เวนคืน “โคราช” 1.1 พันล้าน ผุดรถไฟฟ้าสายแรก ดึงเอกชนลงทุน 30 ปี

รฟม.ซาวเสียง ลงทุน PPP รถไฟฟ้าโคราช สายแรก 7 พันล้าน “ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองฯ” แลกรับสัมปทานเดินรถและพัฒนาเชิงพาณิชย์ 30 ปี เอกชนหวั่นโครงการเสี่ยง รัฐเวนคืน 1.1 พ้นล้าน 3 จุด ตลาดเซฟวัน และเดโก้อีก 2 แห่ง ปีนี้ชงบอร์ดเคาะ ปีหน้าเสนอ ครม. คาดตอกเข็มปี 2565

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าฝ่ายกลยุทธ์และแผน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า โครงการระบบขนส่งมวลชน จ.นครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ 11.15 กม. วงเงิน 7,115 ล้านบาท ออกแบบรูปแบบโครงการไว้เป็นระบบรถรางไฟฟ้า (Tram) วิ่งบนพื้นดินทั้งเส้นทาง มี 21 สถานี

ชงบอร์ด-ครม.ปีหน้า

ขั้นตอนหลังจากนี้ จะสรุปผลการศึกษาให้ชัดเจนอีกครั้งและจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ภายในปีนี้ จากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการภายในกลางปี 2564 จากนั้นจะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนอีก 1 ปี ก่อนจะเริ่มก่อสร้างในเดือน ส.ค.2565 คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี โดยจะเปิดบริการช่วงปลายปี 2568 คาดว่าจะมีผู้โดยสารเริ่มต้นในปีแรกที่ 9,920 คนเที่ยว/วัน

“รูปแบบโครงการเป็นเอกชนร่วมลงทุน (PPP) แบบ Net Cost เอกชนรับภาระทั้งงานโยธา งานระบบ การจัดหาขบวนรถและบริหารโครงการ ระยะเวลา 33 ปี สร้าง 3 ปี บริหาร 30 ปี ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 21 บาท ส่วนรัฐจะอุดหนุนเท่าไหร่อยู่ระหว่างศึกษาในรายละเอียด”

ค่าเวนคืน 1.1 พันล้าน

โดยวงเงินโครงการ แบ่งเป็น 1.ค่าเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินช่วงสถานีตลาดเซฟวัน เพื่อทำอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง และสถานีบ้านนารีสวัสดิ์ เพื่อทำอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง และศูนย์ซ่อมบำรุง (เดโป้) 1 แห่ง วงเงิน 1,180.21 ล้านบาท

2.ค่างานโยธา 2,254.70 ล้านบาท 3.ค่างานระบบรถไฟฟ้า 2,260.36 ล้านบาท 4.ค่างานจัดหาขบวนรถ 995.54 ล้านบาท 5.ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและคุมงานก่อสร้าง 176.59 ล้านบาท 6.Provisional Sum 248.08 ล้านบาท

ส่วนรายได้จากการจัดเก็บค่าโดยสรรไม่เพียงพอแน่นอน จึงเปิดโอกาสให้เอกชนหารายได้อื่น (Non-Fare Revenue) เช่น ค่าเช่าพื้นที่โฆษณา, ค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ ค่าจอดรถอาคารจอดแล้วจร เป็นต้น โดยคิดเป็น 5% ของรายได้ค่าโดยสาร

ปลายปีนี้ขออนุมัติ EIA

สำหรับรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่ระหว่างจัดทำรายงานฉบับสุดท้าย (Final Report) คาดว่าจะส่งให้สำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ในช่วงปลายปี โดยไม่มีปัญหาเรื่องของการผ่านย่านเมืองเก่าแต่อย่างใด เพราะได้หารือกับกรมศิลปากรตั้งแต่เริ่มศึกษาโครงการแล้ว

โดยคาดว่าโครงการนี้จะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ที่ 13% และผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR คิด ณ 5%) มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ -9,099.70 ล้านบาท

