“ศักดิ์สยาม” ขับเคลื่อนคมนาคม ควาน 3 แหล่งเงินลงทุนเปิดประเทศ

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

เช้าวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์มติชนรายวันจัดสัมมนาใหญ่แห่งปีในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 44 หัวข้อ “Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน” โดยได้รับเกียรติจาก “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นำทีมคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคมร่วมอภิปรายข้อมูลอย่างคับคั่งบนเวทีสัมมนา โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้

งบฯลงทุนปี 2565 เหลือ 1.1 แสนล้าน

ภายใต้สถานการณ์โควิด การลงทุนภาครัฐเป็นเครื่องจักรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย และกระทรวงคมนาคมมีหน้าที่รับผิดชอบในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยตรง

ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2564 กระทรวงได้รับงบฯลงทุน 1.8 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 ที่กำลังพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร งบฯลงทุนเหลือ 1.1 แสนล้านบาท แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะได้รับนโยบายจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า ในสภาวะที่ต้องใช้งบประมาณไปในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สิ่งสำคัญที่เราต้องมองหาก็คือวิธีการลงทุนของภาครัฐ โดยดูแหล่งเงินทุนจากแหล่งอื่น ๆ

“กรอบการหาแหล่งเงินนอกงบประมาณ ท่านนายกฯวางไว้ซึ่งเป็นเรื่องดีมาก ๆ มีทั้งช่องทางเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP), การลงทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF-Thailand Future Fund) และแหล่งเงินกู้เพิ่มเติมจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)”

ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณด้านการลงทุนปี 2564 โดยตั้งแต่ปลัดกระทรวง “ชยธรรม์ พรหมศร” และพี่น้องข้าราชการตั้งแต่ระดับล่างไล่จนถึงระดับบน ทุกคนพิจารณาเร่งรัดการเบิกจ่ายไปแล้วเกิน 50% หรือ 90,000 ล้านบาท เวลาที่เหลืออีก 3 เดือนภายใน 30 กันยายน 2564 มั่นใจว่าเบิกจ่ายได้ 100%

ตีกรอบ-พร้อมรับภูเก็ตแซนด์บอกซ์

แผนขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน มีการวางแผนให้ครบ 4 มิติ “ทางบก-ระบบราง-อากาศ-น้ำ”

โดยมิติทางอากาศ นโยบายเปิดประเทศใน 120 วัน และภูเก็ตแซนบอกซ์ที่จะเริ่มคิกออฟ 1 กรกฎาคม 2564 นี้ นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาต้องบินตรงเข้ามาเท่านั้น ไม่แวะผ่านที่อื่น ดังนั้นไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องการแพร่ระบาดโควิดเช่นกัน

“ท่านนายกฯ (พลเอกประยุทธ์) ท่านรองนายกฯอนุทิน ชาญวีรกูล ได้เข้าไปดูในเรื่องการระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในภูเก็ต การเดินทางของนักท่องเที่ยวมีการจอง slot การบินไว้แล้ว 80-90% แต่ก็ต้องดูว่าวันจริงนั้นจะเป็นอย่างไร”

ฟื้นแลนด์บริดจ์เชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย

ระบบ “ทางน้ำ” ไทยมีศักยภาพขนาบ 2 มหาสมุทร “อันดามัน-อ่าวไทย” ในอดีตมีความคิดขุดคอคอดกระ แต่วันนี้หมดความจำเป็น ข้อเสนอใหม่คือการสร้างแลนด์บริดจ์ที่ “ชุมพร-ระนอง”

ทั้ง 2 ฝั่งจะมีท่าเรือน้ำลึก 15 เมตรขึ้นไป มีโครงข่าย MR-MAP (มอเตอร์เวย์กับรถไฟ) เชื่อมต่อกันด้วย เลือกเส้นทางที่ตรงที่สุด และสั้นที่สุด เพื่อให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่ำที่สุด คาดว่าในปี 2565 จะได้เห็นโครงร่างของโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนน รถไฟทางคู่ ระบบท่อส่งน้ำมัน

“ศักดิ์สยาม” มองเป็นภาพเดียวกันกับนโยบายโปรโมต EEC (เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) กำหนดแล้วเสร็จในปี 2568 มีการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, ลงทุนท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3, ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3, ขยายมอเตอร์เวย์สาย 7 พัทยา-มาบตาพุด (M7) เป็นเส้นเลือดหลักในการเดินทาง รวมทั้งเปิดประตูให้อีอีซีทะลุไปฝั่งมหาสมุทรอินเดีย หรืออันดามันได้สั้นขึ้น

