ภูมิใจไทย ขวาง กทม.เก็บค่าตั๋ว 104 บาท หวังศาลคุ้มครองก่อน 16 ก.พ.

“6 ส.ส. ภูมิใจไทย” แพ็กทีมไปศาลปกครองไต่สวนรอบแรก ปมร้องค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวอัตราใหม่ แจงศาล 3 ประเด็น ซัด กทม.”ไม่ทำตามมติ ครม.-เยียวยาหลังปัญหายาก-เงินคงคลังหนาแบกหนี้ได้” ก่อนเผยไต๋ ศาลนัด กทม.ขอหลักฐานเพิ่ม 8 ก.พ. 2564 ทั้งสัญญาสัมปทาน-สัญญาเดินรถ-กรอบค่าโดยสาร

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2564 ที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ นายนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย พร้อมคณะ ส.ส.ของพรรค อาทิ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายมณฑล โพธิ์คาย ส.ส.กทม., นายโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี ส.ส.กทม., นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง, นายพิษณุ พลธี ส.ส.ปทุมธานี และนายอนาวิล รัตนสถาพร ส.ส.ปทุมธานี เดินทางมารับการไต่สวนรอบแรก

กรณีที่ยื่นฟ้องศาลปกครองให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ยกเลิกการประกาศ กทม. เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอัตราใหม่ 15-104 บาท ที่มีกำหนดในวันที่ 16 ก.พ. 2564 นี้

แจงศาล 3 ประเด็น

โดยนายสิริพงศ์ เปิดเผยหลังเข้ารับการไต่สวนว่า ศาลได้เชิญทั้งฝ่ายตนในฐานะผู้ร้อง และฝ่ายของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะผู้ถูกร้องมาชี้แจง โดยศาลปกครองได้ตั้งคำถามใน 3 ประเด็น

ตั้งราคาไม่ดูมติ ครม.

1.การขึ้นค่าโดยสารของ กทม. มีความชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ทางพรรคได้ชี้แจงกับศาลว่า สัญญาสัมปทานสายสีเขียว ที่ กทม.ทำร่วมกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ยังไม่ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงไม่น่าจะกำหนดราคาเองได้ และการกระทำของ กทม.
ถือว่า ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.เมื่อปี 2561 ที่ให้บูรณาการการทำงานกับกระทรวงคมนาคม และต้องให้กระทรวงการคลังเห็นชอบในขั้นตอนสุดท้าย

ค่ารถไฟฟ้าแพง เยียวยายาก

2.หาก กทม.ใช้ประกาศดังกล่าวจริง จะมีผลอย่างไร และหากการออกประกาศดังกล่าวของ กทม.ไม่ชอบด้วยกฎหมายจริง จะเยียวยาประชาชนอย่างไร ประเด็นนี้พรรคได้ชี้แจงว่า หากการขึ้นราคาไม่ชอบด้วยกฎหมาย การเยียวยาประชาขนจะยากมาก เพราะผู้โดยสารของสายสีเขียวมีวันละ 800,000-1,000,000 คน และการโดยสารรถไฟฟ้า ก็ไม่มีหลักฐานประเภทใบเสร็จหรือตั๋วแสดงการขำระเงินให้ไว้ จึงเป็นการยากที่จะเยียวยาในภายหลัง

กทม.แบกหนี้ต่อไม่มีปัญหา เงินคงคลังปึ้ก

และ 3.หากศาลสั่งทุเลาคำสั่งนี้ จะกระทบกับบริการสาธารณะของ กทม.หรือไม่ ทางพรรคได้เรียนไปว่า กทม.เป็นองค์กรปกครองแบบพิเศษ สามารถจัดเก็บรายได้ด้วยตัวเอง เงินคงคลังอย่างแข็งแรง และก็แบกต้นทุนค่าเดินรถส่วนต่อขยายมาแล้ว 3 ปี ดังนั้น หากจะแบกต่อก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะการกำหนดอัตราค่าโดยสารใหม่ ควรจะเสนอให้ ครม.เห็นชอบก่อน

แฉ กทม.แผ่นเสียงตกร่อง

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อว่า ทาง กทม.ชี้แจงเพียงว่า การกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นอำนาจและหน้าที่ที่กทม.ทำได้ และทำตามมติ ครม.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในข้อเท็จจริง กทม.ทำตามเพียงบางข้อเท่านั้น ไม่ได้ทำหมดทุกข้อ การกระทำของ กทม.จึงไม่ชอบ

“กทม.ต้องรับและทำตามมติ ครม.ทั้งหมด ไม่ใช่ส่วนที่ตัวเองได้ประโยชน์ อ้างว่ามีอำนาจทำได้ แต่ส่วนใดที่เสียประโยชน์โยนให้ ครม. มันไม่ถูก และการเยียวยา กทม.ก็ไม่ตอบด้วย เอาแต่บอกว่ารัฐบาลจะเยียวยากทม.อย่างไร ส่วนที่อ้างว่า กทม.มีภาระเยอะก็ไม่จริง” นายสิริพงศ์ระบุ

คาดศาลตัดสินก่อน 16 ก.พ.

ในช่วงท้าย นายสิริพงศ์กล่าวว่า ในวันที่ 8 ก.พ. 2564 ศาลนัดให้ กทม.ส่งรายละเอียดทั้งสัญญา การจ้างเดินรถ และตารางเก็บค่าโดยสารมาให้ศาลพิจารณา ซึ่งศาลให้ความสนใจเพราะกระทบประชาชนจำนวนมาก โดยศาลจะมีคำสั่งออกมาก่อนวันที่ 16 ก.พ. 2564 นี้แน่นอน