พิษโอมิครอนรัฐเก็บภาษีที่ดิน 100% “แลนด์ลอร์ด-เจ้าสัว” แห่ปลูกมะม่วง-มะนาว

สวนมะม่วง

โกลาหลสักพักใหญ่ ๆ สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินปี 2565

จุดเกิดเหตุอยู่ที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 บอกว่า ขยายอีก 2 ปี หลังจากมีการประกาศใช้สองปีแรก (2563-2564) ด้วยการให้ส่วนลด 90% ประชาชน-ผู้ประกอบการเจ้าของทรัพย์สินจ่ายจริง 10% เหตุผลเพื่อ “บรรเทาภาระภาษีจากสถานการณ์โควิด”

มติ ครม.ล่าสุด เขียนอธิบายเรื่อยเปื่อยบอกว่า ขยายอีก 2 ปี แต่ไม่ได้พูดให้ชัดเจนว่าขยายอีก 2 ปีอย่างไร ทำให้คนเข้าใจผิดทั้งแผ่นดินว่ามีการต่ออายุส่วนลดภาษี 90% ให้อีกในปี 2565-2566

ล่าสุด “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็น 1 ใน 2 กระทรวงที่รักษาการตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 เพิ่งเปิดปากให้สัมภาษณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ภาษีที่ดินเป็นรายได้ส่วนท้องถิ่น

การลดภาษี 90% ทำให้รายได้ท้องถิ่นหายไปปีละ 3 หมื่นล้าน กระทรวงการคลังจึงเสนอให้กลับมาจัดเก็บภาษีเต็ม 100% ในปี 2565

วาระซ่อนเร้นที่ รมว.คลังไม่ได้พูดออกมาตรง ๆ ก็คือ ส่วนลดภาษี 90% ย้อนกลับมาเป็นภาระรัฐบาลต้องออกหน้าเป็นผู้จ่ายชดเชยให้กับท้องถิ่นแทน โดยปี 2563 จ่ายชดเชยไปแล้ว ส่วนปี 2564 รัฐบาลไม่ได้อุดหนุนให้ท้องถิ่น

ยุทธการณ์กลับมาเก็บภาษีที่ดิน 100% ในปี 2565 เหตุผลหลักจึงทำไปเพื่อ “บรรเทาภาระจ่ายเงินอุดหนุน” ของรัฐบาลเป็นหลัก และยอมหลับตาข้างหนึ่งให้กับเหตุผล “บรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชน-ผู้ประกอบการ” ถึงแม้จะยังบอบช้ำจากโอมิครอนก็ตาม

ส่อง พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน 2562

“ประชาชาติธุรกิจ” เรียงลำดับจุดเกิดเหตุ “ลด-ไม่ลดภาษี 90%” ตามลำดับเวลาและเงื่อนไขซับซ้อนซ่อนเงื่อนของกฎหมายภาษีที่ดิน ดังนี้

วันที่ 9 มีนาคม 2562 กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2562 มีผลบังคับใช้เป็นวันแรกและปีแรก หลังจากกฎหมายนี้มีความพยายามผลักดันตั้งแต่ปี 2537 โดยมีมาตรการสำคัญ ๆ ที่จะบอกว่าลดหรือไม่ลดภาษี ได้แก่

“มาตรา 37” ระบุถึง “เพดานภาษี” ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภทหลัก ประกอบด้วย ที่ดินประเภทเกษตรกรรม เพดานภาษีสูงสุด 0.15% หรือล้านละ 1,500 บาท

ประเภทที่อยู่อาศัย เพดานภาษี 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท

ประเภทอื่น ๆ (พาณิชยกรรม อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย) เพดานภาษี 1.2% หรือล้านละ 12,000 บาท

และประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพดานภาษี 1.2% เท่ากับประเภทอื่น ๆ หรือล้านละ 12,000 บาท (เนื่องจากเพดานภาษีเท่ากัน เวลาอธิบายทางกระทรวงการคลังจึงนำเสนอโดยรวบภาษีที่ดินเปล่ากลมกลืนเข้าไปอยู่ในหมวดประเภทอื่น ๆ)

ดังนั้น ข้อจดจำของมาตรา 37 ก็คือ กฎหมายระบุ “เพดานภาษี” ซึ่งหมายถึงอัตราจัดเก็บสูงสุดทำได้เท่านี้ เก็บน้อยกว่านี้ได้ แต่เก็บมากกว่านี้…ไม่ได้

ม. 94 กำหนดภาษีจัดเก็บจริง

ถัดมา จุดเกิดเหตุที่ทำให้เข้าใจผิดกระโดดข้ามไปที่ “มาตรา 94” (กฎหมายนี้มี 11 หมวด 1 บทเฉพาะกาล 97 มาตรา)

โดยมาตรา 94 บอกว่า ใน 2 ปีแรก (2563-2564) เขียนไว้ชัดเจนว่าให้ใช้ฐานภาษีดังต่อไปนี้

ประเภทเกษตรกรรม “อัตราภาษี” สูงสุด 0.01-0.1% หรือภาษีต่ำสุด-สูงสุดล้านละ 100-ล้านละ 1,000 บาท (ในขณะที่เพดานภาษี 0.15% หรือล้านละ 1,500 บาท)

ประเภทที่อยู่อาศัย 0.02-0.1% เริ่มต้นล้านละ 200-ล้านละ 1,000 บาท (เพดานภาษี 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท)

ประเภทอื่น ๆ (พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม) 0.3-0.7% หรือล้านละ 3,000-ล้านละ 7,000 บาท (เพดานภาษีล้านละ 12,000 บาท)

ประเภทที่ดินเปล่า 0.3-0.7% หรือล้านละ 3,000-ล้านละ 7,000 บาท (เพดานภาษี ล้านละ 12,000 บาท)

ดังนั้น ข้อจดจำของมาตรา 94 ก็คือ กฎหมายระบุ “อัตราจัดเก็บจริง” ซึ่งในทางปฏิบัติจะต้องมีการออกพระราชกฤษฎีการะบุอัตราจัดเก็บจริงทุก 2 ปี ซึ่งอัตราจัดเก็บจริงจะต่ำกว่าเพดานภาษี

คำถามคือทำไมต้องมีมาตรา 94 ระบุ “อัตราจัดเก็บจริง” ไว้ด้วย เหตุผลก็เพราะก่อนกฎหมายภาษีที่ดินออกมาบังคับใช้ ฟากเอกชนเรียกร้องการปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียว เพราะผู้จัดเก็บไม่ได้มีองค์กรเดียว แต่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม 7,850 แห่ง

แบ่งเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง, เทศบาล 2,472 แห่ง, เทศบาลนคร 30 แห่ง, เทศบาลเมือง 195 แห่ง, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,300 แห่ง และกรุงเทพมหานครกับเมืองพัทยา

คำว่า “อัตราจัดเก็บจริง” จึงเป็นอัตราแนะนำหรือเป็นไกด์ไลน์ให้กับผู้ปฏิบัติงาน หมายความว่า องค์กรท้องถิ่นผู้จัดเก็บภาษีที่ดิน 7,850 แห่งทั่วประเทศ กฎหมายให้อำนาจจัดเก็บน้อยกว่านี้ได้ แต่เก็บมากกว่านี้…ไม่ได้

ภาษีที่ดิน

ส่วนลดภาษีจากมาตรา 55

จุดเกิดเหตุต่อมา ตามไปดู “มาตรา 55” สาระสำคัญลดได้สูงสุด 90% และ “มาตรา 56” ระบุอำนาจในการประกาศลดหรือยกเว้นภาษีให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด

นั่นหมายความว่า การให้ส่วนลดภาษีที่ดินเป็นอำนาจของ “กระทรวงมหาดไทย” วิธีปฏิบัติตามกฎหมายภาษีที่ดินในปี 2563-2564 จึงออกมาเป็นรูปธรรม ดังนี้

วันที่ 18 มกราคม 2563 มีการตรา “พระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. 2563” ออกโดยอาศัย “มาตรา 55” ของกฎหมายภาษีที่ดิน สาระสำคัญให้ส่วนลด 90% มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

และวันที่ 30 มกราคม 2564 มี “พระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564” มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 31 มกราคม 2564) ให้ส่วนลดภาษี 90%

ต่ออายุ 2565-2566 ไม่มีส่วนลด

จุดเกิดเหตุล่าสุด วันที่ 10 ธันวาคม 2564 มี “พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564” สาระสำคัญกำหนด “อัตราภาษี” สำหรับปีภาษี 2565 เป็นต้นไป

ความหมายและผลลัพธ์ของพระราชกฤษฎีกาปลายปี 2564 จึงเป็นการต่ออายุ “อัตราจัดเก็บจริง” ตามมาตรา 94 ไม่ใช่ “การให้ส่วนลดภาษี” ตามมาตรา 55 แต่อย่างใด

ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ต่ออายุในปี 2565-2566 ใช้อัตราเดิมที่เคยประกาศในมาตรา 94 ของปี 2562 ทุกประการ

แลนด์ลอร์ดแห่สวมบทเกษตรกร

การบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินซึ่งใช้เวลาผลักดันยาวนานถึง 25 ปี (2537-2562) เกิดขึ้นบนการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของผู้ถือครองทรัพย์สิน โดยเฉพาะ “เจ้าที่ดิน” หรือแลนด์ลอร์ด ตลอดจนเจ้าสัว-ไฮโซ-เศรษฐีที่ดินทั่วฟ้าเมืองไทย

ไฮไลต์อยู่ที่ “ที่ดินเปล่า” มีภาระจ่ายภาษีหนัก.ที่สุด เพราะเพดานภาษีกำหนดไว้ 1.2% ล้านละ 12,000 บาท

แต่แท้ที่จริงแล้ว มีเงื่อนไขซ่อนไว้มากกว่านั้น มาจากหลักการใหญ่ของกฎหมายที่ต้องการให้กระจายการถือครองที่ดิน รวมทั้งต้องการกดดันให้มีการใช้ประโยชน์บนที่ดินไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ดังนั้น เพดานภาษีตามมาตรา 94 ดูเหมือนกำหนดไว้สูงสุดล้านละ 12,000 บาทก็จริง ประเด็นอยู่ที่ “ที่ดินเปล่า” ถ้ายังเพิกเฉยไม่ทำประโยชน์ใด ๆ จะถูกยกเพดานภาษีขึ้นไปทุก ๆ 3 ปี ในอัตราปีละ 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท จนกระทั่งไปชนเพดาน 3% หรือล้านละ 30,000 บาท

ก่อนหน้านี้ talk of the town จากการนำที่ดิน 24 ไร่ติดริมถนนรัชดาภิเษกมูลค่าหลักพันล้านบาท จากแปลงที่ดินเปล่าเนรมิตเป็นสวนมะนาว จนเรียกกันติดปากว่า lemon land

สด ๆ ร้อน ๆ ที่ดินอีกแปลงมูลค่าหลักพันล้านบาทเช่นกัน บนทำเลรอบสนามกอล์ฟราชพฤกษ์และนอร์ธปาร์ค โซนวิภาวดีรังสิต มีการปลูกต้นมะม่วงเพื่อให้นิยามที่ดินเปล่ากลายเป็นที่ดินเกษตรกรรม

คำนวณแล้ว ถ้าหากจับมูลค่าที่ดินมาชนกับประเภทภาษี สมมุติมูลค่าที่ดินเจ้าสัว-แลนด์ลอร์ดอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ถ้าเป็นที่ดินเปล่ามีอัตราภาษี 0.5% หรือล้านละ 5,000 บาท มูลค่า 1,000 ล้าน ต้องจ่ายภาษี 5 ล้านบาท/ปี

แต่…ถ้าเปลี่ยนนิยามที่ดินเปล่าเป็นที่ดินเกษตรกรรม มูลค่าที่ดิน 1,000 ล้านบาท ภาษี 0.07% หรือล้านละ 700 บาท เท่ากับเหลือภาษีที่ต้องจ่าย 7 แสนบาทเท่านั้น ตัวอย่างเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าการปรับตัวของกลุ่มทุนรายใหญ่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

มีคำถามสำคัญของ “อิสระ บุญยัง” ประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดประเด็นว่า ประชาชน-ผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กยังบอบช้ำกับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์โอมิครอนในปีนี้


“ประชาชน-ผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อย” จะอยู่ให้รอดกันอย่างไรจนจบปี 2565 ถ้ารัฐบาลไม่ลดภาษีที่ดิน 90%