กรมชลประทาน เพิ่มประสิทธิภาพ อ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน

กรมชลประทาน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า อ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2500 แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2506 มีปริมาณน้ำที่ระดับเก็บกัก 19.325 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 14,614 ไร่ และฤดูแล้ง 3,000 ไร่ ถือเป็น 1 ใน 5 อ่างเก็บน้ำที่สำคัญของจังหวัดอำนาจเจริญ แต่ที่ผ่านมา พบว่า ยังมีปัญหาปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ มีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ของประชาชน โดยเฉพาะในภาคเกษตร มีน้ำใช้ได้เฉพาะช่วงฝนทิ้งช่วง ไม่สามารถปลูกพืชฤดูแล้งได้เต็มศักยภาพ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานจะไม่สามารถทำการเกษตรได้ในช่วงฤดูแล้ง อีกทั้งเมื่อถึงช่วงฤดูน้ำหลากจะเกิดท่วมซ้ำซากในเขตอำเภอหัวตะพานและอำเภอเมืองริมฝั่งลำเซบาย และลำห้วยปลาแดก

“จากปัญหาที่เกิดขึ้น ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ จึงมีข้อสั่งการให้กรมชลประทานโดยโครงการชลประทานอำนาจเจริญ สำนักงานชลประทานที่ 7 จัดทำโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน – อ่างเก็บน้ำห้วยโพธิ์ขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ เป็นแหล่งเก็บน้ำสำรองไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคและสนับสนุนน้ำภาคการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง รวมถึงการสนับสนุนน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา รองรับการขยายตัวของทุกภาคส่วนในอนาคต อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตตัวเมืองอำนาจเจริญได้อีกทางหนึ่งด้วย”

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ ในส่วนของอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน โครงการชลประทานอำนาจเจริญ ได้กำหนดให้มีการขุดลอกอ่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำได้มากขึ้น 9.5 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มีความจุเพิ่มเป็น 28.34 ล้าน ลบ.ม. พร้อมปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพรอบอ่างเก็บน้ำ และจัดสร้างอาคารประกอบ 43 แห่ง และถนนรอบอ่าง

“เมื่อมีการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยานแล้วเสร็จ จะสร้างประโยชน์อย่างมากให้กับประชาชนในพื้นที่ ทั้งเกิดความมั่นคงด้านน้ำ ทำให้ภาคเกษตรมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ อีกทั้งช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตตัวเมืองอำนาจเจริญ เช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2562 จากอิทธิพลของพายุโมดุล ทำให้เกิดความเสียหายมูลค่าหลายร้อยล้านบาท รวมถึงพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ภายใต้แนวทาง อำนาจเจริญ เมืองธรรมเกษตร” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว