อนันดาฯ #SaveAshtonAsoke “7 คำถาม” คำสั่งศาลปกครองกลาง

ชานนท์ เรืองกฤตยา
ชานนท์ เรืองกฤตยา

ปฏิบัติการหนึ่งหยดน้ำสะเทือนมหาสมุทร

พลันที่ศาลปกครองกลางเผยแพร่คำพิพากษาสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียมแบรนด์ลักเซอรี่ “แอชตัน อโศก สุขุมวิท 21” เมื่อเย็นวันศุกร์ 30 กรกฎาคม 2564 โดยให้มีผลย้อนหลัง

ตอนสายวันจันทร์ 2 สิงหาคม 2564 มีการจัดแถลงข่าวให้ข้อมูลในฝั่งบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าของโครงการ

โดยผู้ตอบคำถามประกอบด้วย “ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ “พิสิษฐ เดชไชยยาศักดิ์” ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท วีระวงค์, ชินวัฒน์ และพาร์ทเนอร์ส จำกัด ที่ปรึกษากฎหมาย

ก่อนหน้านี้ “ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอข้อมูลมีอีก 13 โครงการที่ขอใช้ทางเข้า-ออกบนที่ดินเวนคืนของ 3 รัฐวิสาหกิจเมื่อปี 2561 (ดูกราฟิกประกอบ) วันนี้คัด 7 คำถาม-คำตอบมานำเสนอ ดังนี้

มีเวลา 30 วันยื่นอุทธรณ์

คำถามที่ 1 บริษัทจะอุทธรณ์ศาลปกครองหรือไม่

(ชานนท์) ครับ เรามีเวลาน้อยมากเลยด้วยซ้ำ อย่างน้อยก็จะต้อง protect ตัวเองกับลูกค้าในความเป็น “ผู้ร้องสอด” ว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ต้องทำเร็วที่สุด แล้วก็ต้องทำละเอียดที่สุด

ประเด็นการอุทธรณ์จะทำในนามบริษัทอนันดาฯ หรือจะรวมลูกบ้าน 578 ครอบครัวที่รับโอนห้องชุดไปแล้ว คำชี้แจงคือลูกบ้านก็ถามเข้ามาและบริษัทก็ชวนร่วมกันอุทธรณ์ แต่ทางทีมทนายบอกว่าเจ้าของห้องชุดไม่ได้เป็นผู้ร้องสอดตั้งแต่คดีแรก (เริ่มถูกฟ้องคดีปี 2559) ตอนนี้จะเข้ามาร่วมอุทธรณ์ยังไง อันนี้ก็พยายามคิดอยู่ว่าจะขอให้เข้ามาร่วมยังไง ก็ยังคิดไม่ออก เรื่องนี้บียอนด์กฎระเบียบธรรมดา มันไม่เคยเกิดมาก่อน

ก่อนนี้ศาลปกครองชั้นต้นได้เคยมีคำสั่งคุ้มครองให้ก่อสร้างโครงการได้

เปิดเงื่อนไขเจรจา รฟม.

คำถามที่ 2 ปัญหาเพราะที่ดินพิพาทขัดกับกฎหมายเวนคืน

(ชานนท์) ในสปิริตของกฎหมายหลัก ๆ เลย ทางเข้า-ออกที่มีแปลงแม่กับแปลงลูกแล้วมาเชื่อมต่อกัน แปลงลูก (ที่ดิน 2 ไร่เศษที่ตั้งคอนโดฯแอชตัน อโศก) มีทางเข้า-ออก 6 เมตร แล้วไปในสปิริตของ TOD (Transit Oriented Development แนวคิดสนับสนุนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเขตเมือง) เปิดให้ขยายได้ ก็เลยขยายถนน 6 เมตร

จากนั้น (สร้างตึกสูง 50 ชั้นต้องมีถนนกว้าง 12 เมตร) บริษัทขอขยายเพิ่มอีก 7 เมตร การเพิ่ม 7 เมตรนี่แหละที่อนันดาฯเจรจากับ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” โดย รฟม.แจ้งว่าเข้าหลักเกณฑ์ TOD โดยมีเงื่อนไขให้อนันดาฯสร้างตึกจอดรถให้ รฟม.มูลค่า 97-100 ล้านบาท แล้วแชร์เป็นทางเข้า-ออกร่วมกันทั้งผู้โดยสาร รฟม.กับเจ้าของห้องชุดในคอนโดฯ

