รัฐถังแตก “สภาพัฒน์” รื้อทางคู่-สนามบิน

รีวิวใหม่ - รถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 7 เส้นทาง และแผนพัฒนาสนามบินของ ทอท.ที่เตรียมไว้ในแผนงาน ล่าสุดสภาพัฒน์ให้กระทรวงคมนาคม ทบทวนความสำคัญของโครงการใหม่ หลังประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจซบเซาและโควิด-19 ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการต่อไป

รัฐทุ่มงบประมาณเยียวยาโควิด-เศรษฐกิจหมดหน้าตัก ป่วนแผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์คมนาคม “สภาพัฒน์” ตีกลับ “รถไฟทางคู่เฟส 2” ยกลอต 7 สาย เงินลงทุนกว่า 2.72 แสนล้าน สั่งจัดลำดับความสำคัญโครงการใหม่ก่อนเสนอ ครม.อนุมัติ “กรมราง” เร่งสรุป 3 เดือน เผยช่วง “ขอนแก่น-หนองคาย” พร้อมสุด เชื่อมโลจิสติกส์ไทย-ลาว-จีน ด้าน ทอท.เตรียมรีวิวขยายสนามบินดอนเมือง เฟส 3

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2563 ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาการเสนอขออนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ได้นำโครงการรถไฟทางคู่ทั้ง 7 เส้นทาง มาพิจารณาใหม่อีกครั้ง หลังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ส่งโครงการทั้งหมดกลับมายังกระทรวงคมนาคมให้ทบทวน เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

สภาพัฒน์ตีกลับทางคู่

ทั้ง 7 เส้นทางมีระยะทางรวม 1,483 กม. วงเงิน 272,219.14 ล้านบาท ประกอบด้วย ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย 285 กม. 62,859.74 ล้านบาท, ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ 189 กม. 56,837.78 ล้านบาท, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 308 กม. 37,527.10 ล้านบาท, ช่วงขอนแก่น-หนองคาย 167 กม. 26,663 ล้านบาท, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 168 กม. 24,294.39 ล้านบาท, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา 321 กม. 57,375.43 ล้านบาท และช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 45 กม. 6,661.37 ล้านบาท

สาเหตุที่สภาพัฒน์ส่งกลับมา เนื่องจากโครงการนี้มีการสอบถามจากสภาพัฒน์อยู่หลายครั้ง แต่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ไม่ตอบกลับประเด็นข้อสงสัยให้ครบ ทางสภาพัฒน์จึงตีกลับเรื่องดังกล่าวกลับมาที่กระทรวง เพื่อเริ่มกระบวนการเสนอโครงการใหม่อีกครั้ง

เร่งขอนแก่น-หนองคายเชื่อมลาว

“คณะทำงานพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องของเพดานหนี้สาธารณะปรับตัวสูงขึ้น ทำให้การเสนอโครงการลงทุนจะเน้นเฉพาะโครงการมีความจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น จึงมีการคัดเลือกเส้นทางที่เห็นว่าควรมีการผลักดันก่อนอันดับแรก คือ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงินลงทุน 26,663 ล้านบาท”

นายสรพงศ์กล่าวอีกว่า เนื่องจากเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงที่มาจากประเทศจีน และ สปป.ลาว ซึ่งจะเปิดให้บริการภายในปี 2564 จึงต้องเร่งผลักดัน และด้านหนึ่งเป็นโครงการที่มีความพร้อมมากที่สุดด้วย ปัจจุบันการออกแบบและรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว รวมถึงโครงการมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ประมาณ 19% และมีปริมาณสินค้าที่จะขนส่งในอนาคตถึงปี 2580 ประมาณ 12 ล้านตัน/ปี

“ช่วงขอนแก่น-หนองคายยังมีประเด็นเพิ่มเติมเรื่องก่อสร้างสถานีตู้สินค้าที่มีพิธีการศุลกากรทั้งสินค้าขาเข้าและสินค้าขาออก ที่บ้านนาทา จ.หนองคาย เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าแบบครบวงจรทางรถไฟ มอบ ร.ฟ.ท.นำผนวกรวมกับแบบก่อสร้างให้เร็วที่สุด รวมถึงตรวจสอบดูว่าเงินลงทุนเพิ่มหรือไม่ เพราะเป็นงานเพิ่มเติม”

