สร้าง 2 ปี 6 เดือน คันทางไฮสปีดไทย-จีน ช่วง “กลางดง-ปางอโศก” 3.5 กม.

กรมทางหลวงดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 1 กลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. แล้วเสร็จ ใช้เวลา 2 ปี 6 เดือน ส่งมอบให้รถไฟ ก.ย.นี้ ชูเป็นต้นแบบของโครงการในช่วงต่อๆ ไป

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย รองอธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตามที่กรมทางหลวงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ช่วงที่ 1 กลางดง-ปางอโศก กม.150+500 – 154+000 ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นไปตามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมทางหลวง กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยให้กรมทางหลวงดำเนินการก่อสร้างให้

ประกอบด้วยงานหลักๆ 5 งาน ได้แก่ งานย้ายรางรถไฟเดิม งานดินตัดและงานถมวัสดุในหน้าตัดคันทางรถไฟความเร็วสูง งานชั้นวัสดุ Top Layer หรืองานบดอัดวัสดุก่อนงานวางรางและหินโรยทาง งานคอนกรีตประกอบคันทางรถไฟความเร็วสูง และงานถนนบริการขนานกับคันทางรถไฟความเร็วสูง ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร นั้น

อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย
อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย

ปัจจุบันกรมทางหลวงได้ดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ 100% และคาดว่าจะส่งมอบงานให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ภายในเดือนกันยายน 2563 โดยโครงการนี้จะถือเป็นต้นแบบในการดำเนินงานในช่วงต่อไปของโครงการรถไฟความเร็วสูง

เพื่อให้ทราบถึงกระบวนการทำงาน คุณภาพของวัสดุ ทำให้สามารถใช้วัสดุภายในประเทศให้มากที่สุด ซึ่งกรมทางหลวงได้ปรับปรุงคุณภาพวัสดุ เช่น คอนกรีต เหล็กเส้น และงานชั้นวัสดุ Top Layer ให้มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานรถไฟความเร็วสูง

รองอธิบดีกรมทางหลวง กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 1 กลางดง-ปางอโศก ใช้เวลาดำเนินการทั้งสิ้น 2 ปี 6 เดือน ซึ่งใช้เวลาในการก่อสร้างค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องใช้กระบวนการทำงานของกรมทางหลวงเองมาประยุกต์ให้เข้ากับกระบวนการทำงานของรถไฟความเร็วสูง โดยผู้ควบคุมงานจากประเทศจีน

ซึ่งทางกรมทางหลวงได้ทำงานควบคู่กับการศึกษาและเรียนรู้ เพื่อให้สามารถใช้วัสดุภายในประเทศให้ได้มากที่สุด และที่ผ่านมาได้นำเข้าวัสดุจากประเทศจีน 2 รายการ ได้แก่ ผ้าใบกันความชื้น และสายดิน คิดเป็น 2% ของมูลค่าก่อสร้างรวมทั้งหมด

นอกจากนี้ กรมทางหลวงยังได้จัดทำคู่มือการก่อสร้างคันทางรถไฟความเร็วสูง ตามประสบการณ์การทำงานกับผู้ควบคุมจากประเทศจีน เพื่อให้ความรู้กับผู้ที่สนใจหรือผู้รับจ้างอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง จะช่วยเสริมสร้างโครงข่ายการคมนาคมของประเทศรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการคมนาคมขนส่งถึงประเทศจีน อีกทั้งยังเป็นการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อเดินหน้าประเทศไทยอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน