โควิดทุบโรงแรมใหม่ทั่วกรุง เลื่อนเปิด-สงครามราคาลากยาว

Mladen ANTONOV / AFP

วิบากกรรมโรงแรมหรู ! สะดุดพิษโควิด-19 เฉพาะกรุงเทพฯ สร้างเสร็จพร้อมเปิดบริการปีนี้กว่า1.3 พันห้อง มูลค่า 5.3 หมื่นล้าน แห่ขยับไทม์ไลน์เปิดบริการ สมาคมโรงแรมไทยยันโรงแรมหรูเมืองกรุงล้นทะลัก ค่ายใหญ่วางแผนลงทุนต่อเนื่อง ชี้ปัญหาลากยาวอีก 2-3 ปี ลูกค้าหลักกว่า 80% เป็นต่างชาติยังไม่กลับมา จับตาสงครามราคาท่วม ทุกค่ายดัมพ์หนักดึงคนไทยเข้าพัก

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโรงแรมอย่างหนัก โดยเฉพาะในโรงแรมกลุ่มระดับลักเซอรี่ (โรงแรมหรู) โดยช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้มีการลงทุนก่อสร้าง และเริ่มทยอยเปิดบริการในปี 2563 โดยขณะนี้พบว่าโรงแรมระดับลักเซอรี่ในกรุงเทพฯ ไม่ต่ำกว่า 6-8 แห่งที่กำลังเผชิญความท้าทายอย่างมากในภาวะที่อุปสงค์ (ดีมานด์) ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงจากผลกระทบของโควิด

ห้องพักโรงแรมหรูพุ่ง 1.2 หมื่นห้อง

โดยภาพรวมซัพพลายโรงแรมระดับลักเซอรี่ในกรุงเทพฯ ในครึ่งปีแรก 2563 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 12,269 ห้อง มีโครงการเปิดบริการใหม่ 2 แห่งในพื้นที่ย่านลุมพินีและสุขุมวิท จำนวน 687 ห้องพัก และมีโรงแรมอยู่ระหว่างการก่อสร้างและจะทยอยเปิดบริการอีก 6 แห่ง จำนวน 1,329 ห้องพัก ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่พัฒนาโดยบริษัทรายใหญ่ในตลาด

อาทิ โครงการเดอะ เรสซิเดนซ์ แอท สินธร เคมปินสกี้ โฮเทล แบงค็อก มูลค่าโครงการ 9,000 ล้านบาท และสินธร เคมปินสกี้ โฮเทล แบงค็อก มูลค่าโครงการ 7,000 ล้านบาท พัฒนาโดย บจ.สยามสินธร, โครงการโอเรียนท์ เอ็กซ์เพรส กรุงเทพฯ มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท พัฒนาโดยกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์, คาเพลล่า กรุงเทพฯ และโครงการโฟร์ซีซั่นส์ โฮเต็ล แบงค็อก แอท เจ้าพระยาริเวอร์ มูลค่าโครงการ 32,000 ล้านบาท ซึ่งพัฒนาโดย บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ เป็นต้น (ดูตารางประกอบ)

โดยบางโรงแรมมีการปรับแผนการเปิดให้บริการ และเลื่อนเปิดให้บริการออกไปเป็นในช่วงปลายปี จากเดิมวางแผนเปิดบริการในช่วงครึ่งปีแรก 2563 ซึ่งแผนการเปิดดังกล่าวนั้นยังอยู่บนเงื่อนไขอาจต้องทบทวนแผนเปิดบริการอีกครั้งหากการแพร่กระจายโรคระบาดโควิดทั่วโลกยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

“ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมควรเน้นบริหารจัดการการลดต้นทุนให้น้อยที่สุดในช่วงนี้ เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้ หากผู้ประกอบการรายใดไม่สามารถปรับตัวรับได้ทันท่วงทีอาจส่งผลให้ต้องปิดกิจการลง และจะต้องเร่งปรับตัวโดยให้ความสำคัญกับสุขอนามัยรวมถึงมาตรการคัดกรองและดูแลด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามา รวมถึงเตรียมความพร้อมบุคลากรและการปฏิบัติตัวหลังจากธุรกิจกลับมาเปิดบริการอีกครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดรอบ 2 ในประเทศไทย” นายภัทรชัยกล่าว

6 โรงแรม 1.3 พันห้องจ่อเปิดตัว

นายภัทรชัยกล่าวว่า สำหรับโรงแรมระดับลักเซอรี่ที่เพิ่งเปิดบริการใหม่ไป 2 แห่ง ประกอบด้วย โรงแรมคิมป์ตัน มาลัย กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บริเวณใจกลางทำเลหลังสวนติดกับสวนลุมพินีที่ถือเป็นหนึ่งในสวนสาธารณะใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ จำนวน 349 ห้อง กับโรงแรมคาร์ลตัน กรุงเทพ สุขุมวิท กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงแรมคาร์ลตันแห่งแรกของประเทศไทย บนถนนสุขุมวิทระหว่างซอย 27 – ซอย 29 จำนวน 338 ห้องพัก ซึ่งทั้ง 2 โรงแรมได้มีการเปิดให้จองห้องพักล่วงหน้าตั้งแต่ต้นปี 2563 ก่อนยุคโควิดในไทย

นอกจากนี้ยังมีโรงแรมใหม่อีก 6 แห่งที่คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 นี้ โดยทั้ง 6 แห่งนี้มีจำนวนรวม 1,329 ห้องพัก มูลค่าลงทุนรวม 53,000 ล้านบาท ได้แก่ 1.เดอะ เรสซิเดนซ์ แอท สินธร เคมปินสกี้ โฮเทล แบงค็อก จำนวน 231 ห้องพัก, โอเรียนท์ เอ็กซ์เพรส กรุงเทพมหานคร 154 ห้องพัก, คาเพลล่า กรุงเทพฯ 101 ห้องพัก, สินธร เคมปินสกี้ โฮเทล แบงค็อก 285 ห้องพัก, โฟร์ซีซั่นส์ โฮเต็ล แบงค็อก แอท เจ้าพระยาริเวอร์ 299 ห้องพัก และชไตเกนเบิร์กเกอร์ โฮเทล ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ 259 ห้องพัก

“ลึก ๆ แล้วโรงแรมลักเซอรี่เปิดใหม่คาดการณ์ว่าจะยังคงเปิดตัวตามแผนเดิมที่วางไว้ในเดือนตุลาคม ซึ่งถือว่าเริ่มเข้าฤดูการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทย”

นักท่องเที่ยวต่างประเทศหยุดเดินทาง

นายภัทรชัยกล่าวต่อไปอีกว่า จากการเก็บข้อมูลของคอลลิเออร์สฯ พบด้วยว่าช่วงพีกโควิดในเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2563 ยอดจองและรายได้ค่าห้องพักหายไปมากกว่า 50% ส่งผลกระทบรุนแรงต่อโรงแรมทั้งโรงแรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องแบกรับต้นทุนค่อนข้างสูงในขณะที่ยอดจองห้องพักแทบจะเป็นศูนย์ในช่วงของการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นม

าโดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในช่วงครึ่งปีแรก 2563 เหลือเพียง 6,691,574 คน เทียบกับครึ่งปีแรก 2562 ที่มีจำนวน 19,769,347 คน ปรับลดลง -66.15% รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงมาอยู่ที่ 332,013 ล้านบาท ลดลง -65.15%

ปัจจัยลบดังกล่าวกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาปรับลดตัวเลขคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างประเทศเหลือ 8 ล้านคน จากเดิมมองไว้ที่ 40 ล้านคน หรือหายเกิน 80% กระทบต่อแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคนที่อาจถูกเลิกจ้างหรือว่างงาน

