ภาษีที่ดิน ต้องจ่ายเท่าไร ทำไมเศรษฐีต้องแปลงที่รกร้าง ไปปลูกมะม่วง

ทำไมเศรษฐีต้องแปลงที่รกร้างไปปลูกมะม่วง
ภาพจาก เทคโนโลยีชาวบ้าน

เปิดอัตราภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และที่ดินรกร้างว่างเปล่า หลังกระทรวงการคลังเสนอให้กลับไปจัดเก็บภาษีที่ดินเต็มอัตรา 100% ตอบข้อสงสัย ทำไมเศรษฐีต้องแปลงที่รกร้างเป็นสวนมะม่วง 

วันที่ 19 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า ปีนี้กระทรวงการคลังเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินเต็มอัตราที่ 100% คงเดิม หลังจากที่ลดให้ไปแล้ว 2 ปีก่อนหน้านี้

เนื่องจากการลดภาษีที่ดินแต่ละครั้งทำให้รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในแต่ละปีหายไปถึง 3 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีหนังสือแจ้งประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และจะมีกำหนดระยะเวลาชำระภาษีไม่เกินวันที่ 30 เมษายน 2565

ทำไมเศรษฐีต้องแปลงที่รกร้างไปปลูกมะม่วง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วง 2-3 ปีก่อนที่จะมีการประกาศบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มีปรากฏการณ์เศรษฐีนำที่ดินกลางเมือง แปลงเป็นสวนกล้วย สวนมะนาว ที่เรียกเสียงฮือฮาคือมีการนำที่ดิน 24 ไร่ ติดถนนรัชดาภิเษกมูลค่ากว่าพันล้านบาท มาทำเป็นสวนมะนาว

ล่าสุดเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่ดินโดยรอบสนามกอล์ฟราชพฤกษ์ และนอร์ธปาร์ค ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี จำนวนโดยรวมหลายสิบไร่ที่ปล่อยไว้เป็นที่รกร้างมานานนับสิบปี มีการนำรถแบ็กโคเข้ามาทำการปรับปรุงที่ดินรกร้าง แปลงร่างเป็นสวนมะม่วง

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรณีดังกล่าวอาจเป็นไปได้ว่าเป็นการปรับปรุงที่ดินรกร้างให้เป็นสวนเกษตร เพื่อที่จะทำให้ภาระภาษีลดลง เพราะเมื่อรัฐบาลประกาศจะมาเก็บแบบ 100% ไม่มีส่วนลด 90% แล้ว เจ้าสัวที่มีที่ดินรกร้างจำนวนมากก็ต้องหาวิธีลดภาระภาษี เพราะที่ดินบริเวณสนามกอล์ฟราชพฤกษ์ที่ทำเป็นสวนมะม่วงทั้งหมดก็น่าจะมีมูลค่าหลายพันล้านบาท

ซึ่งตามกฎหมายถ้าเป็นที่ดินรกร้างมูลค่า 200-1,000 ล้านบาท จะเสียอัตราภาษี 0.5% หรือล้านละ 5,000 บาท เช่น ถ้าที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาท ต้องเสียภาษี 5 ล้านบาท แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นที่ดินเกษตรกรรม มูลค่า 1,000 ล้านบาทจะเสียภาษีอัตรา 0.07% คิดเป็นภาษีเพียง 7 แสนบาท ซึ่งจะลดภาระภาษีไปได้จำนวนมาก

เปรียบเทียบภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรม-ที่ดินเปล่า

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลอัตราภาษีของที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพื่อเปรียบเทียบให้ผู้อ่านเห็นความแตกต่าง

ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คือ ที่ดินที่ใช้สำหรับการทำนา ไร่ สวน เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจการอื่นตามที่ประกาศกำหนด และมีกำหนดเพดานภาษีสูงสุดอยู่ที่ 0.15% รายละเอียดดังนี้

  • ที่ดินมูลค่า 0 – 75 ล้านบาท อัตรา 0.01% หรือล้านละ 100 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 75-100 ล้านบาท อัตรา 0.03% หรือล้านละ 300 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 100 – 500 ล้านบาท อัตรา 0.05% หรือล้านละ 500 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 500 – 1,000 ล้านบาท อัตรา 0.07% หรือล้านละ 700 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตรา 0.1% หรือล้านละ 1,000 บาท

ที่ดินรกร้างว่างเปล่า 

ที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ยกเว้น มีกฎหมายห้ามหรือทิ้งไว้เพื่อการเกษตรหรือปล่อยไว้เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการ

มีเพดานภาษีสูงสุดอยู่ที่ 1.2% แต่จะปรับเพิ่มอัตรา 0.3% ทุก 3 ปี แต่อัตรารวมไม่เกิน 3%

  • ที่ดินมูลค่า 0 – 50 ล้านบาท อัตรา 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 50 – 200 ล้านบาท อัตรา 0.4% หรือล้านละ 4,000 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 200 – 1,000 ล้านบาท อัตรา 0.5% หรือล้านละ 5,000 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 1,000 – 5,000 ล้านบาท อัตรา 0.6% หรือล้านละ 6,000 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตรา 0.7% หรือล้านละ 7,000 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: