ดีเดย์ 5 เม.ย. ตรวจจับความเร็ว-วิ่งไหล่ทางบนทางด่วน “ส่งใบสั่งถึงบ้าน”

ดีเดย์ 5 เม.ย. วิ่งไหล่ทางบนทางด่วนถูกปรับ 1,000 บาท “การทางพิเศษ” ลุยติดกล้องสแกนรถจุดเกิดอุบัติเหตุบ่อย ประสาน “ตำรวจ” ส่งใบสั่งถึงบ้าน ยังไม่ชัดอนุโลมชั่วโมงเร่งด่วนหรือไม่ จ่อแก้กฎกระทรวงกำกับความเร็วใหม่ บนทางยกระดับ 100 กม./ชม. ทางราบ 110 กม./ชม. คาดบังคับใช้ปีนี้

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2564 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในการออกมาตรการความปลอดภัยบนทางพิเศษด้วยกล้องตรวจจับความเร็วและกล้องตรวจจับรถยนต์วิ่งไหล่ทางซ้าย (ช่องทางฉุกเฉิน) รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย

วิ่งไหล่ทางทำเกิดอุบัติเหตุอื้อ 800 ครั้ง

จากข้อมูลของ กทพ. เก็บข้อมูลระบบงานเหตุการณ์บนทางพิเศษ (TFC) พบว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนทางด่วนในปีงบประมาณ 2563 มีมากกว่า 800 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 440 ราย และเสียชีวิต จำนวน 7 ราย

“เกือบ 50% ของอุบัติเหตุมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ อาทิ การใช้ความเร็วสูง การเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน และการวิ่งบนไหล่ทาง เป็นต้น“

จ่อแก้ปรับความเร็วบนทางด่วนใหม่

สำหรับบนทางด่วนจะใช้ พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 ในการบังคับ ทั้งนี้กำลังมีการปรับปรุงความเร็วใหม่โดยออกเป็นกฎกระทรวง อยู่ระหว่างเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้

“จะเป็นการกำหนดอัตราความเร็วใน 2 ระดับ 1.ทางยกระดับกำหนดให้ใช้ความเร็วที่ไม่เกิน 100 กม./ชม. และ 2.ระดับพื้นดินพื้นราบ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กม./ชม. ซึ่งในภาคปฏิบัติจะมีตำรวจคอยกวดขัน”

เคาะติดป้ายเตือน-กล้องจับ

ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุ กทพ. และตำรวจ จึงมีมาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในช่วงปีงบประมาณ 2563-2565 ประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ

1.การติดตั้งป้ายแจ้งเตือนความเร็ว (Your Speed Sign) ที่ทำงานควบคู่ไปกับกล้องตรวจจับความเร็ว เพื่อให้ผู้ใช้ทางด่วนใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด โดย กทพ. ได้ดำเนินการติดตั้งทั้งสิ้น 17 จุด บนทางด่วน 4 สายทาง ซึ่ง กทพ. ได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2564 จำนวน 2 เส้นทาง คือ สายบูรพาวิถี จำนวน 4 จุด เเละสายเฉลิมมหานครจำนวน 5 จุด

อีก 2 เส้นทางที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการประกอบด้วย สายกาญจนาภิเษก ช่วงบางพลี-สุขสวัสดิ์ จำนวน 4 จุด จะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2564 เเละทางพิเศษฉลองรัช จำนวน 4 จุด จะแล้วเสร็จเดือน ก.ย. 2565

ลุยติดตั้งกล้องอีก 3 สายทางเสร็จปลายปี

และ 2.การติดตั้งกล้องตรวจจับรถยนต์วิ่งไหล่ทางซ้าย (ช่องทางฉุกเฉิน) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในไหล่ทาง โดย กทพ. จะดำเนินการติดตั้ง จำนวน 32 จุด บนทางพิเศษ 4 สายทาง ซึ่ง กทพ. ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2563 จำนวน 1 เส้นทาง คือทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) จำนวน 10 จุด

ส่วนอีก 3 เส้นทาง อยู่ในระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2564 ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร จำนวน 6 จุด ทางพิเศษฉลองรัช จำนวน 8 จุด และทางพิเศษบูรพาวิถี จำนวน 8 จุด คาดว่าจะใช้งบดำเนินการประมาณ 20-30 ล้านบาท ในการติดตั้งกล้องในจุดที่เหลือ

ทั้งนี้ ในส่วนของทางพิเศษที่มีเอกชนร่วมดำเนินการ กทพ. ได้ประสานให้มีการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็ว และกล้องตรวจจับรถยนต์วิ่งไหล่ทางซ้าย (ช่องทางฉุกเฉิน) เช่นกัน ซึ่งสายบางปะอิน-ปากเกร็ดจะเสร็จกลางปีนี้ ส่วนทางด่วนขั้นที่ 2 หรือศรีรัช จะเสร็จปลายปีนี้

คิกออฟจับปรับ 5 เม.ย.

“ขั้นตอนการดำเนินงาน กทพ. จะรวบรวมข้อมูลผู้กระทำผิดพร้อมไฟล์ภาพจัดส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ซึ่งน่าจะเริ่มต้นในวันที่ 5 เม.ย. 2564 นี้”

วิ่งไหล่ทางปรับ 1,000 บาท

สำหรับผู้ฝ่าฝืน มีโทษตามกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 มีระบุในมาตรา 103 ว่า “ทางใดที่มีทางเท้าหรือไหล่ทางอยู่ข้างทางเดินรถ ให้คนเดินเท้าเดินบนทางเท้าหรือไหล่ทาง ถ้าทางนั้นไม่มีทางเท้าอยู่ข้างทางเดินรถให้เดินริมทางด้านขวาของตน” ประกอบมาตรา 33 จึงมีความผิดตามมาตรา 139 ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานจราจร มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

ส่วนรายละเอียดการใช้ทาง กรณีฉุกเฉินจะไม่ถือว่าเข้าข่ายต้องบังคับใช้กฎหมาย ส่วนต้องผิดกี่ครั้งจึงจะตัดแต้มยังต้องหารือกับตำรวจอีกก่อน รวมถึงการบริหารจัดการในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้า – เย็น ส่วนใหญ่จะเกิดปัญหาการจราจรติดขัด และจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวก ก็กำลังหารือและดำเนินการกันอยู่ จะผ่อนผันกันอย่างไรต่อไป