ให้นั่งฟรีอีก 1 เดือน ตัดปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว

รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย “หมอชิต-คูคต” และ “แบริ่ง-สมุทรปราการ” นั่งฟรีอีก 1 เดือน รอ “ครม.ประยุทธ์” อนุมัติยืดสัมปทาน 30 ปี หากไฟเขียวเก็บค่าตั๋ว 15-65 บาท ยื้อต่อ “กทม.-บีทีเอส-เคที” ไม่รอ ชง 3 สูตรเก็บค่าโดยสารใหม่ให้ “อัศวิน ขวัญเมือง” เคาะ ไม่เกิน 158 บาท 161 บาท และ 131 บาท หารายได้ จ่อขอรัฐอุดหนุนหมื่นล้านจ่ายหนี้ ส่วนสายสีทอง ดีเดย์ 16 ม.ค.นี้ เก็บ 15 บาทตลอดสาย

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กทม.รอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ระยะเวลา 30 ปี เริ่มต้นสัญญาใหม่หลังสัมปทานเดิมสิ้นสุดวันที่ 5 ธ.ค. 2572-4 ธ.ค. 2602 โดยเอกชนจะรับภาระหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท แทน กทม. มีค่าก่อสร้างส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่รับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าจ้างเดินรถ เป็นต้น

ทั้งนี้ กทม.ได้ชี้แจง 4 ข้อคิดเห็นของกระทรวงคมนาคมไปยัง ครม.แล้ว จะไม่มีเปลี่ยนรายละเอียดแต่อย่างใด เนื่องจากคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตาม ม.44 ได้มีการเจรจาจบไปนานแล้ว โดยเฉพาะค่าโดยสารใหม่มีเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว และคิดตามระยะทางในอัตรา 15-65 บาท ยังคงเดิม

“รอลุ้นจะเข้า ครม.วันที่ 12 ม.ค.นี้หรือไม่ เพราะโปรโมชั่นใช้ฟรีส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ จะสิ้นสุดวันที่ 15 ม.ค.นี้ แต่ดูแล้วคงให้ใช้ฟรีต่อไปอีกประมาณ 1 เดือนครึ่ง เพราะถึง ครม.จะอนุมัติสัมปทาน แต่ต้องเซตระบบเก็บค่าโดยสารใหม่อย่างน้อย 1 เดือน”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ยังไม่อนุมัติสัมปทาน กทม.มีแผนสำรอง เนื่องจาก กทม.จะต้องนำรายได้จากค่าโดยสารจ่ายค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายให้บีทีเอส ขณะเดียวกัน กทม.ติดหนี้ค่าจ้างเดินรถบีทีเอสอยู่ร่วม 9,000 ล้านบาท ยังมีค่าอื่น ๆ เช่น อุดหนุนค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 1,500 ล้านบาท/ปี ต้องขอเงินจากรัฐบาลปีละ 10,000 ล้านบาท ตอนนี้บีทีเอสแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเดินรถไม่ไหว เพราะสถานการณ์โควิด-19 ผู้โดยสารลดลงมาก จากเฉลี่ยวันละ 7-8 แสนเที่ยวคน/วัน เหลืออยู่ 50-60%

ผลหารือร่วมกันระหว่าง กทม. บีทีเอส และ บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) มี 3 โมเดลเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวช่วงคูคต-สมุทรปราการ ให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.พิจารณา ได้แก่ 1.ราคา 158 บาท แยกเป็น ส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต 15-60 บาท ส่วนสัมปทานบีทีเอส (หมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน) 16-44 บาท ส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง และตากสิน-บางหว้า 15 บาท และส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ 15-39 บาท

2.ราคา 161 บาท มีส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต ราคา 15-60 บาท สัมปทานบีทีเอส 16-44 บาท และส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง-สมุทรปราการ ราคา 15-57 บาท โดยโมเดลที่ 1 และ 2 จะเก็บค่าแรกเข้า 3 ช่วง และ 3.ราคา 131 บาท มีส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต 15-60 บาท สัมปทานบีทีเอส 16-44 บาท และส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง-สมุทรปราการ ราคา 15-57 บาท จะเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว 15 บาท ช่วงเป็นสัมปทานบีทีเอส

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนสายสีทองระยะที่ 1 กรุงธนบุรี-คลองสาน มี 3 สถานี จะเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย วันที่ 16 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป ปัจจุบันจากโควิดทำให้ผู้โดยสารลดลง 50% จากเฉลี่ย 9,000-10,000 เที่ยวคน/วัน เหลือ 5,000-6,000 เที่ยวคน/วัน โดยสถานีไอคอนสยามมีคนใช้บริการ 3,000 เที่ยวคน/วัน