ศาลปกครองจี้ กทม. ส่งข้อมูลสายสีเขียวเพิ่ม

ศาลปกครองจี้ กทม. ส่งข้อมูลสายสีเขียวเพิ่ม “ภูมิใจไทย” กัดไม่ปล่อยเลื่อนค่าตั๋ว 104 บาท แค่ซื้อเวลา

ยังไม่จบ ศาลปกครองสั่ง กทม. ส่งรายงานการประชุมสภา กทม. เพิ่ม หลังออกประกาศเลื่อนเก็บค่าตั๋ว 104 บาท ด้าน”ภูมิใจไทย”แขวะแค่ประวิงเวลา ไม่ได้อยากช่วยประชาชนจริงๆ กังขาไม่นำรายได้เชิงพาณิชย์มาโปะ

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย พร้อมคณะเดินทางมารับการไต่สวนรอบเพิ่มเติมกรณีที่ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง เพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอน ประกาศของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เรื่อง กำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลงวันที่ 15 ม.ค. 2564 ที่กำหนดอัตราค่าโดยสารใหม่เริ่มต้น 15-104 บาท และ ให้ระงับการดำเนินการใดๆตามประกาศฉบับดังกล่าว

ศาลถาม กทม. เพิ่ม 3 ข้อ

โดยนายสิริพงษ์ กล่าวภายหลังเข้ารับการไต่สวนว่า ศาลยังไม่มีข้อสรุปใดๆเกี่ยวกับคดีนี้ สำหรับการไต่สวนครั้งนี้เกิดจากการที่ กทม.ออกประกาศ เรื่องการกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อค่ำวันที่ 8 ก.พ. 2564 โดยตัวแทนของฝ่ายกทม.ที่มา เป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้บริหารอีกทีหนึ่ง ซึ่งศาลมีประเด็นสอบถามกทม.เพิ่มเติมใน 3 ประเด็น

1. เหตุใดจึงเลื่อนเก็บค่าโดยสารอัตราใหม่ ทางกทม. ชี้แจงว่า การเลื่อนเก็บค่าโดยสารดังกล่าวเป็นความเห็นจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)และเป็นนโยบายของกทม.อยู่แล้วที่ต้องการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน แต่การชี้แจงไม่มีการชี้แจงที่เป็นลายลักษณ์อักษร

2. การเลื่อนเก็บค่าโดยสารออกไป กทม.จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป กทม.ชี้แจงว่า ได้นำประเด็นนี้หารือในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 ศาลจึงขอรายงานการประชุมสภากทม. แต่ยังไม่มีความชัดเจน เพราะกทม.อ้างว่า ยังตอบไม่ได้ว่าจะส่งเอกสารได้เมื่อไหร่

และ 3 ศาลถามว่า การไม่ขึ้นค่าโดยสารดังกล่าว จะมีผลกระทบกับกทม. อย่างไร เพราะก่อนหน้านี้อ้างว่า หากไม่เก็บค่าโดยสารจะมีผลกระทบ กทม.ตอบเพียงว่า มีผลกระทบอยู่ แต่สามารถชะลอได้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาขน

ภูมิใจไทยกังขาไม่เอารายได้พาณิชย์ข่วย

“ฝ่ายเราก็ชี้แจงว่า กทม. ยังไม่ทำตามกระบวนการให้ครบถ้วน เช่น การหารายได้เชิงพาณิชย์และโฆษณาตามสถานีต่างๆ กทม.ไม่เคยจัดเก็บรายได้ เพื่อเอามาสนับสนุนการลดภาระด้านค่าโดยสารให้กับประชาชน แม้กทม.จะชี้แจงว่ายังเก็บรายได้จากส่วนนี้ไม่ได้ ก็แสดงว่า กทม. ยังไม่รอบคอบรัดกุมในการดำเนินการเลย “