ส่วนเส้นทางอื่น ๆ ที่ประชุมมอบหมายให้กรมเป็นผู้ศึกษาตรวจสอบและทบทวนในส่วนของอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ การขนส่งสินค้า และเหตุผลความจำเป็น คาดว่าจะเริ่มศึกษาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ และจะสรุปผลการศึกษาให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ หรือช้าสุดไม่เกิน 3 เดือน จะต้องตรวจสอบข้อมูลทุกอย่างอีกครั้งถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นซ้ำซ้อนกับโครงการอื่น ๆ ที่สภาพัฒน์ให้พิจารณา

ในเบื้องต้นมีจัดลำดับความสำคัญทั้ง 7 เส้นทางได้แล้ว ลำดับที่ 1 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ลำดับที่ 2 ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ลำดับที่ 3 ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ลำดับที่ 4 ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ลำดับที่ 5 ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ลำดับที่ 6 ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ และลำดับที่ 7 ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ขณะที่ทางคู่สายใหม่ช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท และช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงิน 85,345 ล้านบาท คาดว่าจะประมูลกลางปี 2564

รีวิวใหม่ดอนเมือง เฟส 3

ด้าน ร.ท.สัมพันธ์ ขุทรานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าการลงทุนพัฒนาสนามบินดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงิน 38,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างเสนอแผนงานโครงการให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ในวันที่ 9 ก.ย.นี้

“ต้องเสนอแผนเข้าไปที่ กบร. เพราะมีข้อกังวลรายงาน EIA หากแผนการก่อสร้างสนามบินดอนเมือง เฟส 3 มีศักยภาพสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 40 ล้านคนต่อปี อาจจะต้องพิจารณา EIA ใหม่อีกครั้ง และสภาพัฒน์มีความคิดเห็นว่า การพยากรณ์และคาดการณ์ต่าง ๆ ควรจะปรับใหม่ หลังประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสถานะทางการเงินของ ทอท.ที่มีแนวโน้มจะขาดทุนในปีนี้ จึงอยากให้ดำเนินการทุกอย่างอย่างรอบคอบ”

บิ๊ก ทอท.ย้ำโควิดไม่กระทบ

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กล่าวว่า แผนการลงทุนระยะยาว 5-10 ปี วงเงิน 388,110 ล้านบาท พัฒนา 6 สนามบิน ในความรับผิดชอบของ ทอท. ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่ รวมถึงการก่อสร้างสนามบินภูเก็ต และเชียงใหม่แห่งที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารให้ได้ 243.7 ล้านคน/ปี ยังคงเดินหน้าโครงการเหมือนเดิม

แม้ปัจจุบันโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผู้โดยสารปี 2563 ลดลงเหลือ 38.81 ล้านคน/ปี จากปี 2562 อยู่ที่ 143.01 ล้านคน/ปี แต่กว่าการก่อสร้างจะเสร็จ ปริมาณผู้โดยสารคงจะกลับมาเป็นปกติ ในปี 2564 คาดว่าอยู่ที่ 55 ล้านคน/ปี ปี 2565 เปิดสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 อยู่ที่ 128.64 ล้านคน/ปี ปี 2566 อยู่ที่ 150.61 ล้านคน/ปี

“ตอนนี้มีกระแสเงินสด 50,000 ล้านบาท ที่จะนำมาลงทุน หากไม่พอ แต่เมื่อเห็นว่าเป็นโครงการที่คุ้ม จะกู้เงินมาลงทุน ก่อนหน้ามีโควิด เราลงทุนไม่ทันกับการเติบโตของผู้โดยสาร ตอนนี้ทำให้เราต้องเร่งลงทุน รับกับการพลิกฟื้นกลับเข้าสู่สภาวะปกติในเดือน ต.ค. ปี 2565”