แต่ รฟม.บอกว่าโอนกรรมสิทธิ์ให้ไม่ได้เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจ จดภาระยินยอมไม่ได้ แต่ให้ใช้ทางร่วมกันได้เทียบเท่าสาธารณะ นิยามของกฎระเบียบออกมาประมาณนี้

ซึ่งคำพิพากษาศาลปกครองหลัก ๆ ผมมองว่า รฟม.ขอประชาชน (เวนคืน) มาทำรถไฟฟ้า อยู่ ๆ รฟม.ไปเอื้อให้บริษัททำตึกได้ยังไงแค่นี้เองครับ โดยสรุป รฟม.เปิดทางขยายถนนอีก 7 เมตรเพื่อแลกกับการให้เราสร้างอาคารจอดรถ

ตามมุมมองผมศาลคิดว่าการให้ทางเข้า-ออกไม่ใช่เป็นธุรกิจหลักของ รฟม.ที่มาทำรถไฟฟ้า ทาง รฟม.ก็บอกว่าไม่ได้ให้ขยายถนนฟรี รฟม.ได้ผลประโยชน์ให้องค์กรให้ประชาชนมูลค่าร้อยล้านนะ อนันดาฯต้องสร้างตึกให้ด้วยนะ จอดรถจะได้มีที่จอดตรงอโศก ตรงนั้นรถติดเข้าไปจอดและใช้รถไฟฟ้า ผมว่ามันเมกเซนส์ประเด็นมันอยู่ตรงนั้นเอง

ขยายทาง “64 ตารางวา”

(ทนายความพิสิษฐ) กรณีนี้ศาลปกครองมองว่าเป็นการใช้ที่ดินนอกวัตถุประสงค์ของการเวนคืน คำวินิจฉัยหลัก ๆ ของท่านเป็นเรื่องเดียวที่เป็นสาระสำคัญที่สุด

ในส่วนนี้ถ้าเราดูตามสภาพความเป็นจริง กรณีเช่นนี้นโยบายของรัฐเองก็สนับสนุนให้มีการใช้ทาง (หลักการ TOD) รฟม.ก็ประกาศอย่างชัดเจน และสภาพความเป็นจริงของทาง ณ วันนี้ก็ดูได้อยู่ว่า ที่ดินตรงนั้นเป็นที่ดินเหลือใช้ ไม่ใช่เป็นตัวอุโมงค์ ไม่ใช่เป็นตัวสถานี เป็นที่ดินเหลือใช้จากการเวนคืนแล้วเตรียมใช้เป็นที่จอดรถ รฟม.ไม่ได้สูญเสียกรรมสิทธิ์ ไม่ได้สูญเสียการครอบครอง และไม่ได้ใช้ประโยชน์

ทางตรงนั้นที่ รฟม.ให้ใช้เป็นทางผ่านเข้า-ออกในโครงการก็ยังคงเป็นทางที่ใช้ร่วมกัน รฟม.ก็ยังใช้เป็นที่จอดรถที่อยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กัน เพราะฉะนั้น ที่ดินเหล่านี้เดิมเป็นที่ดินของเจ้าของเดิมที่ถูกเวนคืน สำหรับเจ้าของเดิมเมื่อก่อนนี้เขาสร้างตึกสูงได้เพราะที่ดินติดถนนอโศกมนตรี การถูกเวนคืนเป็นเหตุทำให้สร้างตึกสูงไม่ได้

บวกกับเป็นที่ดินเหลือใช้แล้วซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม.อย่างเด็ดขาด เมื่อตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม.อย่างเด็ดขาด รฟม.ก็นำมาใช้ในกิจการของตัวเอง และเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของ รฟม.ในการให้บริการรถไฟฟ้า

