“หมอเสริฐ-คีรี” เปิดใจคิดไม่ผิดทุ่ม 3 แสนล้านสร้าง “เมืองการบิน” มั่นใจถนนทุกสายมุ่งอู่ตะเภา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังบจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (UTA)เป็นการร่วมทุนระหว่าง บมจ.การบินกรุงเทพ 45% บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง 35% และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 20% เซ็นสัญญากับคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กพอ.) ร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เนื้อที่ 6,500 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี จ่ายผลตอบแทนให้รัฐ 305,555 ล้านบาท

นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหารบมจ.การบินกรุงเทพ(BA) กล่าวว่า ตัดสินใจเข้าไปร่วมลงทุนสนามบินอู่ตะเภาหากมองอนาคตกันจริงๆแล้วบางกอกแอร์เวย์สทำสนามบินเอกชนรายแรกของประเทศไทย มีประสบการณ์ด้านการบินมากว่า 50 ปี ซึ่งโครงการนี้ไ่ม่น่ายาก เป็นการร่วมกับภาครัฐ อีก 30 ปีข้างหน้าหลังอู่ตะเภาเปิดไปแล้ว คนจะมาบอกว่ารัฐได้รายได้ 3 แสนล้านบาท อาจจะน้อยเกินไปก็ได้

“อู่ตะเภาอยู่ในพื้นที่เหมาะจะพัฒนาเป็นสนามบินกรุงเทพแห่งที่3เชื่อมทางอากาศ ทางน้ำ ต่อไปจะมีระบบราง ถ้าสำเร็จแล้วจะเป็นศูนย์กลางแหล่งงานภาคพื้นดินทั้งหมดทั้งอีสาน เหนือ ตะวันออก และใต้ การขนส่งสินค้าและคนเดินทางมาจากต่างประเทศจะมาที่นี่มากกว่าสุวรรณภูมิ ”

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิงส์(BTS) กล่าวว่า บีทีเอสมีธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาฯ และบริการ ไม่เคยคิดว่าจะลงทุนสนามบิน มีคนชักชวนลงทุนสนามบินอู่ตะเภาหลายราย จนมาพบกับหมอเสริฐ คุยกันถึงความจำเป็นของการมีสนามบินแห่งนี้ และมีความพร้อมด้านบุคลากร การเงิน ทุกอย่างจะทำให้โครงการสำเร็จ และใช้เวลาเจรจารวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศเพียง 47 วันเท่านั้น เมื่อเทียบกับขนาดของโครงการ

“ การที่ตัดสินใจเข้าไปลงทุนเพราะเป็นโครงการที่ดี เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะจะลงทุนสนามบินมีบางกอกแอร์เวย์สบริษัทเดียวที่ทำธุรกิจนี้เป็นรูปเป็นร่าง เราตัดสินใจไม่ผิด วิเคราะห์อย่างรอบคอบถึงจ่ายสูง และชนะประมูลได้ ผมไม่สนใจคนไม่เข้าใจโครงการและวิธีคิด ขอย้ำว่าราคานี้เป็นราคาที่ถูกต้องแน่นอน เพราะเป็นการลงทุนแบบขั้นบันได เริ่มต้นเฟสแรกลงทุน 3 หมื่นกว่าล้าน ขยายการลงทุนไปตลอดอายุสัญญา”

ทั้งนี้ บีทีเอสได้เตรียมแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และแผนในการสร้างระบบเชื่อมต่อการเดินทางภายในสนามบินโดยใช้ระบบ APM ให้เชื่อมต่อออกไปยังระบบขนส่งสาธารณะทุกระบบ จะรวมไปถึงโครงการรถไฟความเร็งสูงเชื่อม 3 สนามบินด้วย

และโครงการนีไม่ได้มีเพียงสนามบิน แต่ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน โดยเฉพาะเมืองการบิน และ Free Trade Zone ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีความท้าทายและสามารถสร้างมูลค่าให้กับโครงการจึงทำให้มั่นใจได้ว่าผลตอบแทนที่เสนอให้รัฐเป็นตัวเลขที่มีพื้นฐานจากข้อเท็จจริง

โดยมีองค์ประกอบที่ดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์และส่งเสริมการเป็นฮับการบินของโครงการฯ คือ คอมเมอร์เชียลเกตเวย์ ขนาดพื้นที่กว่า 400,000 ตร.ม.จัดเป็นพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี ร้านค้าและภัตตาคาร โรงแรม รวมทั้งBusiness Park และแอร์พอร์ตซิตี้ซึ่งมีขนาดพื้นที่กว่า 1 ล้านตร.ม. ประกอบด้วย ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า อาคารพักอาศัยและอาคารสำนักงาน เป็นต้น

นายอนวัช ลัละวัฒน์วัฒนา กรรมการบริหารบมจ.การบินกรุงเทพ กล่าวว่า จากการประเมินจากนี้อีก 20-30 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรมการบินจะโต 43%จึงจำเป็นต้องมีสนามบินแห่งที่3 ที่อู่ตะเภา จะเป็นประตู่สู่อีอีซึ ซึ่งสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิรวมกันแล้วรองรับผู้โดยสารได้160 ล้านคนต่อไป ยังไม่เพียงพอรองรับต่อความต้องการ 200 ล้านคนต่อปี

สำหรับการการลงทุนแบ่งเป็น 4 เฟส ใช้เงินลงทุน 186,566 ล้านบาท แยกเป็นค่าซ่อมบำรุง 61,849 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าก่อสร้าง 124,717 ล้านบาท จะใช้เระยะเวลาคืนทุน 15-16 ปี

โดยระยะแรกลงทุน31,219 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 3ปี เปิดปี 2567 มีอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตร.ม. พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคน/ปี

ระยะที่ 2 ลงทุน 23,852 ล้านบาท มี อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตร.ม.พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ(APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปีพ.ศ.2573 โดยประมาณการว่า จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด30 ล้านคน/ปี

ระยะที่ 3 ลงทุน 31,377 ล้านบาท เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตค.ม.เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด คาดว่าจะ แล้วเสร็จประมาณปีพ.ศ. 2585 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคน/ปี

ระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย ลงทุน 38,198 ล้านบาท มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เพิ่มขึ้น 82,000 ตร.ม.พร้อมติดตั้งระบบ Check-In อัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มหลุมจอด 14 หลุม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2598 และจะรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคน/ปี