อัตราเข้าพักหาย-รูมเรตร่วง

สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมในภาพรวมทุกระดับในกรุงเทพฯ ณ ครึ่งปีแรก 2563 อยู่ที่ 32.63% ปรับลดลง -52.72% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 85.35% โดยอัตราเข้าพักเฉลี่ยโรงแรมลักเซอรี่อยู่ที่ 35% ลดลง -38% โดยไตรมาส 1/63 อัตราการเข้าพักยังสูงกว่า 50% เนื่องจากเป็นฤดูท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อัตราการเข้าพักเริ่มลดลงช่วงไตรมาส 2/63 จากการปิดกิจการของธุรกิจโรงแรม หรือบางโรงแรมเลือกหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อลดค่าใช้จ่ายรอให้ตลาดฟื้นตัว

“ผู้ประกอบการโรงแรมอาจใช้โอกาสนี้ปรับปรุงโรงแรมซึ่งจะช่วยให้สามารถยกระดับราคาเฉลี่ยที่พักรายวัน หรือ ADR ในระยะยาวได้ อย่างน้อยก็ดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้นท่ามกลางการแข่งขันสูงในกรุงเทพฯ” นายภัทรชัยกล่าว

และว่า ทั้งนี้ คอลลิเออร์สฯ คาดการณ์ว่าการควบคุมและป้องกันแพร่ระบาดโควิด-19 ของไทยที่ได้รับคำชมทั่วโลก รวมถึงมีมาตรการดูแลรักษาผู้ติดเชื้ออย่างดี จะทำให้หลายประเทศมองว่าไทยปลอดภัยและน่าท่องเที่ยวหากสถานการณ์ดีขึ้น เป็นปัจจัยบวกสำคัญทำให้ตลาดท่องเที่ยวและโรงแรมกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ทั้งนี้ ช่วงครึ่งปีแรก 2563 ราคาห้องพักรายวันเฉลี่ย (ADR) ของโรงแรมลักเซอรี่ในกรุงเทพฯ ปรับลดลงมาอยู่ที่ 4,800 บาท เนื่องจากแข่งขันแย่งลูกค้านักท่องเที่ยวในประเทศทดแทนปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป บางรายปรับลดทั้งราคาห้องพัก-อาหาร 50%

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรวมถึงผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเตรียมพร้อมที่ดีรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามา ในด้านผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องเร่งปรับตัวให้ความสำคัญกับสุขอนามัยรวมถึงมาตรการคัดกรองและดูแลด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยว รวมถึงเตรียมความพร้อมบุคลากรและการปฏิบัติตัวหลังจากธุรกิจกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดโควิดกลับมารุนแรงอีกครั้ง

รร.หรูซัพพลายล้นลากยาว 3 ปี

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอมรับว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ประกาศแผนลงทุนโรงแรมระดับลักเซอรี่อย่างต่อเนื่อง และเริ่มทยอยเปิดตัวเป็นระยะ โดยเฉพาะในปี 2563 นี้กลุ่มทุนรายใหญ่ยังเดินหน้าลงทุนต่อ มีโรงแรมหลายแห่งที่ก่อสร้างเสร็จและพร้อมจะเปิดให้บริการ แต่ยังเปิดไม่ได้ เพราะประเทศยังไม่มีนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอย่างชัดเจน จึงจำเป็นต้องชะลอแผนการเปิดให้บริการไปก่อน

“แน่นอนว่าเมื่อโครงการสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ทำให้ผู้ประกอบการเสียโอกาสทางธุรกิจ ในทางกลับกันก็ต้องทำใจเพราะไม่มีใครอยากมีต้นทุนการบริหาร ในขณะที่ยังมองไม่เห็นรายได้” นางมาริสากล่าว

