ทิ้งทวน 110 เมกะโปรเจ็กต์ ดึงเอกชนลงทุน PPP เร่งฟื้นเศรษฐกิจ

พิษโควิด 2 ปีกดดันแผนลงทุนรัฐ บอร์ด PPP ไฟเขียวเตรียมเปิดประมูลครั้งใหญ่ใน 5 ปี ดึงเอกชนร่วมลงทุนสูตรเร่งด่วน PPP บิ๊กโปรเจ็กต์ 110 โครงการ มูลค่า 1.12 ล้านล้านบาท เผยเป็นงานเร่งด่วนทั้ง กทม. คมนาคม กรมชลประทาน ทอท. และองค์การจัดการน้ำเสีย สร้างความคล่องตัว-ปลดล็อกงบประมาณมีจำกัด ปูพรมระบบสาธารณูปโภคทั้งระบบ เตรียมรับธุรกิจท่องเที่ยวฟื้น

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือบอร์ด PPP เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์โควิดเข้าสู่ปีที่ 3 ในปีนี้ เป็นปัจจัยกดดันต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐและโครงการจำเป็นเร่งด่วนต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้วงเงินลงทุนสูง

แต่งบประมาณแผ่นดินมีจำกัด ทำให้หน่วยงานรัฐหันมาใช้วิธีการประมูลรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เพิ่ม 43 โครงการ 1.23 แสนล้าน

โดยแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนปี 2563-2570 เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 มีจำนวน 67 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 9.97 แสนล้านบาท ต่อมาการประชุมบอร์ด PPP ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการพลังงานเป็นประธาน เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2565 เห็นชอบให้ปรับปรุงแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนล่าสุด พบว่ามีโครงการขอบรรจุเข้าแผนร่วมลงทุนเพิ่มเป็น 110 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 1,116,415 ล้านบาท

รายละเอียดแผนร่วมลงทุนล่าสุด ได้แก่ โครงการระดับจำเป็นเร่งด่วน (PPP High Priority) จำนวน 17 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 477,245 ล้านบาท โครงการปกติ (PPP Normal) 9 โครงการ วงเงิน 187,873 ล้านบาท และโครงการที่กำลังศึกษาความเป็นไปได้โครงการ (PPP Initiative) 84 โครงการ ลงทุนรวม 451,297 ล้านบาท

จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในรอบ 7 เดือน (สิงหาคม 2564-มีนาคม 2565) หน่วยงานรัฐส่งแผนร่วมลงทุนเพิ่มเติม 43 โครงการ มูลค่าร่วมลงทุนเพิ่ม 1.23 แสนล้านบาท

ส่วนใหญ่เป็นโครงการของกระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) องค์การจัดการน้ำเสีย กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นต้น

PPP Fast Track 4 โครงการ

ทั้งนี้ บอร์ด PPP เห็นชอบการตั้งคณะทำงานตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 2562 หรือคณะทำงาน PPP Fast Track เพื่อเร่งรัดแผนร่วมลงทุนในกลุ่ม high priority เพิ่มเติมอีก 4 โครงการ ประกอบด้วย

1.โครงการระบบขนส่งมวลชน ภูเก็ต ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ของ รฟม.

3.โครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางหรือ Rest Area บนมอเตอร์เวย์ M6 บางปะอิน-โคราช ของกรมทางหลวง (ทล.) และ 4.โครงการ Rest Area บนมอเตอร์เวย์ M81 บางใหญ่-กาญจนบุรี ของกรมทางหลวง

“หน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ก็อยากใช้งบประมาณปกติ เดิมมีโครงการเดียวแต่เป็นโครงการขนาดใหญ่ วงเงินลงทุนสูง ประมูลซอยย่อยหลายสัญญา การประกวดราคาแบบเดิมต้องเริ่มต้นขั้นตอนปกติทุกครั้งในแต่ละสัญญา เปรียบเทียบกับเมื่อทำ PPP ประกาศครั้งเดียวครอบคลุมทั้งโครงการ หน่วยงานทยอยเปิดประมูลทีละสัญญาได้เลย ทำให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการโครงการ เรื่องนี้จึงเป็นจุดเด่นของ PPP”

