คำต่อคำ คดีแอชตัน อโศกฯ คำตอบศาลปกครองสูงสุด “ทำให้จบในปี 2565”

แอชตัน อโศก

เวลาผ่านไป 7 เดือนเศษนับจากวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียม “แอชตัน อโศก สุขุมวิท 21” โดยให้มีผลย้อนหลัง

ล่าสุด ในโอกาสครบรอบก่อตั้ง 21 ปีเมื่อวันอังคาร 8 มีนาคม 2565 “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ชาญชัย แสวงศักดิ์” ประธานศาลปกครองสูงสุด กับ “สุชาติ มงคลเลิศลพ” รองประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอทราบความคืบหน้าการยื่นอุทธรณ์คดีแอชตัน อโศกฯ

จุดโฟกัสอยู่ที่เจ้าของห้องชุด 600 กว่าราย ได้ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมและร้องขอมาตรการเยียวยา เนื่องจากทยอยรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตั้งแต่ปี 2561 ขณะที่คำพิพากษาเกิดขึ้นในปี 2564 ทำให้เป็นผู้ได้รับผลกระทบทางตรงจากผลของคำพิพากษาดังกล่าว

ชาญชัย แสวงศักดิ์
ชาญชัย แสวงศักดิ์

Q : คดีแอชตัน อโศกฯ การพิจารณาจะตัดสินให้จบภายในปีนี้หรือไม่

ชาญชัย แสวงศักดิ์ – เรียนว่าตั้งแต่ผมรับตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด คดีที่คนสนใจของสื่อมวลชนหรือสังคมก็พยายามเร่งรัด คดีที่สื่อมวลชนหรือสังคมไม่สนใจแต่สำคัญมากก็มีเยอะนะ แต่คดีแบบนี้เป็นคดีเด่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็วิพากษ์วิจารณ์อะไรแบบนี้

ก็ต้องเรียนว่าศาลมี 2 ชั้นศาล ประธานไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงหรือชี้นำศาลชั้นต้นได้นะครับ บอกให้ท่านไปทางไหนไม่ได้ เมื่อศาลพิพากษาไปแล้ว คนชนะก็พอใจ คนแพ้ไม่พอใจ

คดีนี้ศาลชั้นต้น ศาลปกครองกลางพิพากษาแล้ว คู่กรณีทั้ง 2 ข้างมีการอุทธรณ์กันแบบลงลึก ซึ่งผมเข้ามารับตำแหน่งผมก็เร่งรัดผ่านหัวหน้าคณะ เจ้าของสำนวน และขั้นตอนอยู่ที่การดำเนินกระบวนพิจารณา ให้คู่กรณีนำเสนอข้ออ้าง ข้อเถียงกันเสร็จแล้ว อยู่ในช่วงตุลาการเจ้าของสำนวน บันทึกสำนวน และเสนอองค์คณะ เสร็จในปี 2565 นี้แน่นอน

แต่ว่าวันนี้ยังไม่เสร็จต้องขออภัยนะครับ ตามที่ผมเกริ่นไป ก็เร่งอยู่ แต่ว่าอย่าเร่งจนกระทั่งไปกดดันก็จะเสียความยุติธรรมได้ ทางองค์คณะและเจ้าของสำนวนตระหนักแล้วว่าเป็นคดีสำคัญ

สุชาติ มงคลเลิศลพ
สุชาติ มงคลเลิศลพ

Q : คอนโดฯมีการโอนกรรมสิทธิ์ตั้งแต่ปี 2561 มีประชาชน 600 กว่าครอบครัวเข้าไปอยู่อาศัยแล้วนานเกิน 3 ปี ด้วยความที่คดีนี้เป็นเคสแรกในประเทศไทย เรียนถามว่าศาลปกครองมีเกณฑ์อะไรบ้างในการพิจารณาคดี

สุชาติ มงคลเลิศลพ – คดีนี้อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนทุกท่านคงทราบ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอาคารชุด และเป็นคดีแรก ๆ ที่มีลักษณะเช่นนี้ คือมีประเด็นไปเกี่ยวข้องกับที่ดินของ รฟม. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) แต่ในคดีนี้ต้องทำความเข้าใจว่าประเด็นที่ศาลชั้นต้นหรือประเด็นที่คู่กรณีพิพาทกัน ได้มีการตั้งไว้ 5 ประเด็น ลองพิจารณาดู

ประเด็นแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับพื้นที่ที่ตั้งโครงการนั้นเป็นพื้นที่ที่เป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมอาคารชุดหรือไม่ กล่าวคือ มีด้านใดด้านหนึ่งไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรขึ้นไป และในประเด็นแรกมีประเด็นย่อยอีกว่า โครงการนี้รุกล้ำที่สาธารณะหรือไม่ กับอีกประเด็นคือ ได้มีการอนุญาตให้นำที่ดินของ รฟม. เวนคืนมาใช้ประโยชน์ของโครงการนี้ชอบหรือไม่

