เปิดใจ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ไฮสปีด EEC คือการเดิมพันประเทศ

สัมภาษณ์พิเศษ

หลัง “เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือ ซี.พี. จับมือพันธมิตรไทยและต่างชาติ ตั้งบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท เซ็นปิดดีลสัมปทาน 50 ปี โครงการประวัติศาสตร์ “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่า 224,544 ล้านบาท กับ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562

ถึงปัจจุบันโครงการเดินหน้าไปได้มากน้อยแค่ไหน ยังคงเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก ถึงความสำเร็จของโครงการ ด้วยเป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูง ยิ่งได้ยักษ์ใหญ่ธุรกิจมาลงทุนขับเคลื่อนโปรเจ็กต์ ยิ่งทำให้เป็นที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ถึงการพัฒนาโครงการ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่เหมือนเดิม หลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19

Q : ความคืบหน้าไฮสปีดเทรน

ยังอยู่ในกำหนดเวลา ทำงานคู่ขนานทั้งการออกแบบรายละเอียดก่อสร้าง การจัดหาแหล่งเงินลงทุนโครงการ และการรอส่งมอบพื้นที่จากภาครัฐ ถ้าส่งมอบพื้นที่ได้ก็เริ่มก่อสร้างได้เลย แต่จะไม่รับมอบพื้นที่เป็นฟันหลอ เพราะถ้าสร้างไปแล้วขาดตอนก็วิ่งรถไฟไม่ได้

ตามแผนรัฐแบ่งส่งมอบพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ช่วงสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ตลิงก์เดิม 2.ช่วงสถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เดิมเร่งรัดให้เสร็จใน 1 ปี 3 เดือน หรือใน 2 ปี และ 3.ช่วงสถานีพญาไท-ดอนเมือง เร่งรัดใน 2 ปี 3 เดือน หรือภายใน 4 ปี ขณะนี้ทำงานร่วมกับภาครัฐและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี

Q : ปีหน้าจะครบกำหนดเวลาส่งมอบพื้นที่และแอร์พอร์ตลิงก์

เป็นไปตามสัญญาว่ารัฐจะมีการส่งมอบพื้นที่เป็นเฟส ๆ ซึ่งการส่งมอบพื้นที่น่าจะไม่เกินไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ถือว่ายังอยู่ในกำหนดเวลาอยู่แล้ว แต่เราก็กังวลถ้าส่งมอบพื้นที่เป็นฟันหลอ เราก็ไม่กล้าลงมือ ทางเจ้าหนี้ที่เราไปกู้มาก็ไม่ให้เงินด้วย แต่ถ้าเกิดส่งมอบพื้นที่ได้ตามแผนและมีความชัดเจน อย่างแอร์พอร์ตลิงก์ ก็มีกำหนดส่งมอบในเดือน ต.ค. 2564 ตามเวลาในสัญญาเหมือนกัน อาจจะรับมอบได้ก่อน

ส่วนช่วงสุวรรณภูมิไปอู่ตะเภา ถามว่ายากขึ้นไหมในแง่ของตัวโครงการ ต้องยอมรับว่ายากขึ้นในแง่การเงิน เพราะมีผลกระทบจากโควิด การประมาณการผู้โดยสารจะเป็นอย่างไร สนามบินอู่ตะเภาจะดีเลย์หรือไม่ รายละเอียดจะผูกโยงเป็นทอด ๆ แบบนี้ แต่เราก็หารือกับอีอีซีตลอดว่า ต้องชัวร์เรื่องการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ส่วนผู้โดยสารก็จะพยายามไม่ให้กระทบมากเกินไป ซึ่งต้องค่อย ๆ ปรับไป เนื่องจากระยะเวลาการก่อสร้างให้มา 5 ปี น่าจะพ้นจากเรื่องโควิดแล้ว แต่เพราะโครงการมีสัมปทานระยะยาว 50 ปี จะคิดสั้น ๆ ไม่ได้

Q : หาแหล่งเงินลงทุนโครงการ

ยัง work out กันอยู่

Q : ปีหน้าจะใช้เงินลงทุนเท่าไหร่

มีจ่ายค่าใช้สิทธิเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671 ล้านบาท หลังเข้ารับบริหารโครงการ ส่วนเงินลงทุนก่อสร้างไฮสปีด คาดว่าน่าจะใช้เงินลงทุนประมาณระดับหมื่นล้านเช่นกัน จะเป็นไปตามระดับความก้าวหน้าของงานก่อสร้าง และการเริ่มดำเนินการแอร์พอร์ตลิงก์ที่จะต้องปรับปรุง ซึ่งตัวเลขก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปีที่ 2 ถึงปีสุดท้าย ยังระบุชัด ๆ ไม่ได้

Q : แผนปรับปรุงแอร์พอร์ตลิงก์

ต้องทำหลาย ๆ อย่าง แต่บอกไม่ได้ตอนนี้ (หัวเราะ) เพราะอยู่ในแผนที่จะต้องรับโอนโครงการจาก ร.ฟ.ท. ซึ่งอยู่ระหว่าง work Out ร่วมกันกับพันธมิตร

Q : ทำไมถึงขอย้ายสถานีรถไฟความเร็วสูงใหม่

ดูตามความเหมาะสม ตามด้านวิศวกรรม ภูมิศาสตร์ และประชากรศาสตร์ด้วย ก็ต้องไปในจุดที่สะดวกและมีผู้คนเยอะ บางที่สภาพเก่าเสื่อมโทรมมาก มีเงื่อนไขมาก เราก็ต้องดูใหม่ แต่ดีกว่าเก่าแน่นอน

Q : เป็นพื้นที่ใหม่ทั้งหมด

บางที่ก็ใช้ที่ใหม่ บางที่ก็เอาจุดเดิม แต่บอกไม่ได้ เพราะบอกเมื่อไหร่ เราจะหาพื้นที่ไม่ได้ทันที

Q : ย้ายสถานีเพราะต้องการพัฒนา TOD ที่ไม่ใช่แค่มักกะสันและศรีราชา

การพัฒนา TOD (พื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี) เป็นสิ่งที่เราต้องทำอยู่แล้วทุกสถานี เพียงแต่เล็กใหญ่แตกต่างกันไป ผมคิดว่าบรรดาแลนด์ลอร์ดสนใจ นักลงทุนเรียลเอสเตตก็สนใจ แต่มันขัดแย้งกับเราไง เพราะเราไม่อยากให้รู้ว่าไปทางไหน ไม่งั้นโครงการก็ไม่สามารถทำได้ง่าย

Q : ตำแหน่งที่ย้ายไปอยู่ในจุดที่มีที่ดินอยู่แล้ว

ไม่มี ต้องลงทุนใหม่

Q : จะทำให้โครงการล่าช้าหรือไม่เพราะต้องทำ EIA เพิ่ม

ไม่เลย เพราะหลัก ๆ คือการสร้างทางรถไฟ ส่วนตัวสถานีไม่ได้ก่อสร้างใหญ่เหมือนมักกะสันทุกสถานี ใช้เวลาไม่กี่ปีก็เสร็จ แต่การก่อสร้างรถไฟต้องใช้เวลาถึง 5 ปีกว่าจะเสร็จ อย่างน้อย…การพัฒนาพื้นที่มีเวลาอยู่ระหว่างนั้น ทำเสร็จก่อนก็ไม่มีคนมาอยู่ดี เพราะรถไฟยังไม่เสร็จและเปิดบริการ เรื่องการก่อสร้างมีระยะเวลามากกว่าตัวโครงสร้างราง

Q : ที่ดินมักกะสันจะเริ่มพัฒนาพร้อมไฮสปีดเลย

อยู่ระหว่างออกแบบอยู่ กระบวนการต่าง ๆ ในการออกแบบ เป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ เผลอ ๆ ยากกว่าสร้าง ไม่น่าเชื่อนะว่า การออกแบบโครงการใหญ่ขนาดนี้ใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี แล้วกว่าจะไปถึงดีเทลดีไซน์อีก ผมก็ต้องมาเรียนรู้ โครงการเล็ก ๆ ใช้เวลาปีหนึ่ง แต่โครงการแบบนี้ใหญ่มากออกแบบ 2 ปี แต่สร้างจริง ๆ 2 ปีเสร็จ

Q : คอนเซ็ปต์มักกะสันเป็นแบบไหน

รอให้ออกแบบเสร็จก่อน ตอนนี้ยังบอกอะไรไม่ได้

Q : จะลงทุนสร้างฟีดเดอร์มาเชื่อมไฮสปีดเพิ่ม

ก็ต้องมี

Q : จะใช้ระบบรถไฟของจีน ญี่ปุ่น หรือยุโรป

เป็นแบบผสม เราดูคุณสมบัติก่อน แต่มาตรฐานเราเป็นของยุโรป

Q : เจ้าสัวธนินท์เคยพูดว่าจะทำเมืองใหม่ฉะเชิงเทรา ใช่จุดที่เราจะย้ายสถานีหรือไม่

จะบอกว่าเป็นเมืองใหม่คงไม่ได้ เป็นการสร้างสถานี แต่สถานีอาจจะนำไปสู่การขยายตัวของเมืองในอนาคตก็ได้ แต่ใครจะไปสร้างเมืองใหม่ได้ เมืองใหม่ต้องบริหารพื้นที่เป็น 10,000 กว่าไร่ แต่รถไฟความเร็วสูงน่าจะนำไปสู่การขยายตัวของเมืองใหม่ ๆ มากกว่า การสร้างเมืองใหม่ไม่ง่าย มีปัจจัยเยอะแยะไปหมด

เราถึงดึงโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปในพื้นที่ แล้วหลังจากนั้นน่าจะเกิดการพัฒนาด้วยตัวของมันเอง เพราะตัวโครงสร้างพื้นฐานเป็นตัวช่วยอยู่แล้วในการช่วยจัดตั้งเมืองใหม่ เหมือนปลูกพืช เราลงเมล็ดพันธุ์แล้ว เหลือแต่ต้นจะโตได้แค่ไหน หรือบางทีเป็นการทำให้เมืองเดิมขยายออกมาเชื่อมกันพอดี ทำให้เมืองใหญ่ขึ้น

แต่วิธีการที่สำคัญก็ต้องดูด้วยว่า โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ผมคิดว่าการสร้างเมืองใหม่น่าจะเป็นเรื่องของรัฐบาลมากกว่า ถ้าบอกว่าเราจะสร้างเมือง อย่างมักกะสันเราเรียกเมืองใหม่หรือไม่ ก็ไม่ถึงขนาดนั้น เป็นแค่คอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ บางคนบอกว่าเป็นการสร้าง Smart City ก็พอได้ เพราะคนที่จะไปทำงานตรงนั้นก็น่าจะมีเป็นแสนคน

Q : ธุรกิจค้าปลีกเตรียมแผนจะไปพร้อมกับการทำสถานีใหม่ ๆ

แผนยังไม่ชัดเจน แต่เรื่องฟีดเดอร์น่าจะตามมา จริง ๆ แผนตอนนี้ ถ้าจะต่อยอดอะไรก็ต้องดูการต่อขยายโครงการรถไฟความเร็วสูงจากอู่ตะเภา-ระยองก่อน อีกสเต็ปจะต้องขยายไปถึง จ.ตราด ไปจ่อที่ประเทศกัมพูชา แต่เบื้องต้นต้องไประยองก่อน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อีอีซี ผมคิดว่าจะสอดคล้องกัน เราทำโครงสร้างพื้นฐานมา ก็น่าจะช่วยดึงดูดการลงทุนทั้งในและนอกประเทศ เพราะคนมองว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นจริง ๆ ขยายความเจริญจริง อู่ตะเภาก็สร้าง แหลมฉบังก็ขยาย รถไฟก็มี เมืองพวกนี้ก็น่าจะเกิด จะสร้างความมั่นใจ และจะดึงดูดการลงทุนมากกว่า

ถ้าดูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีอีซีดูแล้วถือว่าน่าลงทุน เพราะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจริงเมื่อเทียบกับหลาย ๆ โครงการในแต่ละประเทศรอบ ๆ บ้านเรา เหมือนกับเราสร้างความมั่นใจ ผมคิดว่าอันนี้เป็นหลักสำคัญและเป็นหลักใหญ่ แต่ถ้าเกิดไม่แน่นอนก็มีปัญหา ดังนั้น เอกชนและรัฐต้องไปด้วยกัน ผลักดันโครงการให้ออกมาให้ได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือหัวใจของอีอีซี ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของระบบเศรษฐกิจที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4.0 เชื่อมโยงและเพิ่มศักยภาพให้ จ.ฉะเชิงเทรา ศรีราชา พัทยา ระยอง ที่อยู่ในแนวเส้นทาง เกิดการพัฒนาเมืองและเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ และปริมณฑล

Q : ไฮสปีดเดิมพันครั้งสำคัญ ซี.พี.

ผมว่าเป็นการเดิมพันของประเทศมากกว่า ทั้งรัฐและเอกชนต้องช่วยกัน ส่วนที่สังคมจับตาก็สมควรเพราะโครงการใหญ่ ตอนนี้ทุกอย่างยังอยู่ในไทม์ไลน์หมด เพียงแต่ว่าพอเห็นโครงการเงียบ ๆ แต่เราก็ทำงาน เดินหน้า ทั้งการออกแบบอะไรเต็มไปหมดเลย เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา โครงการอื่นก็เป็นแบบนี้ อย่างรถไฟฟ้าต้องรอกัน 6-7 ปี แต่ละสายกว่าจะสร้างเสร็จ

เมื่อรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินสร้างเสร็จจะเป็นที่น่าภาคภูมิใจ เพราะเป็นความท้าทายที่โดยปกติโครงการขนาดใหญ่ลักษณะนี้จะเป็นการสร้างเพื่อเชื่อมเมืองใหญ่ต่อเมืองใหญ่ตามหลักการสากล แต่สิ่งที่ทำวันนี้ คือการมองถึงวิสัยทัศน์ที่เชื่อมกับอีอีซีให้เห็นผลในอนาคต ซึ่งผลที่ออกมาอาจต้องใช้เวลานาน 10-15 ปี