พันธมิตร CECI ลงแขก “ขยะก่อสร้าง” พลิกโฉมไทยสู่ Green&Clean Construction

ได้เวลาเศรษฐกิจหมุนเวียนและเทคโนโลยีบุกลึกถึงไซต์ก่อสร้าง

“เราสร้างอาคารที่สวยงามเสร็จแล้ว แต่กลับมีขยะอีกกองหนึ่งตั้งอยู่ หากสามารถบริหารจัดการเศษวัสดุเหล่านี้ได้ งานก่อสร้างทั้งหมดก็จะสวยงามอย่างสมบูรณ์แบบ” คำกล่าวของ “ประภากร วทานยกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด หนึ่งในพันธมิตรของ CECI

คำถามคือ CECI เป็นใคร มาจากไหน ?

“นิธิ ภัทรโชค” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ในฐานะองค์กรต้นแบบผลักดัน “เครือข่ายความร่วมมือองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ CECI-Circular Economy in Construction Industry” ที่เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำในธุรกิจก่อสร้าง

ให้ความกระจ่างว่า CECI มีจุดเริ่มต้นจากการระดมความคิดที่ถูกจุดประกายในงาน “SD Symposium” ที่จัดขึ้นโดยเอสซีจี ได้ค่อย ๆ ก่อตัวเป็นรูปธรรม หลักการใหญ่คือหยิบโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) มาใช้ในกระบวนการทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ในวงการก่อสร้าง เป้าหมายเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

pain point ในไซต์ก่อสร้างเป็นปัญหาเดิม ๆ จากผู้เกี่ยวข้องในซัพพลายเชน “ต่างคนต่างทำงาน” ไม่มีการพูดคุยจนทำให้เกิดเศษวัสดุเหลือใช้ แถมใช้พลังงานมากเกินจำเป็นอีกต่างหาก

การสร้างความร่วมมือให้ทุกฝ่ายนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ จึงต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีเศษวัสดุเหลือใช้น้อยที่สุด มีการใช้สินค้าให้ประหยัดและคุ้มค่า บรรทัดสุดท้ายคาดหวังเป็นตัวช่วยลดต้นทุนและประหยัดทรัพยากรไม่ต่ำกว่า 20%

“CECI กำลังพยายามเผยแพร่แนวคิดและผลักดันให้กลุ่มนี้ขยายวงกว้างขึ้นในระดับประเทศ มุ่งสู่การดำเนินอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green construction) ทั้งที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐาน”

ขณะที่ “กิตติพงษ์ ศิริลักษณ์ตระกูล” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานก่อสร้างอาคารสูง บมจ.ศุภาลัย จำกัด เป็นตัวแทนดีเวลอปเปอร์ผู้พัฒนาโครงการ ระบุว่าบทบาทไม่เพียงแต่เป็นตัวกลางมือประสานสิบทิศในการกำหนดซัพพลายเชนทั้งสถาปนิก-ผู้รับเหมา

ยังมีสิ่งสำคัญคือการเผยแพร่โครงการต้นแบบ (best practice) ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์สู่สาธารณะ เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูล สำหรับการพัฒนาให้เกิดระบบและโครงการอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ขณะที่ “เกชา ธีรโกเมน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด ในฐานะวิศวกรออกแบบและที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างต่าง ๆ กล่าวว่า ความร่วมมือในกลุ่ม CECI ถือเป็นการเริ่มต้นเพื่อสร้างการยอมรับ ขยายเครือข่ายพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ในวงการก่อสร้าง

“คำถามว่าทำไมต้องทำ เป็นคำถามที่ตอบยากเสมอมา เพราะหลายคนรู้สึกว่าทำไมเราต้องเป็นคนแรกที่ต้องทำ แม้เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก ต้องใช้ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น และพลัง ทำคนเดียวจึงไม่รอด แต่การที่มีกลุ่ม CECI จะเป็นพลังช่วยกันขับเคลื่อนสร้างความเข้าใจและการยอมรับ ต่อไปหากมีนวัตกรรมหรือการออกแบบเพื่อความยั่งยืน ก็จะทำให้เจ้าของโครงการหรือผู้พัฒนาโครงการกล้าที่จะลงมือทำ”