พลิกโฉมย่าน “สถานีรถไฟขอนแก่น” พัฒนามิกซ์ยูสศูนย์กลางธุรกิจรับไฮสปีด

วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ณ ห้องบอลรูมประชาสโมสร โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลโครงการและการมีส่วนร่วมของประชาชน และการสัมมนาเพื่อลงทุน สรุปผลในพื้นที่เมืองต้นแบบ : จังหวัดขอนแก่น โครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง “TOD คมนาคม สร้างเมือง เมืองสร้างสุข สุขสร้างได้” เป็นการนำเสนอข้อมูลโครงการเพื่อสรุปผลการศึกษาในพื้นที่เมืองต้นแบบ

โดย ”ขอนแก่น” เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้า การบริการ พาณิชยกรรม และการลงทุนของกลุ่มพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการพัฒนา ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด

ส่งผลให้ “ขอนแก่น” เป็น 1 ใน 3 เมือง ที่ได้รับคัดเลือกเป็นเมืองต้นแบบการพัฒนา TOD และ “สถานีรถไฟขอนแก่น” ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทน TOD ศูนย์ภูมิภาค (Regional Center : RC) จากกลุ่มแนวเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยบทบาทความสำคัญของสถานีรถไฟความเร็วสูง (HSR) สถานีกลางเมืองหลักระดับภูมิภาค และพื้นที่ในรัศมี 500 เมตร โดยรอบสถานีเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทส่งเสริมการพัฒนาเมือง

สำหรับแนวคิดการพัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์รอบสถานีรถไฟขอนแก่น แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การพัฒนาระยะเร่งด่วน (ปี 2564-2565) ระยะที่ 2 ระยะสั้น (ปี 2566-2570) ระยะที่ 3 การพัฒนาระยะปานกลาง (ปี 2571-2575) และระยะที่ 4 ระยะยาว (ปี 2576-2570)

แบ่งการพัฒนาเป็น 8 โซน โดยโซนที่ 1 ย่านสถานีรถไฟทางคู่และสถานีรถไฟความเร็วสูง เป็นพื้นที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสถานีรถไฟทางคู่และสถานีรถไฟความเร็วสูง มีส่วนของอาคารสถานี อาคารสำนักงาน ที่พักของเจ้าหน้าที่ รวมถึงชุมชนที่มีสัญญาเช่าในย่านสถานีบางส่วน และการพัฒนาเชิงพาณิชย์

โซนที่ 2 ย่านพาณิชยกรรมและศูนย์กลาง TOD ย่านพาณิชยกรรมและศูนย์กลาง TOD ขอนแก่น จุดเปลี่ยนถ่ายและเชื่อมต่อการเดินทางหน้าสถานี เหมาะแก่การพัฒนาแบบผสมผสานเป็นอาคารศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ตลาดรถไฟ และโรงแรมที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางมาติดต่อธุรกิจ

โซนที่ 3 ย่านที่พักอาศัยและส่งเสริมอัตลักษณ์พื้นถิ่น ส่งเสริมให้เป็นย่านที่พักอาศัยคุณภาพแบบ Low-Rise ของคนในเขตมืองและชุมชนเดิมในพื้นที่ เช่น คอนโดมิเนียมที่มีความสูงไม่เกิน 23 เมตร หรือ
ไม่เกิน 8 ชั้น ผสมผสานกับพื้นที่พาณิชยกรรมเดิม ส่งเสริมอัตลักษณ์พื้นที่ด้วยภูมิทัศน์ที่เชื่อมต่อกับ
ส่วนสถานีรถไฟด้วยทางเดินเท้าทางจักรยานที่สะดวกและปลอดภัย

โซนที่ 4 ย่านประตูเมืองขอนแก่น-ศูนย์กลางธุรกิจ และ MICE ด้วยที่ตั้งที่มีศักยภาพเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟ 2 สถานี และเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูง เหมาะแก่การพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสานเป็นอาคารสำนักงานชั้นดี ศูนย์ประชุม โรงแรมหรู เพื่อยกระดับเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ อุตสาหกรรม MICE และที่พักอาศัยชั้นดี ส่งเสริมการอยู่อาศัยและการทำงานในพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่

โซนที่ 5 ย่านพัฒนานวัตกรรมและที่พักอาศัยคนรุ่นใหม่ ศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรม กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเบา SME และย่านที่พักอาศัยตอบสนองการพัฒนาอุตสาหกรรมของจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมด้วยพื้นที่พาณิชยกรรมและที่พักอาศัยแบบ Low-Rise คอนโดมิเนียม ส่งเสริมการทำงานและใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ด้วยสภาพแวดล้อมที่ดี

โซนที่ 6 ศูนย์กลางพาณิชกรรมระดับภูมิภาค ศูนย์กลางพาณิชยกรรม ทั้งศูนย์การค้าระดับภูมิภาค
ศูนย์ค้าปลีก อาคารสำนักงาน และโรงแรมที่พัก เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า
การลงทุน การท่องเที่ยวและบริการแบบครบวงจร

โซนที่ 7 ย่านการศึกษา-พักอาศัยและการพัฒนาแบบผสมผสาน เป็นที่ตั้งสถานศึกษาเดิมในพื้นที่ติดถนน พัฒนาแบบผสมผสานเป็นสำนักงาน พาณิชยกรรม และที่พักอาศัย ที่ส่งเสริมการพัฒนาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยระบบทางสัญจรที่สะดวก ปลอดภัย และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนของคนในพื้นที่

โซนที่ 8 ย่านชุมชนเมือง เน้นการพัฒนาเป็นที่พักอาศัย ที่มีคุณภาพของชุมชนเมืองและชุมชนเดิม
ในพื้นที่ รองรับการอยู่อาศัยในทุกระดับ สะดวก ปลอดภัย ใกล้สถานีรถไฟ และสถานีรถไฟฟ้า เชื่อมกับพื้นที่การพัฒนาแบบผสมผสานติดถนนมิตรภาพ ทั้งศูนย์การค้า ร้านค้าปลีก สำนักงานและโรงแรมที่พัก

ทั้งนี้ สนข.ได้เปิดเวทีการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนในเมืองต้นแบบอีก 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 10 สิงหาคม 2563 และจังหวัดชลบุรี วันที่ 14 สิงหาคม 2563 นี้