(ข้อตกลงกับอนันดาฯ) นั่นคือ รฟม.ได้รับค่าทดแทนไปเกือบ 100 ล้านบาทในการสร้างตึก 7-8 ชั้น มีที่จอดรถเพิ่มอีกหลายร้อยคัน มีอาคารพาณิชย์ตรงนั้นที่ รฟม.สามารถให้บริการกับประชาชนได้ ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของศาล

เพราะฉะนั้น ตรงนี้ก็เป็นข้อเท็จจริงว่า เมื่อเปรียบเทียบกันที่ดินที่ใช้เป็นทางเข้า-ออก เนื้อที่ 64 ตารางวาที่ รฟม.ไม่ได้สูญเสียกรรมสิทธิ์ รฟม.ยังใช้ประโยชน์ได้ ใช้อาคารที่ได้รับค่าตอบแทนในภายภาคหน้าที่สร้างเสร็จกับการที่เราแลกให้มีการใช้ทางตรงนี้ ก็เลยเป็นเรื่องที่เกิดว่าเราจะแปลงความ (ตีความ) กันอย่างไร

ก็มีการแปลความเฉพาะว่า ถ้าเวนคืนแล้วทำอะไรไม่ได้เลยต้องไปทำรถไฟฟ้าอย่างเดียว มันก็เป็นเรื่องของการแปลความ ตรงนี่้เป็นจุดสำคัญที่ทางบริษัทอนันดาฯก็ต้องขอความเห็นจากสาธารณชนด้วย

(ชานนท์) เพราะฉะนั้น ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับโครงการนี้ (เป็นครั้งแรก) เพราะเราทำต่อเนื่องจากโครงการอื่นที่เขามีมาก่อน แต่ถ้ามีแนวบรรทัดฐานคดีเช่นนี้มันจะกระทบไปหมด ขณะนี้มีโครงการไม่ต่ำกว่า 10 โครงการใช้ที่ดินทั้งของ รฟม.ก็ดี การทางพิเศษแห่งประเทศไทยก็ดี หรือหน่วยงานราชการก็ดี ที่ได้มาจากการเวนคืน

เราจึงเชื่อมั่นว่าเราก็ขอความยุติธรรมทั้งบริษัทและลูกบ้าน 578 ครอบครัว ขณะนี้เขาได้รับความเดือดร้อนกันอย่างมหาศาล รวมตลอดถึงความเดือดร้อนที่กระทบกับการลงทุนระหว่างประเทศด้วย ผู้ร่วมทุนจากญี่ปุ่นกลุ่มมิตซุย ฟูโดซังซักถามมา เราก็ตอบเขายากมากว่าเรื่องทำนองนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

ลูกบ้านอยากร่วมอุทธรณ์

คำถามที่ 3 อนันดาฯวางแผนดูแลเจ้าของห้องชุดอย่างไรสำหรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

(ชานนท์) ในระยะสั้นบริษัทสื่อสารกับลูกค้าเร็วที่สุด มีซูมคอลกับลูกบ้าน ชี้แจงก่อนว่ากฎระเบียบคืออะไร หลายคนก็มองบริษัทเป็นจำเลย แต่ในที่สุดแล้วเขาเข้าใจความรู้สึกของผม (เจ้าของห้องชุด) ส่วนมากอยากประสานงานกับเราต่อว่าจะให้เป็นผู้ร้องสอดอุทธรณ์ด้วยได้ไหม ขอวิธีหน่อยทำยังไง เราก็พยายามศึกษาระบบกฎหมายอยู่ว่าจะทำยังไง เพราะถ้าไม่ใช่เป็นผู้ร้องสอดตั้งแต่ต้นจะยื่นไม่ได้

และมีกลุ่มไลน์กับกรรมการคอนโดฯ บริษัทพยายามประสานและมีการบ้านจะต้องส่งอีกอาทิตย์นี้ มีลูกบ้านบอกให้ช่วยคุยกับสถาบันการเงินได้ไหม เขาจะมีธุรกิจด้านไฟแนนซ์ การชำระงวดผ่อน และสถาบันการเงินจะทำยังไงต่อ บริษัทพยายามให้ข้อมูลกับสถาบันการเงินอีกพอสมควร ต้องช่วยเหลือเท่าที่เราทำได้

แล้วเราต้องพยายามเสนอขอสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอาคารชุดไทย ในการช่วยแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าเป็นชอร์ตเทอม

ขั้นตอนศาลสูงสุด 3-5 ปี

สำหรับลองเทอมสปิริตของผมต้องสู้สุดความสามารถของผมอยู่แล้ว ชื่อเสียงองค์กรต้องดูแลลูกค้าถึงที่สุด ผมเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผมต้องขอความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เราอยู่ในระบบกฎหมายทั้งหมด (การก่อสร้าง) ต้องคิดตลอดว่าต้องอยู่ในความถูกต้องตลอด ถูกต้องในสปิริต

ภาครัฐเป็นเจ้าของเป็นผู้ดูแลบ้านใหญ่ ผมเป็นผู้ดูแลบ้านเล็ก ต่างคนต่างยืนบนความถูกต้อง ขอความกรุณา ขอความเห็นใจจากบ้านใหญ่ ผู้ที่มีพาวเวอร์อยู่ในบ้านใหญ่ตอนนี้ต้องช่วยเราแล้ว จะให้นอนไม่หลับ 3 ปี 5 ปี (ระยะเวลาที่คาดว่าใช้พิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด) มันนอกความสามารถของผมจริง ๆ

โยนคำถามรัฐจะดูแลยังไง

คำถามที่ 4 หากศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้เพิกถอนใบอนุญาต ทางออกคืออะไร

(ชานนท์) ที่ผมคิดในความถูกต้อง ยืนบนความถูกต้อง ผู้บริหารบ้านใหญ่ (ภาครัฐ) ควรหันหน้าคุยกับเราว่าจะเทกแคร์ผลกระทบประชาชนยังไงบ้าง อนันดาฯ หรือผมเอง หรือเจ้าของร่วม (เจ้าของห้องชุด) ก็เป็นประชาชนที่ได้ผลกระทบกับภาครัฐ

ผมคุยกับผู้ร่วมทุนชาวต่างชาติ เขาบอกว่าภาครัฐต้องเทกแคร์สิ ถ้าเป็นบ้านเขา (ญี่ปุ่น) ภาครัฐเทกแคร์ ส่วนคำถามว่าบริษัทจะทำยังไงต่อ อันนี้ก็อยากได้ยินจากภาครัฐเหมือนกันว่า ภาครัฐจะทำยังไง ก็มีความหวังว่าภาครัฐต้องดูแลประชาชน

ส่วนบริษัทอนันดาฯแน่นอนผมเป็น CEO ทิ้งลูกค้าไม่ได้ และไม่ได้หนีไปไหน จะดูแลลูกค้าให้ดีที่สุดบนความยุติธรรมของกฎเกณฑ์ แต่ต้องดูว่าใน stakeholder ที่ผมต้องดูแลที่อยู่ในกฎระเบียบของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วยว่า power ของเรามีมากน้อยขนาดไหน อันนี้ก็ต้องเทกแคร์ทุกคน

เรื่องใหม่-กระเพื่อมทั้งวงการ

จริง ๆ แล้วตอนนี้ดูเหมือนไม่น่าจะเป็นปัญหาของอนันดาฯอย่างเดียว เป็นปัญหาของทั้งวงจรธุรกิจเลย เพราะตอนนี้นอกจากลูกค้าเวลาไปซื้อคอนโดฯแล้วจะถามข้อมูลเยอะ มีการลังเล ที่ผ่านมาเวลาลูกค้าไปซื้อโครงการเสร็จแล้วเขาจะค่อนข้างสบายใจไม่มีปัญหาแน่นอน แต่พอเคสนี้เกิดขึ้นมาแล้วต่อไปคนจะมั่นใจได้ยังไงว่าตึกสร้างเสร็จแล้ว ย้ายเข้าไปอยู่แล้วมันจะไม่มีปัญหาย้อนหลัง

เพราะฉะนั้น มันจะสร้างผลกระทบไปกับโครงการอื่นทั้งระบบเลย รวมถึงแบงก์ด้วย ปล่อยกู้ไปแล้วอนุมัติไปแล้ว เกิดเรื่องอย่างนี้ลูกบ้านจะบอกว่าขอหยุดผ่อนจนกว่าคดีสิ้นสุดมันก็จะกระทบไปหมด ตอนนี้มองว่าอาจไม่ใช่แค่อนันดาฯที่หาทางแก้ปัญหาคนเดียว อาจต้องมองไปถึงเพื่อน ๆ เราด้วยคือในกลุ่มของผู้ประกอบการทั้งหมด บริษัททำ EIA น่าจะต้องมีการพูดคุยกันทั้งระบบว่าเราจะแก้ปัญหาเหตุการณ์แบบนี้ไม่ให้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรบ้าง

สถาบันการเงินก็ป่วนด้วย

(ประเสริฐ) จริง ๆ ไม่ได้กระทบเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ กระทบทุกวงการไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ หรืออสังหาฯที่ต้องใช้ทางเชื่อมกับระบบสาธารณูปโภคของรัฐที่มีกฎหมายเวนคืน มันกระทบหลักประกันทั้งหมดทั้งวงการแบงก์ด้วย

จริง ๆ คนเดือดร้อนที่สุดน่าจะเป็นแบงก์ เพราะไม่รู้ว่าต้องโดนอะไรบ้าง ไม่ใช่แค่ตึกที่กำลังจะสร้าง กำลังจะเสร็จ ผลกระทบทุกหย่อมหญ้าจริง ๆ กับการพิจารณาในเคสนี้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นวาระแห่งชาติ เพราะจะกระทบเป็นวงกว้างทุกอุตสาหกรรม

เราเองก็บอบช้ำ ก็ค่อนข้างยากลำบากจากสถานการณ์โควิด แล้วยังมีอันนี้ขึ้นมาเป็นความเสี่ยงอีก อยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ได้ทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เห็นความสำคัญของจุดเล็กจุดนี้ที่จะมีปัญหาในวงกว้างในอนาคตเร็ว ๆ นี้

เวลาลูกค้าไปดูโครงการที่เป็น ready to move หรือโครงการกำลังก่อสร้างก็ตาม ก็จะขอดูเอกสาร อ.6 ขอดูใบอนุมัติเชื่อมทาง แล้วสุดท้ายมาประเด็นจะโอนขอใบสัญญาว่าถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรย้อนหลัง ขอให้ทั้งหมดเป็นโมฆะ ต้องรับผิดชอบ แปลว่ามันจะพังทั้งประเทศเลย

priority ของอนันดาก็คือการยืนเคียงข้างกับลูกค้าก่อน เมื่อวันอาทิตย์ 1 สิงหาคม 64 เราคุยกับลูกค้า 300 คน เราคุยกับลูกค้าแล้วก็เห็นอกเห็นใจลูกค้า พยายามช่วยเหลือรวมพลังกันเพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

อยากบินสูง-หันหน้าคุยกัน

คำถามที่ 5 กรณี worst case ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง เรามีแพลนทำยังไงเกี่ยวกับความเสียหายบ้าง

(ชานนท์) ถ้ามีมุมมองกฎหมายก็คงรู้กันว่าจะต้องเดินยังไงต่อ สปิริตของผมคือ ผมอยากจะให้เราบินสูงกว่า แทนที่จะใช้กระบวนการกฎหมายมาฟ้องร้องกัน มาดูแลซึ่งกันและกันเป็นพี่เป็นน้องกันไม่ได้เหรอ

ถ้าสมมุติว่า worst case จริง ๆ ผมว่าภาครัฐเองเป็นพ่อบ้านของเราทั้งหมดก็ต้องมาดูแลลูกบ้าน ถ้าไม่ดูแลอนันดาฯก็ต้องไปหาวิธีดูแลตามกฎระเบียบบริษัทมหาชน ดูแลลูกบ้านตัวเองเช่นเดียวกัน

