ล็อกดาวน์ป่วน “บิ๊กโปรเจ็กต์” รัฐจ่ายอ่วม ยืดสัญญา-เว้นค่าปรับ

แคมป์คนงาน
FILE PHOTO : Lillian SUWANRUMPHA / AFP

มาตรการล็อกดาวน์แคมป์คนงานสะเทือน “บิ๊กโปรเจ็กต์” ทั้งทางด่วน รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ One Bangkok ธุรกิจก่อสร้างมูลค่า 8% ของจีดีพี กระทบซัพพลายเชน กรมบัญชีกลางเสนอ ครม.ยืดสัญญา-เว้นค่าปรับ 3 สมาคมอสังหาฯขอปลดล็อกแนวราบ ชี้กระทบต้นทุนสะดุดตอสินเชื่อ ร้านอาหารสูญวันละพันล้าน รัจ่ายอ่วม 8,500 ล้านบาท

หลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ออกประกาศที่ 6/2564 เรื่องพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดรวม 10 จังหวัด (กรุงเทพมหานคร-นครปฐม-นนทบุรี-นราธิวาส-ปทุมธานี-ปัตตานี-ยะลา-สงขลา-สมุทรปราการ-สมุทรสาคร) ตามด้วยประกาศกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 34 วันที่ 27 มิถุนายน 2564 มีคำสั่งให้หยุดก่อสร้างในแคมป์คนงาน 575 แคมป์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 30 วัน และห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน รวมถึงการห้ามนั่งทานอาหารและเครื่องดื่มในร้าน ห้างสรรพสินค้า-ศูนย์การค้า เปิดได้ถึง 21.00 น. และห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน 20 คน

โดยประกาศฉบับดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะลดและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อพุ่งเกินกว่า 4,000-5,000 คน/วัน โดยเฉพาะ 10 จังหวัดควบคุมสูงสุด แต่อีกด้านหนึ่ง คำสั่งของ กทม.ให้หยุดก่อสร้าง ห้ามเคลื่อนย้ายคนงานในแคมป์ และการห้ามนั่งทานอาหาร แต่ให้ซื้อกลับบ้านได้อย่างเดียว ได้ส่งผลกระทบถึงโครงการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงร้านอาหารต่าง ๆ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท

บิ๊กโปรเจ็กต์สะเทือน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า บริษัทผู้รับเหมาที่ได้รับผลกระทบรอบนี้ ส่วนใหญ่เป็นโครงการของรัฐและโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีคนงานอยู่ในแคมป์จำนวนมาก อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีคนงาน 2,753 คน สายสีส้ม 4,463 คน สายสีชมพู 1,914 คน

นอกจากนี้ยังมีโครงการทางด่วนพระราม 3 ของบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) มีแคมป์คนงานที่ต้องปิดไปอีก 640 คน และโครงการทางด่วนมอเตอร์เวย์ ที่ต้องใช้คนงานมากกว่า 600 คน

ส่วนโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการ One Bangkok พระราม 4 แคมป์คนงานของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ซอยไผ่สิงโต จำนวนคนงาน 2,661 คน, โครงการ QNCC Renovation 4,037 คน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ 6 จังหวัดสีแดงเข้ม ส่งผลด้านมูลค่าในธุรกิจก่อสร้างและยอดขายร้านอาหารและเครื่องดื่มใน 6 จังหวัด (กทม.และปริมณฑล) ช่วงเวลา 1 เดือน อาจคิดเป็นเม็ดเงิน 40,000 ล้านบาท หรือสัดส่วน 0.25% ของ GDP และมองว่า กลไกช่วยเหลือของรัฐยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มในห่วงโซ่ธุรกิจ หรือซัพพลายเชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น ผู้ค้าส่งค้าปลีกวัตถุดิบอาหาร ผู้ให้เช่าพื้นที่ร้านอาหาร ผู้ให้บริการขนส่ง ฯลฯ

ร้านอาหารสูญวันละพันล้าน

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า เบื้องต้นประเมินความเสียหายใน 1 เดือน จะทำให้สูญเม็ดเงินไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 ล้านบาท แต่ละร้านเหลือยอดขายแค่ 10% ต่างจากรอบที่ผ่านมาที่ยังพอมียอดขายในร้าน 20-30% ทั้งนี้เป็นผลมาจากความเชื่อมั่น กำลังซื้อ และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ และการระบาดที่ลากยาว

ขณะที่บางร้านก็ล้มหายตายจากไป และบางร้านที่ไม่ชินกับการทำระบบออนไลน์ก็เลือกที่จะปิดร้านแทนการขายแบบดีลิเวอรี่

“ส่วนมาตรการเยียวยาที่รัฐชดเชยให้ลูกจ้างเพิ่มอีกคนละ 2,000 บาท จากที่ประกันสังคมจ่ายให้ 50% ของค่าแรง แต่ไม่เกิน 7,500 บาท และในส่วนนายจ้างจ่ายเพิ่ม 3,000 บาท มองว่าไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีภาระค่าน้ำค่าไฟ ค่าเช่า และการจ่ายเงินเดือนพนักงาน สุดท้ายสมาคมมองว่า ก็จะกลับมาที่มาตรการเดิม คือ การช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน การลดภาษี และช่วยพยุงค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำค่าไฟ”

ในทิศทางเดียวกัน นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป เจ้าของแบรนด์ร้านอาหาร อากะ, ออน เดอะ เทเบิล, เขียง ฯลฯ เปิดเผยว่า รอบนี้ในแง่ของรายได้คาดว่าคงหายไปกว่า 100 ล้านบาท บริษัทคงเน้นเรื่องสภาพคล่องที่ต้องระมัดระวัง

รับเหมารอวัคซีน 2 แสนโดส

นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง (CIVIL) ในฐานะเลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมกำลังร่างหนังสือขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี และทีมงานด้านเศรษฐกิจ โดยได้หารือกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สรุปเบื้องต้นว่า

ข้อแรก มีบางเนื้องานที่ไม่สามารถหยุดสร้างกลางครันได้ เช่น งานขุดอุโมงค์ถนน อุโมงค์รถไฟ อุโมงค์ระบบชลประทาน เนื่องจากเป็นเทคนิคการก่อสร้างที่ต้องทำต่อเนื่อง ซึ่งรัฐมนตรีรับปากจะนำเรื่องนี้หารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ข้อ 2 หน่วยงานรัฐจะจัดเจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรองโรคตามแคมป์ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลได้หรือไม่ จากที่สำรวจมี 500 แคมป์ เป็นแรงงานและบุคลากรหน้างานรวม 1-2 แสนคน เพื่อจัดกลุ่มคนที่ไม่ติดเชื้อระดมฉีดวัคซีน ซึ่ง รมว.แรงงานชี้แจงว่า จะจัดสรรวัคซีนให้ก่อน 2 แสนโดส แต่ต้องเสนอ ศบค.อนุมัติ

ข้อ 3 ระยะกลางและระยะยาว ขอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องขยายเวลาสัญญาก่อสร้างโดยไม่ใช้ดุลพินิจ และให้นับย้อนหลังตั้งแต่ 26 มี.ค. 2564, ให้หน่วยงานคู่สัญญามีอำนาจพิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง 2560, ขอให้งด ลด และคืนค่าปรับ เป็นต้น

ธุรกิจก่อสร้าง 8% ของจีดีพี

นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากที่หารือร่วมกับสมาชิกบางส่วนในสมาคม อาทิ บมจ.ช.การช่าง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บริษัท ฤทธา จำกัด บริษัท ทวีมงคลก่อสร้าง จำกัด และบริษัท ยูเวิร์ด 999 จำกัด ทุกฝ่ายยินดี หากการสั่งปิดแคมป์ก่อสร้างในพื้นที่เสี่ยงจะช่วยประเทศชาติได้ ขอเพียงความชัดเจน

เนื่องจากธุรกิจก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างจีดีพีให้กับประเทศถึง 8% มีแรงงานทั่วประเทศ 3-5 ล้านคน เฉพาะ กทม.และปริมณฑลมีมากกว่าแสนคน หากนับซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมทั้งระบบขนส่งโลจิสติกส์ โรงงานผู้ผลิต และร้านค้าจำหน่ายวัสดุที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างด้วยแล้ว ถือว่าเป็นห่วงโซ่หลายทอด ย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม

รัฐต้องเข้มงวดในทุุกแคมป์ ทุกพื้นที่เสี่ยง ซึ่งบริษัทใหญ่ไม่ค่อยน่าห่วง เพราะมีมาตรการเข้มงวดเช่นกัน จะห่วงแต่รายเล็กที่กระจายอยู่ในชุมชน ซึ่งสมาชิกในสมาคมระบุว่า มีแรงงานรายย่อยแบบเหมาค่าจ้างรายวันบางส่วนทยอยกลับต่างจังหวัดไปบ้างแล้ว ตั้งแต่รัฐประกาศล็อกดาวน์ เกรงว่าถ้าปัญหาโควิด-19 ยังไม่หยุดใน 30 วัน ผลกระทบจะตามมามาก