“MR-MAP” ยุทธศาสตร์ลงทุนแนวใหม่

ยุทธศาสตร์ใหม่ด้านการลงทุนที่เป็นลิขสิทธิ์ของ “รมว.ศักดิ์สยาม” รู้จักกันดีในนามโครงการ MR-MAP (Motor-Rail Map) ตัวโครงการมีครบทั้งรถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง และ service road ออกแบบและก่อสร้างแบบบูรณาการร่วมกัน แผนแม่บทมองเห็นแล้ว 9 เส้นทาง ลากเส้นจากเหนือลงใต้ 3 เส้นทาง, ตะวันออกไปตะวันตก 6 เส้นทาง

“MR-MAP ใช้เวลาพอสมควร แม้เรื่องนี้จะไม่สำเร็จในรุ่นของพวกเรา แต่จะเป็นการวางพื้นฐานในการสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของการเดินทางในภูมิภาคอาเซียนต่อไป”

จุดเน้นย้ำคือ MR-MAP มีเอกอัครราชทูตและนักลงทุนในหลายประเทศสอบถามถึงเรื่องนี้ทุกครั้งที่ได้พบปะกันว่า รูปแบบและการดำเนินงานจะเป็นอย่างไร คาดการณ์ไว้แล้วเป็นแบบ PPP เปิดกว้างให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาร่วมด้วย (international bidding) เพราะสิ่งที่สร้างขึ้นมานี้ไม่ใช่แค่คนไทยที่ได้ใช้ แต่เป็นคนทั้งโลกที่จะได้ใช้ ตามแผนในปี 2565 จึงจะได้เห็นรูปแบบโครงการที่ชัดเจน

“สนามบิน” เกตเวย์ทางอากาศ

ประเทศไทยมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว โดย 90% มาทางอากาศ วันนี้มี 6 สนามบินนานาชาติ ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ แม่ฟ้าหลวง (เชียงราย) และหาดใหญ่ (สงขลา) ซึ่งมีศักยภาพรองรับผู้โดยสารจากต่างประเทศได้ไม่เพียงพอ อาทิ สนามบินสุวรรณภูมิ จำเป็นต้องสร้างรันเวย์แห่งที่ 3 เพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสาร 90 ล้านคน/ปี และลงทุนอาคารผู้โดยสาร (terminal) เพิ่มอีก 3 แห่ง คือ North-East-West Expansion รองรับได้เกิน 90 ล้านคน/ปี

นอกจากนี้ สนามบินที่ EEC กำลังพัฒนาสนามบินอู่ตะเภารับผู้โดยสาร 60 ล้านคน/ปี คาดว่าสร้างแล้วเสร็จปี 2568 เมื่อรวมกับสนามบินนานาชาติในภูมิภาคจะทำให้ไทยมีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวปีละ 200 ล้านคน มากกว่าปัจจุบัน 2-3 เท่า

“ระบบราง” ลมหายใจแห่งอนาคต

สำหรับ“ระบบราง” แผนแม่บทมี 1.รถไฟปกติ อัพเกรดจากรางเดี่ยวเป็นทางคู่ความเร็ว 150 กม./ชม. เป้าขนส่งสินค้าผ่านระบบรางเพิ่มขึ้น 30% จาก 5-7% ในปัจจุบัน

2.รถไฟฟ้ากรุงเทพฯ-ปริมณฑล มี 14 เส้นทาง ครบหมดในปี 2570 รวม 554 กิโลเมตร วันนี้เปิดแล้ว “สายสีเขียว-น้ำเงิน-ม่วง” และสายสีแดงซึ่งกำลังจะเปิดใช้ปลายปี 2564 นี้

เหลียวมองต่างจังหวัด หัวเมืองใหญ่จะมีรถไฟรางเบา เช่น พิษณุโลก ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี โคราช ควบคู่กับรถไฟความเร็วสูงที่กำลังลงทุนปัจจุบัน 2 เส้นทาง คือ “รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เชื่อม สปป.ลาว” กับ “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)”

ฟื้นนโยบาย “สายการเดินเรือแห่งชาติ”

ด้านการขนส่ง “ทางน้ำ” ไทยยังขาดสายการเดินเรือแห่งชาติ ได้มอบโจทย์ให้ศึกษา 3 แนวทางจัดตั้ง 1.โดเมสติก วิ่งในเส้นทางอ่าวไทย 2.เดินเรือฝั่งตะวันออก วิ่งไปทางประเทศโซนตะวันออก 3.เดินเรือฝั่งตะวันตก

“ทั้งหมดนี้ถ้าทำตามแผนได้ทั้งหมดก็เชื่อว่าประเทศไทยมีอนาคต สิ่งเหล่านี้สร้างมาไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่งแต่เพื่อทุกคน เชื่อมั่นประเทศไทยจะผ่านโควิดไปด้วยกัน และไทยจะกลับมาเป็นเสือเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง”