจะดำเนินการเอง ส่วนบริเวณศรีราชาและบางละมุง จะเปิด PPP ให้เอกชนที่สนใจร่วมลงทุน ศึกษารูปแบบการลงทุนและความเป็นไปได้แล้ว อยู่ระหว่างประเมินวงเงินลงทุน และเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติ แล้วเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการตามขั้นตอนต่อไป” นายปิยพงษ์กล่าว

“ขณะเดียวกัน รอกฎหมายลูกประกอบ พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 ว่าด้วยการดำเนินโครงการที่มูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ออกประกาศใช้อีกด้วย”

นายปิยพงษ์กล่าวอีกว่า ทั้งศรีราชาและบางละมุงได้เวนคืนที่ดินเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างปรับพื้นที่หน้าดิน ส่วนการเดินหน้าโครงการคาดว่าภายในปีนี้จะออกประกาศทีโออาร์ และต้นปี 2564 จะเปิดให้ยื่นประมูล คาดว่าจะได้เอกชนผู้ชนะช่วงกลางปี เปิดให้บริการภายในปี 2565 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการออกกฎหมายลูกประกอบ พ.ร.บ.ร่วมทุนเป็นสำคัญ

ขณะที่มอเตอร์เวย์สายใหม่ 2 สาย คือ มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) เบื้องต้นศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและรูปแบบการลงทุนเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยบางปะอิน-นครราชสีมา กำหนดให้มี rest area จำนวน 15 แห่ง แบ่งเป็นขาเข้า 7 แห่ง และขาออก 8 แห่ง มีขนาดของ rest area ตั้งแต่เล็ก กลาง และใหญ่ ส่วน rest area ของมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี มีจำนวน 6 แห่ง แบ่งเป็นขาเข้า 3 แห่ง และขาออก 3 แห่ง