นอกจากนี้มีประเด็นเรื่องการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ชอบหรือไม่ มีประเด็นว่าหน่วยงานในปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ในการดูแลที่สาธารณะหรือไม่ เพราะว่ามีประเด็นโครงการนี้ก่อตั้งทางสาธารณประโยชน์ด้วย

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องการประกาศของ รฟม. เกี่ยวกับประเภทที่จะอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. ว่าชอบหรือไม่ และประเด็นเกี่ยวกับการอนุญาตให้โครงการนี้ได้ใช้ประโยชน์ชอบหรือไม่

ทั้งหมดมี 5 ประเด็น แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือประเด็นแรกที่ผมกล่าว เพราะฉะนั้นในที่สุดคำพิพากษาก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ

แน่นอนที่สุดคือพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ต้องนำมาพิจารณา ประเด็นที่สอง พระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 อย่างที่ผู้สื่อข่าวถามเมื่อกี้ว่ามันมีประเด็นที่มีการขออนุญาตการก่อสร้างอาคารชุด และมีผู้ซื้อเข้าไปอยู่มากมายหลายครอบครัว ก็มีกฎหมายอาคารชุดไปเกี่ยวข้อง

และมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เข้ามาเกี่ยวข้องที่ศาลต้องนำไปพิจารณาด้วย อีกกฎหมายคือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ก็เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งต้องนำไปพิจารณา สุดท้ายคือ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. 2553 เพราะมีประเด็นเจ้าหน้าที่รัฐละเลยต่อหน้าที่หรือไม่

เพราะฉะนั้น มีกฎหมายหลายฉบับที่ศาลปกครองจะต้องพิจารณาและให้ความละเอียดรอบคอบ จึงอาจต้องใช้เวลาในการพิจารณาบ้างพอสมควร เพื่อให้เกิดความรอบคอบและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่อุทธรณ์ขึ้นมา ก็คงเป็นไปตามที่ท่านประธานกล่าวเมื่อสักครู่ว่าปีนี้ก็คงมีผลการพิจารณาคดีออกมานะครับ

Q : กรณีที่ลูกบ้านแอชตัน อโศกฯ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากคดีนี้โดยตรง ถ้าเขาจะขอรวมตัวกันและเป็นผู้ร้องสอดในคดีนี้ทำได้หรือไม่

สุชาติ มงคลเลิศลพ – ต้องกลับไปดูในเรื่องของผู้ที่ซื้ออาคารชุดว่าเขาจะได้รับผลกระทบหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาททั้ง 5 ประเด็นอย่างไร ตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้เนี่ย เขาได้รับความเดือดร้อนมากแค่ไหนอย่างไร ถ้าเข้าข่ายที่เขามีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผลของคดีจะไปกระทบเขา เขาก็ใช้สิทธิเข้ามาร้องสอดตามกระบวนการจัดตั้งศาลได้

ชาญชัย แสวงศักดิ์ – แต่เขาจะต้องเข้ามาในศาลชั้นต้น แต่ถ้าเป็นเข้ามาในชั้นอุทธรณ์เลยจะไม่ได้

Q : กรณีตัดสินและพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในเคสที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

ชาญชัย แสวงศักดิ์ – มันเป็นเรื่องของคู่พิพาท แต่บุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปรับผิดชอบ คดีลักษณะนี้ไม่ได้เป็นคดีแรกนะครับ แต่เป็นที่สนใจ แต่เราก็ไปพูดล่วงหน้าไม่ได้ ในทางกลับกันมันเหมือนไปกดดันศาล ท่านนึกออกไหมครับ พวกเราเองก็ระมัดระวัง เพราะว่าศาลชั้นต้นท่านก็รอฟังอยู่เหมือนกันว่าศาลสูงจะว่ายังไง

จะเห็นได้เลยว่าข้อกฎหมายต่าง ๆ แต่ละคนจะเห็นไม่เหมือนกัน เราจึงมีกลไกแบบที่ผมว่า ถ้าคดีนี้เป็นคดีที่สำคัญแต่ยังเห็นไม่ตรงกัน มีหลายประเด็นเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นควรย้อนหลังหรือไม่ อย่างไร หรือควรจะหาทางออกอย่างอื่น ผมก็ไม่อยากพูดไปว่าเราก็คิดกันอยู่ เราก็ต้องเตรียมการ แต่เราต้องรอให้ผู้รับผิดชอบทั้งองค์คณะได้พิจารณาให้เป็นที่พอใจของท่านไปก่อน เราไปชี้นำใด ๆ ก็คงไม่ได้

ฉะนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเป็นผู้ที่เขาเป็นคนสร้างหรือขายใช่ไหมครับ และผู้ซื้อเป็นอีกปัญหาหนึ่ง เพราะว่าศาลมีหน้าที่พิจารณาคดีพิพาทระหว่างคู่กรณี แต่ผลกระทบที่มีต่อคนอื่น อย่างพวกสิ่งแวดล้อมเนี่ยจะมีปัญหาแบบนี้มาตลอดนะครับ


ผมไม่อยากขยายวงไป แต่คุยให้ท่าน (สื่อมวลชน) ฟังว่าเราก็ทำในกรอบของเรานะครับ