เวนคืนสามโคก 4.5 พันล้าน ตัดถนนแนวใหม่เชื่อมสะพานข้ามเจ้าพระยา

เวนคืนอัพเดต

นับเป็นอีกโครงการใหญ่ของ “ทล.-กรมทางหลวง” ที่ใช้งบประมาณเวนคืนที่ดินและก่อสร้างเฉียด 1 หมื่นล้านบาท

สำหรับ “ถนนสายสะพานสามโคก” หรือชื่อทางการ ทางหลวงแนวใหม่ เชื่อมถนนวงแหวนด้านตะวันตก-จุดตัดถนนสาย 347 ไปสิ้นสุดที่จุดตัดถนนวงแหวนด้านตะวันออก ระยะทาง 14.347 กม. ใช้งบประมาณดำเนินการ 9,590 ล้านบาท

ในโครงการเดียวกันนี้มีทั้งถนนสายใหม่และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา หรือสะพานสามโคก เป็น 1 ใน 11 สะพานที่บรรจุในแผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาไว้นานหลายปีแล้ว

เพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัด เชื่อมต่อโครงข่ายทางหลวงรอบ จ.ปทุมธานี และเสริมโครงข่ายทางหลวงตามแนวสายทางปทุมธานี-รังสิต-อ.องครักษ์ บรรเทาการจราจรที่หนาแน่น

สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน และขอจัดสรรงบประมาณปี 2565 เพื่อเดินหน้าเวนคืนและก่อสร้างโครงการ หากได้รับอนุมัติจะเริ่มต้นโครงการในทันที ใช้เวลาสร้าง 3 ปี หากไม่มีอะไรคลาดเคลื่อนน่าจะเปิดบริการในปี 2568

โดยแนวเส้นทางพาดผ่าน 3 อำเภอ คือ อ.เมืองปทุมธานี อ.สามโคก และ อ.คลองหหลวง 7 ตำบล คือ ต.คลองควาย ต.บางเตย ต.สามโคก ต.บ้านประทุม ต.เชียงรากใหญ่ ต.บางพูด และ ต.คลองหนึ่ง

ADVERTISMENT

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการมีจุดเริ่มต้นบริเวณถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกแยกต่างระดับบางเตย บรรจบกับถนน 3111 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีการสร้างสะพานใหม่ จากนั้นแนวเส้นทางจะไปเชื่อมกับถนนสาย 347 จะสิ้นสุดการสร้างถนนแนวใหม่ จากนั้นจะเข้าถนนสาย 3214 เป็นถนนเดิมข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จนไปสิ้นสุดที่แยกต่างระดับคลองหลวง จะเชื่อมกับถนนหน้าวัดธรรมกายที่สามารถไปออกถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออกได้

“มีเวนคืนเฉพาะ ต.บางเตย ต.สามโคก อ.สามโคก เพราะสร้างถนนแนวใหม่ 6 เลน จากต่างระดับบางเตยข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาถึงถนนสาย 347 ประมาณ 9.38 กม. มีเวนคืนกว่า 4,500 ล้านบาท มีที่ดิน 461 แปลง คิดเป็น 542 ไร่ ค่าเวนคืนเกือบ 4,000 ล้านบาท ที่เหลือมีสิ่งปลูกสร้าง 267 ราย ต้นไม้ 187 ราย มีบ้านจัดสรรอยู่ใกล้ต่างระดับบางเตยรวมอยู่ด้วย ซึ่งสภาพพื้นที่เปลี่ยนไปเยอะ เพราะเราศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2558 ตอนนั้นค่าเวนคืนแค่ 1,406 ล้านบาท ตอนนี้เพิ่มขึ้นสูงเพราะราคาที่ดินแพง ช่วงริมแม่น้ำเจ้าพระยามีการซื้อขายกันเฉลี่ยไร่ละ 20 ล้านบาท”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า กรมดำเนินการโครงการนี้ต้องการรองรับปริมาณจราจรในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ส่งผลให้ตัว จ.ปทุมธานีติดขัด และมีการขยายตัวของพื้นที่พักอาศัย ภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวขึ้นมากในปัจจุบัน

เมื่อแล้วเสร็จจะมีโครงข่ายถนนที่เปิดพื้นที่พัฒนาใหม่ และรองรับการเดินทางระหว่างด้านตะวันตกและด้านตะวันออกของ จ.ปทุมธานี เนื่องจากจะเป็นเส้นทางลัดสามารถร่นระยะทางได้หลาย 10 กม.โดยไม่ต้องใช้เส้นทางรังสิต-ปทุมธานี และรังสิต-นครนายก