และว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในขณะนี้คือ ปรากฏการณ์โอเวอร์ซัพพลายในกลุ่มโรงแรมหรูในกรุงเทพฯ ซึ่งเดิมทีเดียวก็มีจำนวนมากกว่า 10,000 ห้อง ปีนี้เตรียมเปิดอีกกว่า 1,000 ห้อง ซึ่งจะเป็นการเติมให้ตลาดยิ่งโอเวอร์ซัพพลายมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ส่วนตัวประเมินว่าน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีกว่าสถานการณ์จะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ มีดีมานด์เข้ามาเพียงพอสำหรับการทำธุรกิจโรงแรมเต็มรูปแบบได้

สงครามราคาท่วมตลาด

นางมาริสากล่าวด้วยว่า จากแนวโน้มว่าตลาดโรงแรมหรูกรุงเทพฯ จะเข้าสู่ภาวะโอเวอร์ซัพพลายที่สูงขึ้นนี้จะนำไปสู่การแข่งขันด้านราคา (ไพรซ์วอร์) ที่สูงขึ้นด้วย เนื่องจากดีมานด์ที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งยังมีเฉพาะตลาดคนไทยนั้นยังไม่สามารถตอบสนองซัพพลายที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในขณะนี้ และที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตอีก 2-3 ปีข้างนี้ อาทิ โครงการใหม่ของดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค (250 ห้อง), วัน แบงค็อก (1,100 ห้อง) รวมถึงโรงแรมในโครงการเดอะ เอเชียทีค ริเวอร์ฟร้อนซ์ อีกจำนวนหนึ่งด้วย

“เมื่อมีซัพพลายใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก ที่สำคัญเศรษฐกิจทั่วโลกยังมีปัญหา แต่ดีมานด์ยังไม่กลับมา สงครามราคาเกิดขึ้นหนักแน่นอน อย่างไรก็ตาม โรงแรมในกลุ่มลักเซอรี่นี้ก็น่าจะเป็นกลุ่มที่กลับมาฟื้นตัวได้เป็นอันดับแรก เนื่องจากกลุ่มคนมีกำลังซื้อจะกลับมาเดินทางท่องเที่ยวเป็นอันดับแรก ๆ ก่อนเช่นกัน” นางมาริสากล่าว

โรงแรม กทม.ยังเปิดแค่ 50-60%

นางมาริสากล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ปัจจุบันโรงแรม (ถูกกฎหมาย) ในกรุงเทพฯ เปิดให้บริการแล้วประมาณ 50-60% ของจำนวนทั้งหมด ซึ่งโรงแรมที่เปิดให้บริการส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้เปิดเต็มรูปแบบ โดยเปิดให้บริการแค่บางส่วนเท่านั้น อาทิ ห้องอาหาร, ห้องประชุม ฯลฯ หรือห้องพักบางส่วน เนื่องจากดีมานด์ในตลาดยังไม่กลับมา และกลุ่มลูกค้าหลักของโรงแรมในกรุงเทพฯนั้นมากกว่า 80% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“ตอนนี้ทุกโรงแรมที่เปิดให้บริการอยู่ไม่น่าจะมีใครที่คุ้มทุน ขณะที่การจ้างงานก็ยังกลับมาได้แค่บางส่วนเท่านั้น แต่เราจำเป็นต้องเปิดเพราะเราต้องรักษาพนักงานของเราไว้ รวมทั้งทำให้ลูกค้ารู้ว่าเรายังอยู่ในตลาด และไม่หนีเราไปไหน” นางมาริสากล่าว

โรงแรมหรูเปิดใหม่ปีละ 800 ห้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมากลุ่มทุนใหญ่ให้ความสนใจและทยอยลงทุนในธุรกิจโรงแรมระดับลักเซอรี่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก โดยตั้งแต่ปี 2555 มีโรงแรมเปิดใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ปีละประมาณ 800 ห้อง

ทั้งนี้ เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ติดอันดับจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวมากกว่า 20 ล้านคน