รังสิตโมเดลฟีดเดอร์แนวใหม่ ผุด ‘โมโนเรล’ 4 หมื่นล้านเชื่อมสายสีแดง

“คมนาคม” ปั้น “รังสิตโมเดล” ต้นแบบฟีดเดอร์เชื่อมต่อรถไฟฟ้า ดีเดย์ตุ๊กตุ๊ก EV ราคา 10-15 บาท รับสายสีแดง เปิดหวูด พ.ย. 64 ดึงจังหวัดลงทุนโมโนเรล4 หมื่นล้านแก้รถติดปทุมฯ-ธัญบุรี สนข.ปัดฝุ่นฟีดเดอร์เชื่อมสถานีกลางบางซื่อ 1.7 แสนล้าน ผุดอุโมงค์ใต้ดิน BRT เชื่อม BTS, MRT เซ็นทรัล ปตท. ด้าน AMR ถกเทศบาลนครรังสิตลงขัน 2-3 พันล้านสร้างรถไฟฟ้าไร้คนขับเหมือนสายสีทองเชื่อมสถานีรังสิต-ฟิวเจอร์พาร์ค

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงได้รับนโยบายจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้บูรณาการเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางระบบคมนาคม หรือระบบฟีดเดอร์ในเส้นทางรถไฟฟ้าพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลเพื่อความสะดวกของประชาชนในการใช้บริการ

รวมถึงพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ที่จะทยอยเปิดบริการทุกปีนับจากปี 2564-2569 เช่น สายสีแดง ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี สายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี เป็นต้น เพื่อเป็นการจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนจากรถส่วนตัวให้ใช้ระบบรางมากขึ้น

“ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เร่งเสนอผลการศึกษาปัญหาและอุปสรรคจุดเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ที่จะเปิดบริการเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 2564 กับระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ในรัศมีการเดินทาง 5-10 กม. มีสถานีรังสิตเป็นต้นแบบเชื่อมต่อระบบฟีดเดอร์ทุกรูปแบบ”

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สนข.ได้ศึกษาพัฒนาโครงข่ายการเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทางเพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลไว้แล้ว จะเริ่มสถานีรังสิตปลายทางของสายสีแดงแห่งแรกเพราะมีปัญหาการเข้าถึงสถานียาก ในช่วงแรกรับเปิดสายสีแดงในเดือน พ.ย. 2564 จะใช้ฟีดเดอร์รูปแบบรถสามล้อ (ตุ๊กตุ๊ก) ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าวิ่ง 2 เส้นทาง คือ หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี-สถานีรังสิต และฟิวเจอร์พาร์ค-สถานีรังสิต เก็บ 10- 15 บาท

จากนั้นปรับปรุงทางเข้า-ออกด้านหน้าสถานีรังสิตให้รถเมล์เข้ามาจอดรับส่งผู้โดยสารได้ ใช้งบฯ 10 ล้านบาท และสร้างสะพานกลับรถ สร้างอาคารจอดแล้วจรใช้งบฯ 140 ล้านบาท จะแล้วเสร็จเดือน พ.ย. 2564 ในระยะยาวจะร่วมกับ จ.ปทุมธานีพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง วงเงิน 40,000 ล้านบาท ยังไม่สรุปจะเป็นรถเมล์ BRT หรือโมโนเรลระยะทาง 28.2 กม. เฟสแรกจากปทุมธานี-รังสิต วงเงิน 17,000 ล้านบาท และเฟสท 2 รังสิต-ธัญบุรี วงเงิน 23,000 ล้านบาท

ยังมีแผนจะทำฟีดเดอร์สถานีหลักหกและสถานีกลางบางซื่อ โดยสถานีกลางบางซื่อ สนข.ศึกษาไว้เป็นระบบ BRT ระยะทาง 10.3 กม. ลงทุน 7,359 ล้านบาท วิ่งวนรอบสถานีกลางบางซื่อเลาะตามแนวสายสีแดงยกข้ามทางด่วนและสวนจตุจักรมาบีทีเอสหมอชิต

ในระยะแรกจากสถานีกลางบางซื่อ-ห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ลงทุน 3,793 ล้านบาท และเซ็นทรัล ลาดพร้าว-สถานีกลางบางซื่อ ลงทุน 4,504.8 ล้านบาท มีแนวคิดจะสร้างอุโมงค์ทางเดินใต้ดิน 3 ชั้น ระยะทาง 1.5 กม. เชื่อมสถานีกลางบางซื่อ รถไฟฟ้าใต้ดิน และบีทีเอส พัฒนาเป็นแหล่งช็อปปิ้ง เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ที่จอดรถใต้ดิน ลงทุน 169,378 ล้านบาท มีค่าก่อสร้างอุโมงค์ 1.5 กม. วงเงิน 55,180 ล้านบาท พื้นที่พลาซ่า 114,198 ล้านบาท

นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บจ.เอเอ็มอาร์ เอเซีย (AMR) ผู้ออกแบบติดตั้งระบบรถไฟฟ้า เปิดเผยว่า บริษัทได้ติดตั้งระบบให้สายสีทองและสายสีเขียวหมอชิต-คูคต ที่เปิดใช้เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563 มีความสนใจจะลงทุนรถไฟฟ้าขนาดรองแบบเดียวกับสายสีทอง เป็นฟีดเดอร์เชื่อมสถานีรังสิตของสายสีแดงและสถานีคูคตของสายสีเขียว รวมถึงสถานีกลางบางซื่อด้วย

“เห็นความสำเร็จของสายสีทอง เป็นรถไฟฟ้าไร้คนขับ มีคนมั่นใจมาใช้บริการมากกว่า 1 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน น่าจะเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทาง เพราะใช้เงินลงทุนไม่สูง เรามีโนว์ฮาวจากผู้ผลิตจีนและเกาหลีใต้ที่นำมาผลิตที่ไทยได้ ต้นทุนจะถูกลงอีก”

ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับเทศบาลนครรังสิตถึงรูปแบบการลงทุน PPP ระยะเวลา 30 ปี แนวเส้นทางจะเป็นรูปตัวแอล เริ่มจากสถานีรังสิตวิ่งบนถนน 346 (ปทุมฯ-รังสิต) ผ่านเทศบาลนครรังสิต ฟิวเจอร์พาร์ค แล้วข้ามคลองรังสิตไปเชื่อมกับสถานีคูคตสายสีเขียว อยู่ระหว่างกำหนดแนวเส้นทาง ในระยะแรกจะเชื่อมสถานีรังสิต-ฟิวเจอร์พาร์ค ระยะทาง 2.5 กม. ลงทุน 2,000-3,000 ล้านบาท มี 3-4 สถานี ค่าโดยสารไม่เกิน 20 บาท คาดว่าเริ่มสร้างในปี 2565 เปิดใช้ปี 2567