ยกแรก 2 บิ๊กชิง “สายสีส้ม” ปัญหาซ้ำซาก “สร้างเสร็จ-ไม่มีรถวิ่ง”

ปิดรับซองประมูลไปแล้ววันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดให้เอกชนร่วมทุน PPP net cost 30 ปี

โดยให้เอกชนหาเงินลงทุน 128,128 ล้านบาท ก่อสร้างช่วงตะวันตก “บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ” กับจัดหาระบบ ขบวนรถไฟฟ้า แลกกับการรับสัมปทานเดินรถตลอดสาย โดย รฟม.ออกค่าเวนคืน 14,621 ล้านบาท สนับสนุนเงินลงทุนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท

งานนี้ไม่พลิกโผ มี 2 ยักษ์รถไฟฟ้าของไทย ควงพันธมิตรทั้งที่เปิดหน้า-อยู่เบื้องหลัง ตบเท้าชิงเค้ก

เบื้องหน้า-เบื้องหลัง BEM-BTS

รายแรกที่ยื่นซอง “บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” หรือ BEM ของ “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” ผู้รับสัมปทานสายสีน้ำเงิน และรับจ้างดินรถสายสีม่วง งานนี้ “BEM” พกความมั่นใจมาเต็มเหนี่ยว ขอโชว์เดี่ยว แต่เบื้องหลังผนึก “ช.การช่าง” บริษัทแม่ และอาจมียักษ์รับเหมาแถวหน้าร่วมซับคอนแทร็กต์งานก่อสร้าง

“วิทูรย์ หทัยรัตนา” รองกรรมการผู้จัดการปฏิบัติการและวิศวกรรมระบบราง BEM เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การมายื่นซองครั้งนี้มาในนามของ BEM ไม่ได้ร่วมกับ บมจ.ช.การช่าง อย่างไรก็ตาม BEM ต้องร่วมมือกับ ช.การช่างแน่นอน โดยน่าจะร่วมมือกันในฐานะ ช.การช่าง เป็น subcontract

“ขอไม่เปิดเผยว่าเรายื่นโดยใช้หลักเกณฑ์ใด แต่ยืนยันจัดทำข้อเสนอที่ดีที่สุดแล้ว”

อีกกลุ่มที่สู้ไม่ถอย “กลุ่มบีทีเอส” ของ คีรี กาญจนพาสน์ ที่หนีบพันธมิตรเก่ายื่นในนามกิจการร่วมค่าบีเอสอาร์ ประกอบด้วย บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น

หากชนะจะมีพันมิตร “บมจ.ราชกรุ๊ป” มาเสริมทัพ ส่วน “บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์” ยังลังเล จากก่อนหน้านี้โดดร่วมทุนงานระบบมอเตอร์เวย์ และประเมินว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ไม่ได้หอมหวน ไม่ง่ายอย่างที่คิด

แม้จะปิดยื่นซองไปแล้ว แต่กลุ่มนี้ยังกังวลลึก ๆ ว่า การประมูลจะถูกยกเลิกภายหลังหรือไม่ เมื่อการเปิดข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอการเงิน ยังติดหล่มปมร้องกรณีเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณา

ซึ่ง รฟม.ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง พร้อมยืนกรานใช้เกณฑ์ใหม่ พิจารณา “เทคนิค” ควบคู่กับ “ราคา” หลังศาลสั่งคุ้มครอง BTS ให้กลับมาใช้เกณฑ์เดิม ให้ตัดเชือกกันที่ “ราคา”

รฟม.ส่อเลื่อนเปิดซองข้อเสนอ

ล่าสุด “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า ความคืบหน้าการยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด คัดค้านคำสั่งทุเลาของศาลปกครองกลาง ขณะนี้ศาลยังไม่ได้นัดไต่สวน ต้องรอให้ศาลรับคำฟ้องก่อน ยังระบุไม่ได้ ศาลจะมีกำหนดรับคำฟ้องเมื่อไหร่

“หลังเปิดยื่นซองวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา จะต้องรอประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 วางแผนการเปิดและพิจารณาซองต่าง ๆ ก่อน ยังไม่ได้กำหนดวันที่จะประชุม ทำให้การเปิดซองที่ 1 ซองคุณสมบัติ ยังไม่แน่ว่าจะเปิดวันที่ 23 พ.ย.ได้หรือไม่”

นาทีนี้ยังต้องลุ้นว่าจะเดินหน้าต่อได้ฉลุย หรือต้องล้มกระดานประมูลใหม่ โดยใช้เกณฑ์ใหม่ตามนโยบายของ รฟม.

ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรีสร้างเร็ว

ในส่วนของงานก่อสร้างสายสีส้มตะวันออก “ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี” ที่ รฟม.กำลังก่อสร้างงานโยธา วงเงินกว่า 8 หมื่นล้านบาท ล่าสุดงานก่อสร้างทั้ง 6 สัญญา ณ เดือน ต.ค. 2563 รุดหน้า 71.38% เร็วกว่าแผน 2.41%

แยกเป็น สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างโยธาอุโมงค์ใต้ดิน ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-รามคำแหง 12 กิจการร่วมค้า CKST (บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ซิโน-ไทยฯ) เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 20,633 ล้านบาท คืบหน้า 81.59% สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างโยธาอุโมงค์ใต้ดิน ช่วงรามคำแหง 12-หัวหมาก กลุ่มกิจการร่วมค้า CKST ก่อสร้าง วงเงิน 21,057 ล้านบาท คืบหน้า 67.34%

สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างโยธาอุโมงค์ใต้ดิน ช่วงหัวหมาก-คลองบ้านม้า มี บมจ.อิตาเลียนไทยฯเป็นผู้ก่อสร้าง 18,570 ล้านบาท คืบหน้า 70.28% สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างโยธาทางยกระดับ ช่วงคลองบ้านม้า-มีนบุรี มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้าง 9,990 ล้านบาท คืบหน้า 60.36%

สัญญาที่ 5 ก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจรของกลุ่มกิจการร่วมค้า CKST วงเงิน 4,831 ล้านบาท คืบหน้า 74.93% และ สัญญาที่ 6 งานก่อสร้างระบบราง บมจ.ยูนิคฯเป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 3,690 ล้านบาท คืบหน้า 68.47%

รอเคาะสัมปทานเดินรถ

ทั้ง 6 สัญญาจะแล้วเสร็จปลายปี 2565 แต่พร้อมเปิดบริการในปี 2567 เพราะต้องรอสัมปทานระบบอาณัติสัญญาณ และขบวนรถที่กำลังประมูล ซึ่งเอกชนจะใช้เวลา 2 ปี ออกแบบระบบ และสั่งผลิตรถ

ถ้าเริ่มต้นในปี 2564 น่าจะเปิดใช้ได้ปี 2567 แต่ถ้าถูกลากยาว ไทม์ไลน์อาจเลื่อนอีก ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เคยขยับกรอบเวลามาแล้ว จากเป้าเดิมเปิดในปี 2566

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้น หากยังไม่ได้เอกชนมารับสัมปทาน คือ ค่าดูแลโครงสร้าง หรือ care of work ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จล่วงหน้า 2 ปี

แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวว่า ที่ต้องควักจ่ายจะเป็นค่าดูแลงานที่ทำแล้วเสร็จ ช่วงรอผู้รับสัมปทานเดินรถเข้ามาติดตั้งงานระบบเดินรถ งานที่เป็นส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น ห้องจ่ายระบบตั๋วโดยสาร ประตูเปิดปิดขึ้นลงรถไฟฟ้า ห้องเครื่อง ระบบอาณัติสัญญาน ระบบควบคุมอื่น ๆ เบ็ดเสร็จเป็นค่าใช้จ่ายปีละ 300-400 ล้านบาท

“สุดท้ายต้องทดสอบการเดินรถร่วมกันทั้งหมด เรียกว่า system integrate ผู้รับเหมาจึงจะส่งสัญญางานได้ ซึ่งถ้าได้ผู้สัมปทานช้า ผู้รับเหมาส่งมอบงานต่อไม่ได้ ก็ต้องเฝ้าดูแลรักษาให้ดีก่อนส่งมอบ”

ย้อนรอยสร้างเสร็จแต่เปิดไม่ได้

น่าห่วงว่า “รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก” จะซ้ำรอยรถไฟฟ้าหลากสีในอดีต ที่โครงการสร้างเสร็จ แต่ไม่มีรถวิ่ง

ไม่ว่าสายสีแดง ช่วง “บางซื่อ-ตลิ่งชัน” ที่รันงานจนก่อสร้างเสร็จมา 8 ปีแล้ว ถึงขณะนี้ยังรอขบวนรถไฟฟ้ามาวิ่ง เป็นเพราะ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” นำงานระบบและจัดซื้อขบวนรถแพ็กรวมกับสัญญา 3 ของช่วง “บางซื่อ-รังสิต” ที่มาช้ากว่ากำหนดหลายปี

ขณะที่งานระบบและจัดซื้อรถ ติดหล่มประมูลอยู่ 4 ปี กว่าจะเคาะใช้รถญี่ปุ่น และเซ็นสัญญาเมื่อปี 2559

ตอนนี้ ร.ฟ.ท.ต้องเสียเงินปีละหลายสิบล้านบาท ดูแลทรัพย์สิน แถมต้องควักเงินอีก 140 ล้านบาท จ้างผู้รับเหมาบูรณะโครงสร้างสถานี ระบบลิฟต์ และระบบต่าง ๆ รอวันนับถอยหลังเปิดใช้บริการพร้อมช่วง “บางซื่อ-รังสิต” ภายในปี 2564

ไม่ต่างจาก “สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย” ช่วง “บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค” ที่สร้างเสร็จกลายเป็นรถไฟฟ้าฟันหลอ การเดินรถขาดช่วง 1 สถานี จากบางซื่อ-เตาปูน เกิดจาก “สายสีม่วง” ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่สร้างเสร็จเปิดใช้ก่อน

ขณะที่ “สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย” แม้จะสร้างเสร็จ แต่ยังติดหล่มปมคัดเลือกเอกชนมาเดินรถ ที่รัฐ-เอกชนชักเย่อกันอยู่กว่า 2 ปี จะเจรจาตรงรายเดิมหรือประมูลใหม่ จนรัฐบาล คสช.ต้องงัด ม.44 มาสางปมถึง 2 ครั้ง กว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีม่วงจะเชื่อมกันติด

ครั้งนั้น “รฟม.” ต้องจัดงบประมาณปีละ 240 ล้านบาท ดูแลโครงสร้างของสายสีน้ำเงิน

แถมเจียดเงินอีกก้อนเป็นค่าชดเชยผู้รับเหมา 800-1,000 ล้านบาท ที่ขอขยายเวลาจากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ไม่รวมที่ต้องจ้าง “ขสมก.” นำรถเมล์มาวิ่งเป็น “ฟีดเดอร์” รับส่งคน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ล่าสุด “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” กำลังจะกลายเป็นภาระ และมีแนวโน้มจะเป็นปัญหาให้ตามแก้กันอีกหลายปี