นายสิริพงษ์กล่าวอีกว่า การที่อ้างว่า หากรถวิ่งออกจากส่วนไข่แดง (หมอชิต-อ่อนนุช/สนามกีฬาฯ-ตากสิน) เข้าสู่ส่วนต่อขยาย กทม.ไม่มีรายได้ เอกชนได้อยู่อย่างเดียว ดังนั้น การที่กทม. วิ่งรถไฟฟ้ายาว 40-50 กม. แล้วไม่ได้อะไรเลยจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะทรัพย์สิน กทม.รับจากรฟม.แล้ว

กทม.ยังแจงที่มาค่าโดยสารไม่ได้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ที่กทม.ไม่เก็บรายได้เชิงพาณิชย์ เพราะผูกอยู่ในสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่กำลังอยู่ระหว่างเสนอ ครม. หรือไม่ นายสิริพงศ์ ตอบว่า กทม.บอกในเรื่องของสัมปทานจริง แต่การเดินรถ ทรัพย์สินส่วนต่อขยายต่างๆก็รับโอนมาจากรฟม.แล้ว และในการเจรจาก็ไม่ใช่ว่า กทม. จะคุยกับเอกชนไม่ได้ อาจจะเสนอขายทั้งก้อนก็ได้ ก็อยู่ที่วิธีเจรจากับเอกชน ซึ่ง กทม. ไม่เคยคิดเรื่องการลดภาระให้ประชาชนเลย

“กทม. ยังตอบไม่ได้ว่าค่าโดยสารที่จะจัดเก็บมีที่มาที่ไปอย่างไร จนเราตั้งข้อสังเกตว่า การเลื่อนเก็บค่าโดยสารดังกล่าว เพียงแค่ต้องการประวิงเวลาหรือไม่  “

ขอรายงานประชุมสภาหทม. – แนบท้ายสัญญา

โดยหลังจากไต่สวนคู่ความทั้ง 2 แล้ว ศาลได้สั่งให้ กทม. ส่งหลักฐานเพิ่มเติมคือ รายงานการประชุมสภากทม.เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 ซึ่งในการไต่สวน กทม. จะขอส่งเฉพาะรายงานการประชุมแบบสรุป เราจึงคัดค้านไปว่า รายงานแบบสรุปไม่พอ ขอเป็นรายงานที่มีการรับรอง ซึ่ง กทม.บอกว่า ถ้าจะเอาแบบมีการรับรองอาจจะใช้เวลาเป็นปี ศาลจึงถามต่อทำไมใช้เวลาเป็นปี ตอนนี้ กทม.ก็กำลังหาคำตอบอยู่

นอกจากนี้ เราเองก็ขอให้กทม.ส่งเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต – คูคต และช่วงแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการที่ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) จ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ด้วย เพราะสัญญาหลักที่ให้มา ไม่มีรายละเอียดของการคิดค่าโดยสาร

ส่วนเอกสารที่ฝ่ายเราขอไป 11 ข้อ เช่น ผลการศึกษาโครงการและแนวทางกำหนดอัตราค่าโดยสาร, การประมาณปริมาณผู้โดยสาร การคำนวณอัตราผู้โดยสาร การใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และเกณฑ์การปรับค่าโดยสาร หรือรายงานการศึกษาด้านรายได้ค่าโดยสารและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ เป็นต้น ศาลเพิ่งมีหมายออกไปให้ กทม. ส่งข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งหากได้รับเอกสารเพิ่มเติมแล้ว ก็จะได้เอาข้อมูลมาเปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าสายอื่นด้วย

“เรามองว่าการออกประกาศดังกล่าว เป็นแค่การเลื่อน ไม่ได้ยกเลิกประกาศฉบับเดิมที่เก็บค่าโดยสาร 104 บาท แต่อัตราค่าจ้างที่มีต่อ BTSC ถ้าเกิดไม่ชอบขึ้นมา ส่วนต่างจะไปตกกับประชาชน ซึ่งมีแต่ผลเสียมากกว่า” นายสิริพงศ์กล่าวทิ้งท้าย