เปิดแนวเส้นทาง

สำหรับแนวเส้นทางของโครงการเริ่มต้นที่ตลาดเซฟวัน ฝั่งขาเข้าตัวเมืองนครราชสีมา วิ่งไปตามแนวถ.มิตรภาพผ่านแยกปักธงชัย เบี่ยงขวาตามทางรถไฟ มุ่งหน้าตาม ถ.สืบศิริ ซ.6 เลี้ยวซ้ายผ่านทางรถไฟไปตามแนว ถ.สืบศิริ แล้วเลี้ยวขวาบริเวณวัดใหม่อัมพวัน ไปตามแนว ถ.มุขมนตรี ผ่านสวนภูมิรักษ์และตลาด 100 ปี ร.ร.มารีย์วิทยา สถานีรถไฟนครราชสีมา ห้าแยกหัวรถไฟ

จากนี้เส้นทางจะแยกเป็น 2 ทางคือ ขาไปตาม ถ.โพธิ์กลาง จนถึงหน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 224 ผ่าน ร.ร.เมืองนครราชสีมา วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา ร.ร.อนุบาลนครราชสีมา ร.ร.สุรนารีวิทและวัดสามัคคี จากนั้นเลี้ยวซ้ายที่แยกสุรนารายณ์ แล้วมุ่งตรงไปตาม ถ.สุรนารายณ์ ผ่าน ม.ราชภัฎนครราชสีมา และ ม.ราชมงคลอีสานนครราชสีมา สิ้นสุดที่บ้านนารีสวัสดิ์

อีกทางคือขากลับ จากบ้านนารีสวัสดิ์ถึงแยกสุรนารีจะใช้เส้นทางเดียวกันกับช่วงขาไป จากนั้นจะใช้ ถ.ชุมพลและ ถ.จอมสุรางค์ยาตร์จนถึงห้าแยกหัวรถไฟ แล้วใช้เส้นทางเดียวกับขาไปจนถึงตลาดเซฟวัน

เอกชนไทย-เทศแห่ฟัง

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการจัด Market Sounding เพื่อทดสอบความสนใจของเอกชน บริษัทที่มา เช่น บมจ.ราชกรุ๊ป, ดอนเมืองโทลล์เวย์, บมจ.ช.การช่าง, บมจ.กลัฟ์ เอนเนอยี, บมจ.อิตาเลี่ยนไทย,  บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) เป็นต้น

ส่วนบริษัทต่างชาติ เช่น ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น, ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (จีน), ซีเมนส์ โมบิลิตี้ (เยอรมนี), Bombardier Transportation (แคนาดา), อิโตชู คอร์เปอเรชั่น, Mitsui & Co. (ญี่ปุ่น) เป็นต้น

ห่วง Net Cost ไปไม่ไหว

ส่วนใหญ่ให้ความกังวลเรื่องของการลงทุน โดยตัวแทนจาก บมจ.กัลฟ์ เอนเนอยี ถามที่ปรึกษาว่า รูปแบบลงทุนเป็น PPP Net Cost ในผลศึกษามีความเสี่ยงมาก จึงอยากถามว่าทำไมจึงกำหนดเป็นรูปแบบนี้ ที่ปรึกษาโครงการตอบว่า จริงๆ แล้วยังไม่มีการระบุชัดว่าจะลงทุน Net Cost แต่ที่จัดงานนี้ เพื่อต้องการทราบกำลังของเอกชนเช่นกันว่าถ้าทำแบบ Net Cost จะไหวหรือไม่ ถ้าไม่ไหวสามารถเสนอรูปแบบอื่นๆ ก็ได้ ซึ่งตัวแทนจากกัลฟ์ก็ไม่ได้เสนอรูปแบบอะไรที่ชัดเจน

ด้านตัวแทนจาก บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ถามที่ปรึกษาว่าจะปรับอัตราคิดลด (Discount Rate) ที่ 8-12% ให้เหลือลงกว่านี้ได้หรือไม่ เพราะมองว่าอัตราดังกล่าวถือว่าสูงไปไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ปรึกษาตอบว่า จริงๆ แล้ว Discount Rate ของโครงการอยู่ที่ 5% ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจจุบันอยู่แล้ว

BTS ขอ wait and see

ด้านตัวแทนจาก บมจ.บีทีเอส กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยังไม่ตัดสินใจว่าจะลงทุนโครงการนี้หรือไม่ เพราะที่ปรึกษาของโครงการยังไม่สรุปชัดๆ ว่ารูปแบบการลงทุนจะเป็น PPP Net Cost หรือไม่หรือเป็นแบบอื่น เพื่อที่เอกชนจะได้ตัดสินใจถูกว่าจะลงทุนดีไหม ตอนนี้ในส่วนของบีทีเอสก็ขอ wait and see กับโครงการนี้ไปก่อน