11 กิจการเข้าเกณฑ์ร่วมลงทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อมูล PPP Book เดือนมีนาคม 2565 จำนวน 110 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 1.12 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 11 กิจการ ได้แก่

  • 1.กิจการถนน ทางหลวง ทางพิเศษ การขนส่งทางถนน
  • 2.กิจการรถไฟ รถไฟฟ้า การขนส่งทางราง
  • 3.กิจการท่าอากาศยาน การขนส่งทางอากาศ
  • 4.กิจการท่าเรือ การขนส่งทางน้ำ
  • 5.กิจการจัดการน้ำ การชลประทาน การประปา การบำบัดน้ำเสีย
  • 6.กิจการพลังงาน
  • 7.กิจการโทรคมนาคม การสื่อสาร
  • 8.กิจการโรงพยาบาล การสาธารณสุข
  • 9.กิจการที่อยู่อาศัยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลาง ผู้สูงวัย ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้พิการ
  • และเพิ่มใหม่ประเภทที่ 11 กิจการโรงเรียน การศึกษา

เรียงลำดับแผนร่วมลงทุนมูลค่าสูงสุดได้ดังนี้ หมวดขนส่งทางราง 14 โครงการ มูลค่าร่วมลงทุน 560,954 ล้านบาท หมวดขนส่งทางถนน 22 โครงการ 299,049 ล้านบาท หมวดน้ำและบำบัดน้ำเสีย 23 โครงการ 149,787 ล้านบาท หมวดที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย 3 โครงการ 49,670 ล้านบาท

หมวดขนส่งทางน้ำ 11 โครงการ 27,983 ล้านบาท หมวดการศึกษา 4 โครงการ 12,690 ล้านบาท หมวดสาธารณสุข 4 โครงการ 11,047 ล้านบาท หมวดขนส่งทางอากาศ 24 โครงการ 4,374 ล้านบาท หมวดสื่อสาร 1 โครงการ 650 ล้านบาท หมวดพลังงาน 2 โครงการ 200 ล้านบาท และศูนย์ประชุม 2 โครงการ มูลค่าร่วมลงทุน 11 ล้านบาท

ทอท.ยิงสลุต 21 โครงการใหม่

โฟกัสเฉพาะโครงการที่เสนอเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ (PPP Initiative) มีรายละเอียด ดังนี้ หมวดถนน กรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม บรรจุแผนร่วมทุนโครงการ Rest Area 3 จุด ที่บางโปรง (ทางด่วนบางพลี-สุขสวัสดิ์) มูลค่าลงทุน 939 ล้านบาท, ทำเลด้านหลัง ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วงเงิน 4,082 ล้านบาท และบริเวณ กม.16 ทางด่วนเมืองทอง-บางปะอิน

หมวดอากาศ ขนส่งทางอากาศ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บรรจุแผนร่วมลงทุน 21 โครงการ โดยไม่ได้ระบุวงเงินลงทุน ได้แก่ โครงการครัวการบิน 4 โครงการสนามบินดอนเมือง, สนามบินภูเก็ต, สนามบินเชียงใหม่ โครงการซ่อมบำรุงขนาดเบาและล้างเครื่องบิน 6 โครงการที่สนามบินสุวรรณภูมิ, สนามบินดอนเมือง, สนามบินภูเก็ต, สนามบินเชียงใหม่, สนามบินหาดใหญ่, สนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และ 1 โครงการบริการภาคพื้นเที่ยวบินพิเศษและผู้โดยสาร VIP สนามบินดอนเมือง

