เวนคืน “นิมิตรใหม่-ลำลูกกา-นครนายก-สระบุรี” ตัดด่วนใหม่ 8 หมื่นล้าน

กทพ.เซ็นจ้างที่ปรึกษา380 ล้านออกแบบรายละเอียดสร้างทางด่วนสายใหม่ ต่อขยายทางด่วนฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระยะทาง 104 กม. ใช้เวนคืนและก่อสร้างกว่า 8 หมื่นล้าน ตอกเข็มปี’65

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 5 ต.ค.2563 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)ได้เซ็นสัญญาจ้าง บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอพซิลอน จำกัด ออกแบบรายละเอียด โครงการทางด่วนสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระยะทาง 104.7 กม. วงเงินก่อสร้าง 80,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งทางด่วนสายนี้จะเป็นทางเลือกหนึ่งในการเดินทางของประชาชน

เริ่มสร้างปี’65-68

“หลังศึกษาแล้ว จะเป็นขั้นตอนทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ตามแผนจะเริ่มสร้างในปี 2565 ใช้เวลา 3 ปี สร้างเสร็จในปี 2568 จะเก็บค่าผ่านทางรถ 4 ล้อ อัตราเริ่มต้น 25 บาท ตลอดสาย 190 บาท และให้นำเทคโนโลยีM-Flow มาใช้เพื่อแก้ปัญหารถติดหน้าด่าน ”

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเดินทางจากกรุงเทพฯไปยังจ.ปทุมธานี นครนายก และสระบุรี จะใช้ถนนพหลโยธิน และ ถนนรังสิต-นครนายก เป็นเส้นทางหลัก ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณการจราจรหนาแน่น เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักสู่ภาคกลางตอนบน และภาคอีสาน

เปิดโผแนวเส้นทาง

รวมทั้งมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ตลอดแนวเส้นทาง และยังมีปริมาณรถบรรทุกขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความล่าช้า ในการเดินทาง โดยเฉพาะวันหยุดและเทศกาลจะเกิดการจราจรติดขัดตลอดแนวเส้นทาง จึงมีแผนก่อสร้างต่อขยายทางด่วนฉลองรัชออกไป เป็นทางเลือการเดินทาง

จะสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร แนวเส้นทางเริ่มต้นเชื่อมต่อที่ด่านจตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ตัดผ่านถนนหทัยราษฎร์และถนนนิมิตใหม่ ถนนลำลูกกา บริเวณ กม. 22+500 ทางหลวงชนบท นย. 3001 ถนนรังสิต-นครนายก บริเวณ กม. 59+800

จากนั้นขึ้นไปทางทิศเหนือ ตัดผ่านถนนสุวรรณศรและถนน3222 เชื่อมต่อมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมาและทางเลี่ยงเมืองสระบุรี สิ้นสุดโครงการที่ถนนมิตรภาพบริเวณ กม. 10+700 อ.แก่งคอย จ.สระบุรี

ตลอดเส้นทางมีทางขึ้น-ลง 9 แห่ง คือ 1. ถนนวงแหวนรอบนอกฯ 2. ถนนหทัยราษฎร์ 3. ถนนลำลูกกา 4. ทางหลวงชนบท นย. 3001 (องครักษ์) 5. ถนนรังสิต-นครนายก (บางอ้อ) 6. ถนนสุวรรณศร (บ้านนา) 7. มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา8. ทางเลี่ยงเมืองสระบุรี 9. ถนนมิตรภาพ และมีจุดพักรถ (Rest Area) 1 จุด บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบางอ้อและจุดบริการ 2 แห่ง

เวนคืน 7.3 พันล้าน

ทั้งโครงการจะใช้เงินลงทุน 80,594 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืนที่ดิน 7,395 ล้านบาท เนื่องจากแนวเส้นทางตัดผ่านพื้นที่ใหม่และค่าก่อสร้าง 73,198 ล้านบาทเนื่องจากเป็นการก่อสร้างยกระดับตลอดสายทาง โดยการลงทุนจะใช้เงินของกทพ.มาก่อสร้างเอง

“สัญญางานจ้างออกแบบรายละเอียดแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1บริเวณจุดเชื่อมต่อทางด่วนฉลองรัชถึงนครนายก และระยะที่ 2 จากนครนายกถึงสระบุรี วงเงิน 380 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 540 วัน“ นายสุรเชษฐ์กล่าว

มอบนโยบายบอร์ดเร่ง 7 เรื่อง

นายศักดิ์สยามยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมอบนโยบายใหัคณะกรรมการ(บอร์ด)กทพ.ชุดใหม่มีนายสรพงศ์ ไพฑูรพงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ใน 7 เรื่อง

1.แก้ปัญหาการจราจรทั้งระบบเป็นภารกิจของกทพ.ให้ประชาชนเดินทางสะดวกปลอดภัย ประหยัดเวลาค่าใช้จ่ายโดยรวมได้

2.การเร่งรัดโครงการต่างๆ ติดตามกำกับดูแลให้ดี ไม่ให้เกิดความล่าช้าเป็นภาระงบประมาณ ซึ่งหลายโครงการของกทพ.ใช้เงินกองทุนมาก่อสร้าง จะมีภาระเรื่องดอกเบี้ย

3.การบริหารโครงการ อย่างกรณีสร้างทางด่วนพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ให้นำการบริหาร 5 มิติมาดำเนินการ เช่น การเปิดการจราจรก่อสร้าง ต้องลงติดตามงานต่อเนื่องทุกวัน

4.ให้บอร์ดดูเรื่องการบริหารบิ๊กดาต้ามาใช้วางแผนก่อสร้าง การบริหารจัดการจราจร เช่น ใช้โดรน มีศูนย์ปฎิบัติการ

5.ดูเรื่องเทคโนโลยีที่ใช้บริหารจัดการจราจร โดยไม่ต้องใช้บุคลากรมาก และทำงานร่วมกับกรมทางหลวง ตำรวจ และกรุงเทพมหานคร(กทม.) นอกจากM-Flowแล้ว

6.ให้ดูยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี นโยบายรัฐบาล กระทรวง วางเรื่องโลจิสิตกส์ยังไง เพื่อวางแผนการทำงานต่อไป
และ7.ดูเรื่องระเบียบ กฎหมายให้ครบถ้วน ยึดหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ และประชาสัมพันธ์โครงการอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อให้ประชาชนได้เห็นและรับรู้