วันนี้ความถูกต้องในใจของพวกเราคืออะไร หรือเราจะเล่นเกมกันไปเรื่อย ๆ ความถูกต้องหรือประโยชน์สูงสุดของสังคมเรา เผ่าพันธุ์ Thailand หรือประเทศไทย หลักการ TOD สนับสนุนการลงทุนแนวรถไฟฟ้า กฎระเบียบก็มีอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นก็หยุดสร้างเลยดีกว่าไหม 300 สถานีรถไฟฟ้าถ้าจะบอกว่าเวนคืนมาแล้วไม่ให้ทำอะไรข้าง ๆ

บางทีกฎหมายบางอย่างต้องดูประโยชน์สูงสุดของเผ่าพันธุ์ให้ได้ ถ้าเป็นผู้นำประเทศต้องดูประโยชน์สูงสุด มีคนบุกรุกริมคลองรัฐบาลยังต้องไปเยียวยาให้เขาอยู่ต่อไป ช่วยทำให้เป็นระบบระเบียบ อย่างกรณีนี้มีตึกสร้างขึ้นมามูลค่าหลายพันล้านแล้วบอกว่าจะมาทุบทิ้ง ผมว่ามันก็เสียประโยชน์ทรัพยากรประเทศ

ผมอยากจะชวนคิดว่าเราต้องพัฒนาหลุดจากวงจรให้ได้ ไม่อย่างนั้นสังคมไทยจะอยู่ในวงจรที่ผมเชื่อว่ามันจะไม่เจริญ แล้วเราก็จะสับขาหลอกกันเอง

เคลียร์ปม “ทางสาธารณะ”

คำถามที่ 6 ผู้ร้องคดี 16 รายระบุที่ดิน 2 แปลงมีการมอบเป็นทางสาธารณะ 1 แปลง อีก 1 แปลงไม่ได้ให้ เป็นมูลเหตุที่ทำให้ศาลปกครองชี้ว่าผิดมาตั้งแต่ขั้นตอนออกใบอนุญาต

(ทนายพิสิษฐ) ข้อเท็จจริงจากคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางในคดีนี้ ได้พิจารณาแล้วว่าไม่มีที่สาธารณะหรือภาระจำยอมใดอยู่ในแปลงก่อสร้าง แล้วก็ได้รับการยืนยันจากทางสำนักงานเขต สำนักงานที่ดินก็มายืนยันต่อศาลปกครองด้วย พยานหลักฐานก็ค่อนข้างชัดเจน

ข้อกล่าวหาในส่วนนี้ศาลปกครองกลางยกไปเหลือแค่ทางเข้า-ออกด้านหน้าที่บอกว่ามาใช้ที่ของ รฟม.ไม่ได้

เหตุผลมีคดีแต่เดินหน้าสร้าง

คำถามที่ 7 ปี 2559 ที่มีคดีฟ้องร้องตอนนั้นทำไมตัดสินใจเดินหน้าต่อ

(ชานนท์) ถ้าใครไปร้องอะไรแล้วเราจะหยุดทุกอย่างคงเป็นไปไม่ได้ เราต้องยืนอยู่บนความถูกต้อง ความสุจริตใจที่ขออนุญาตทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เราคิดว่าถูกต้องเราก็ต้องดำเนินการต้องสู้ เรายืนบนความถูกต้องและสุจริตเป็นเกราะกำบังของเรา

(ทนายพิสิษฐ) โครงการนี้ถ้าดู timeline จะเห็นได้ว่าเริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 ขณะที่ฟ้องคดี (2559) ตัวอาคารขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง 70-80% หรือมากกว่านั้นแล้ว เม็ดเงินลงทุนมากมายมหาศาล ราคาที่ดินก็ไม่ใช่ถูก ๆ แล้วตึกสูงก่อสร้างไป 70-80% แล้วท่านจะปล่อยให้คาราคาซังย่อมเป็นไปไม่ได้

และด้วยความมั่นใจจากข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ได้นำเสนออย่างชัดเจน เป็นสาเหตุสำคัญที่ CEO หรือคณะกรรมการบริษัทต้องดำเนินการก่อสร้างต่อจนจบ