โครงการบริการเชื้อเพลิง 2 โครงการที่สนามบินสุวรรณภูมิกับสนามบินดอนเมือง โครงการคลังสินค้า 4 โครงการที่สนามบินดอนเมือง, สนามบินเชียงใหม่, สนามบินหาดใหญ่ และสนามบินแม่ฟ้าหลวง โครงการบริการลานจอด-บริการภาคพื้น 3 โครงการที่สนามบินเชียงใหม่, สนามบินหาดใหญ่, สนามบินแม่ฟ้าหลวง และ 1 โครงการขนส่งสัมภาระตกค้างที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งหมดถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมรองรับธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นคืน หลังโควิด-19 เบาบาง

กทม.-กรมชลชง 1.38 แสนล้าน

ถัดมา หมวดจัดการน้ำ ชลประทาน ประปา บำบัดน้ำเสีย ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) บรรจุแผนร่วมลงทุนใหม่เกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสีย 5 โครงการ ที่เขตบึงกุ่ม มูลค่าลงทุน 7,792 ล้านบาท เขตลาดพร้าว 7,895 ล้านบาท เขตวังทองหลาง 9,468 ล้านบาท เขตสะพานสูง 4,870 ล้านบาท และเขตหนองจอก 5,720 ล้านบาท รวมมูลค่าลงทุนใหม่ 35,745 ล้านบาท

ขณะที่ กทม.บรรจุแผนร่วมลงทุนบำบัดน้ำเสียเดิม 4 โครงการที่เขตคลองเตย มูลค่าลงทุน 12,468 ล้านบาท บึงหนองบอน 7,924 ล้านบาท เขตดอนเมือง 5,900 ล้านบาท และเขตบางเขน 7,250 ล้านบาท รวมมูลค่าลงทุนแผนเดิม 33,542 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าร่วมลงทุนระบบบำบัดน้ำเสียรวมของ กทม. 67,287 ล้านบาท

อีกหน่วยงานที่บรรจุแผนเมกะโปรเจ็กต์ร่วมลงทุน คือ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล จังหวัดตากกับแม่ฮ่องสอน มูลค่าร่วมลงทุน 71,110 ล้านบาท

จัดการน้ำเสียแจม 5.3 พันล้าน

โครงการใหม่ที่ขอบรรจุแผนร่วมทุนยังมาจากองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) กระทรวงมหาดไทย เสนอแผนระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย 11 โครงการ ได้แก่ โครงการระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเทศบาลปากเกร็ด นนทบุรี มูลค่าร่วมลงทุน 862 ล้านบาท เทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย สมุทรปราการ 581 ล้านบาท เทศบาลนครรังสิต ปทุมธานี 671 ล้านบาท เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ชลบุรี 950 ล้านบาท เทศบาลนครศรีธรรมราช 474 ล้านบาท

เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี 1,048 ล้านบาท เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ 186 ล้านบาท เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด 287 ล้านบาท และเทศบาลเมืองเขารูปช้าง สงขลา 335 ล้านบาท รวมมูลค่าร่วมลงทุน 5,394 ล้านบาท

อว.-สพร.โหน PPP 1.3 หมื่นล้าน

หมวดโทรคมนาคม สื่อสาร บรรจุแผนร่วมลงทุนใหม่ 1 โครงการ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สพร.) ในโครงการการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ มูลค่าร่วมลงทุน 650 ล้านบาท

หมวดพลังงาน บรรจุแผนร่วมลงทุน 1 โครงการ ของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ในโครงการโซลาร์เซลล์ป้อนหน่วยงานรัฐและเกษตรกร มูลค่าร่วมลงทุน 200 ล้านบาท


ส่วนกิจการเพิ่มเติมใหม่ “กิจการโรงเรียน การศึกษา” บรรจุแผนร่วมลงทุน 4 โครงการ มูลค่ารวม 12,690 ล้านบาท ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ โครงการบัณฑิตนักปฏิบัติ (Hand on) มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา มูลค่าร่วมลงทุน 12,000 ล้านบาท โครงการโรงเรียนนานาชาติบริติชปัญญาดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช 300 ล้านบาท โครงการหอพักนักศึกษา ม.วลัยลักษณ์ 250 ล้านบาท และโครงการหอพักโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ มูลค่าร่วมลงทุน 140 ล้านบาท