ทางหลวงเว้นค่าปรับ

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เบื้องต้นมีมาตรการช่วยผู้ประกอบการด้วยการงดเว้นจัดเก็บค่าปรับจากงานล่าช้าเป็นกรณีพิเศษตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 ไปจนกว่าจะมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 เฉลี่ยค่าปรับงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของกรมวันละ 1-5 ล้านบาท ส่วนมาตรการขอขยายเวลาในสัญญาก่อสร้าง เบื้องต้นยังไม่อนุมัติ กำลังเร่งหารือกับกรมบัญชีกลาง เพื่อสรุปแนวทางที่ชัดเจนต่อไป

กทพ.รับกระทบไทม์ไลน์

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มี 2 โครงการที่ก่อสร้างอยู่ คือ โครงการสำนักงานใหญ่ย่านอโศก 28 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 108,000 ตร.ม. เนื้อที่ 16.3 ไร่ วงเงิน 4,800 ล้านบาท

และทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก สัญญาที่ 2 เซ็นทรัลพระราม 2-รพ.บางปะกอก 9 ระยะทาง 5.3 กม. วงเงิน 6,440 ล้านบาท กับสัญญาที่ 4 งานสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 8 ช่องจราจร และงานก่อสร้างทางด่วน 6 ช่องจราจร 2 กม. บมจ.ช.การช่าง เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 6,636 ล้านบาท อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบ เบื้องต้นกระทบกับโครงการแน่นอน อาจล่าช้าออกไปอย่างน้อย 1 เดือน

รถไฟฟ้างานคืบ

นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ เปิดเผยว่า ส่วนงานก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 โครงการ ได้แก่ สายสีส้ม, สายสีชมพู และสายสีเหลือง งานโยธาคืบหน้า 80% และได้มอบหมายให้ที่ปรึกษากำชับผู้รับจ้างก่อสร้างทุกโครงการให้ปฏิบัติตามประกาศอย่างเคร่งครัด พร้อมประเมินสถานการณ์และปรับแผนงานจากผลกระทบที่เกิดขึ้น

ส่วนผู้รับจ้าง (คู่สัญญา) ให้รวบรวมปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งมาที่ รฟม. เพื่อเสนอให้ ศบค.พิจารณาออกมาตรการเยียวยาต่อไป

รัฐเว้นค่าปรับงานช้า-ขยายเวลาสัญญาย้อนหลัง

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สมาคมก่อสร้างได้ทำหนังสือส่งมาให้กรมบัญชีกลาง เสนอยกเว้นค่าปรับกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย เพื่อขยายเวลาสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างช่วยผู้ประกอบการ ซึ่งที่ผ่านมากรมเคยมีหนังสือเวียนแจงแนวทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นอำนาจของหัวหน้าหน่วยงานเจ้าของโครงการในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ แต่หน่วยงานนั้น ๆ ยังเกรงปัญหาการใช้ดุลพินิจเหมาะสมหรือไม่

กรมจึงแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งหมด โดยพิจารณาช่วยเหลือย้อนหลังตั้งแต่ปี 2563 โดยหารือร่วมกับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว คาดว่าจะเสนอมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการได้เร็วสุดในสัปดาห์หน้า พร้อมขยายเวลาจัดซื้อจัดจ้างออกไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ไม่ได้กำหนดเพียง 1 เดือนตามประกาศของรัฐบาล

การเสนอเข้า ครม.ครั้งนี้ กรมจะระบุหลักเกณฑ์ให้ชัด เพื่อไม่ให้ผู้ที่ทำผิดจริงได้รับประโยชน์ไปด้วย ซึ่งกรมกำลังกำหนดกรอบอยู่ เช่น พิจารณาตามข้อมูลของผู้ประกอบการที่เคยโดนปรับไปแล้ว ว่ามีสาเหตุจากอะไร ซึ่งก็ไม่ควรได้เข้าร่วมมาตรการ เนื่องจากตั้งใจที่จะไม่ปฏิบัติตาม ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่ปฏิบัติได้ กรมต้องการจะช่วยผู้ประกอบการที่สุจริตจริง

3 สมาคมขอปลดล็อกแนวราบ

นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการปิดแคมป์กระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะไซต์ก่อสร้างบ้านแนวราบ จากงานในไซต์ไม่ได้มีแค่คนงาน แต่ยังมีซูเปอร์ไวเซอร์ คอนซัลต์ และมีค่าเช่าเครื่องจักรอุปกรณ์ เช่น ค่าเช่าเครนวันละ 1 แสน เดือนละ 3 ล้านบาท รวมภาระดอกเบี้ย ซึ่งแบงก์ไม่ได้หยุดคิดดอกเบี้ย 30 วัน ตามประกาศ ศบค.

“3 สมาคม (สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอาคารชุดไทย) จะทำข้อเสนอถึงรัฐบาล ให้ไซต์คนงานที่ไม่มีผู้ติดเชื้อให้ก่อสร้างต่อไปได้ แต่ถ้าพบผู้ติดเชื้อก็ปิดแคมป์เป็นจุด ๆ ไป”

โดยสมาชิก 3 สมาคม เห็นความสำคัญในการหยุดยั้งโควิด ยินดีร่วมมือเต็มที่ แต่มาตรการบางอย่างอาจไม่ช่วยหยุดยั้ง แต่จะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นโดยไม่จำเป็น หากเปิดให้ทำงานในแคมป์ได้เท่ากับช่วยลดภาระเยียวยาลดงบประมาณได้

“ธารารมณ์มีไซต์บ้านแนวราบ 8-9 ไซต์ คำสั่งหยุดก่อสร้างสะเทือนเยอะ supply chain ทั้งต้นน้ำ ปลายน้ำ รวมถึงผู้บริโภคจะได้รับบ้านช้าลง เพราะการปิด 1 เดือน ไม่ได้หมายความว่าวันที่ 1 ของเดือนถัดไปแล้วเริ่มก่อสร้างได้ ถ้าคนงานกลับไปหมดแล้ว กว่าจะตามกลับมาไม่สามารถทำได้ทันที”

กระทบต้นทุนการเงิน

ผลกระทบทางตรง นายวสันต์กล่าวว่า คำสั่งปิดแคมป์ 1 เดือน ไม่ได้ดีเลย์แค่การก่อสร้าง แต่ทำให้ไฟแนนเชียลคอสต์กระทบไปด้วย กรณีสร้างช้าส่งมอบไม่ทันในสัญญาผู้ประกอบการต้องเสียค่าปรับ หรือให้ลูกค้าคิดดอกเบี้ยเพิ่ม ซึ่งเป็นต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น

รวมทั้งหลังหมดมาตรการปิดแคมป์ จำเป็นต้องเร่งทำงานชดเชยเวลาที่หยุดก่อสร้าง ทั้ง OT ระดมจ้างช่างที่ต้องจ่ายค่าตัวเพิ่มอีก ทั้งหมดเป็นปัญหาปลายเหตุ ถ้ารัฐยอมให้ไซต์สามารถทำงานได้ จะบรรเทาปัญหาได้ที่ต้นทาง

สะดุดตอสินเชื่อ

นายวรยุทธ กิตติอุดม อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รุ่งกิจ พร็อพเพอร์ตี้ หรือ RK คาดว่าจะมีผลกระทบต่อสินเชื่อที่แบงก์อนุมัติแล้ว แต่มีอายุสินเชื่อสั้นเพียง 2 เดือน แต่รัฐสั่งหยุดสร้าง 1 เดือน กว่าจะได้กลับมาสร้างอีกครั้ง ทำให้บ้านแนวราบสร้างไม่ทัน ลูกค้าต้องขอสินเชื่อใหม่อีกครั้ง ขณะที่การพิจารณาสินเชื่อเข้มงวดมาก อาจกลายเป็นผลกระทบทางอ้อมที่รุนแรงต่อผู้บริโภคและเจ้าของโครงการ

“แม้การสั่งปิดแคมป์ไม่ใช่ความผิดของลูกค้าและเจ้าของโครงการ แบงก์ก็มีโอกาสที่จะเข้าใจ แต่เป็นสิทธิ์ของแบงก์ที่จะอนุมัติหรือไม่ก็ได้ สินเชื่อที่อนุมัติแล้ว ถ้าไม่มาเบิกเงินกู้ก็ต้องคืนหมด ต้องนับหนึ่งใหม่”

ค่าแรงแพงกว่าเดิม

นายวรยุทธกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมี 2 โครงการทำเลกรุงเทพกรีฑากับโซนสุวรรณภูมิ ปัจจุบันส่งมอบบ้านให้ลูกค้าทุกเดือน หากหยุดงานก่อสร้าง แม้เป็นงานเล็ก ๆ เช่น เก็บฝ้า ทาสี อาจทำให้รายได้การโอนหายไป และมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มแทน

ทั้งนี้ ข้อแตกต่างของการใช้ทีมก่อสร้างก่อนส่งมอบบ้านจะเป็นคนงานก่อสร้างปกติ ค่าแรงตก 300-600 บาท/วัน แต่หลังจากส่งมอบและโอนบ้านไปแล้ว มีการรับประกันโครงสร้างและส่วนควบอีก 2-5 ปี จะมีทีมช่างอีกชุดที่ค่าแรงแพงกว่า ตกวันละ 800-1,500 บาท เพราะเป็นการแก้งาน ซึ่งปกติค่าตัวแพงกว่าสร้างใหม่อยู่แล้ว

ประเด็นคือคำสั่งปิดแคมป์ทำให้คนงานก่อสร้างกลับต่างจังหวัด หรือกลับประเทศเพื่อนบ้านไปเลย หลังจากหมดอายุมาตรการใน 1 เดือน การเรียกตัวคนงานก่อสร้างกลับเข้าไซต์เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ทันที แต่หากมีงานด่วนต้องเร่งสร้างเร่งโอนก็จำเป็นต้องใช้ทีมช่างชุดเก็บงาน ซึ่งค่าแรงแพงกว่า 2-3 เท่าทำแทน ทำให้ต้นทุนค่าแรงก่อสร้างเพิ่มโดยอัตโนมัติ

“ผมว่าตอนนี้อยู่ในช่วงก้ำกึ่งของมาตรการปิดแคมป์ ขอดูสถานการณ์สัก 3-5 วัน ถ้าภาครัฐผ่อนปรนในบางพื้นที่ ไซต์ก่อสร้างแนวราบที่ไม่ได้มีคลัสเตอร์โควิดก็น่าจะรีบผ่อนปรนให้ทำงานก่อสร้างได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องหยุดก่อสร้างนานถึง 1 เดือนก็ได้ โดยรัฐเร่งฉีดวัคซีนให้คนงานก่อสร้าง และใช้โมเดลปิดแคมป์ แต่ยังทำงานในแคมป์ได้ เหมือนโมเดลสมุทรสาคร ซึ่งปัญหาหนักกว่าเพราะมีทั้งแรงงานก่อสร้างกับแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม” นายวรยุทธกล่าว

ยะลาหวั่นงบฯถูกตีกลับ

นายกันต์พงษ์ ลิ่มกาญจนา ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา กล่าวว่า กำลังรวบรวมข้อมูล โดยเฉพาะโครงการที่ใช้งบประมาณปี 2562 แต่กันเงินมาปี 2563 โดยหน่วยงานภาครัฐที่ว่าจ้างให้ทำโครงการแจ้งมาแล้วว่า จะต้องส่งงานให้แล้วเสร็จในต้นเดือนกันยายน 2564 หากส่งช้ากว่านั้นจะไม่สามารถเบิกเงินได้ เพราะเงินงบประมาณจะถูกตีกลับไป ทางหน่วยราชการที่ว่าจ้างจะต้องเสนอขอตั้งงบประมาณไปใหม่ในปีงบประมาณ 2565

ครม.จ่ายอ่วม 8,500 ล้าน

ล่าสุด ที่ประชุม ครม.วันที่ 29 มิถุนายน 2564 มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ 1) มาตรการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร) ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด 1 เดือน

รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ กลุ่มแรงงานผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทย ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม 2,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยเนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรค ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่ แต่ไม่เกิน 90 วัน

ผู้ประกอบการหรือนายจ้างตามหลักการให้ความช่วยเหลือจะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน ผู้ประกอบการหรือนายจ้างแต่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม กรณีเป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,000 บาทต่อคน

กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น “ถุงเงิน” ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท กรณีผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหาร เครื่องดื่มของโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการคนละครึ่ง และมีลูกจ้างแต่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564

คาดว่าการดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน จะมีกรอบวงเงินรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท (พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท) รวมกับเงินกองทุนประกันสังคม วงเงิน 3,500 ล้านบาท รวมใช้งบประมาณทั้งสิ้น 8,500 ล้านบาท