กรมชลประทาน ต่อยอด ‘นฤบดินทรจินดา’ อ่างเก็บน้ำสุดท้ายของในหลวงร.9 

กรมชลประทาน ต่อยอด ‘นฤบดินทรจินดา’ อ่างเก็บน้ำสุดท้ายของในหลวงร.9 

กรมชลประทานต่อยอดแผนบริหารจัดการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำ ‘ลำพระยาธาร’ จ.ปราจีนบุรี ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่มั่นใจ โครงการนี้จะแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ลดปัญหาสังคม  ตามรอย ‘อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา 

อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา” โครงการอ่างเก็บน้ำแห่งสุดท้ายของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อยอดการจัดการน้ำและแก้ปัญหาอุทกภัย ลดน้ำแล้ง น้ำท่วม อ.นาดี , อ.กบินทร์บุรี ในจ.ปราจีนบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง สู่โครงการศึกษาแผนการพัฒนาแหล่งน้ำและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำลำพระยาธาร จังหวัดปราจีนบุรี” ซึ่งรวมถึงโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังมืด และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยชัน ซึ่งผลการศึกษาพบว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำลำพระยาธารได้ 3 ปัญหาสำคัญ คือ ปัญหาภัยแล้ง (ปัญหาไฟป่า ปัญหาไม่มีแหล่งน้ำสำหรับสัตว์และพืช การขาดแคลนน้ำสำหรับใช้การเกษตร) ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม (มีรายได้น้อย ย้ายถิ่นฐาน) และปัญหาน้ำหลาก (น้ำไหลล้นตลิ่งและไหลหลากเข้าพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตร เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนและทรัพย์สิน) 

สุรชาติ มาลาศรี

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวถึงภาพรวมผลการศึกษาของโครงการว่า เป็นการศึกษาแผนหลักในการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำลำพระยาธาร ตามข้อจำกัดของพื้นที่ เช่น การพัฒนาน้ำใต้ดิน การขุดสระเก็บน้ำ การปรับปรุงระบบการปลูกพืช การพัฒนาฝาย ประตูระบายน้ำ รวมทั้งโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 

โดยได้คัดเลือกโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีความสำคัญ 2 ลำดับแรก มาศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม คือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังมืด และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยชัน ซึ่งจะได้มาถึงความเหมาะสมด้านต่างๆ ได้แก่ ที่ตั้งอ่างเก็บน้ำ ความจุ ระดับเก็บกัก และผลประโยชน์ที่จะได้รับ โดยโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังมืด จะตั้งอยู่ บ้านวังใหม่ ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ความจุ 15.55 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานฤดูฝน 23,950 ไร่ ฤดูแล้ง 8,784 ไร่ และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยชัน ตั้งอยู่บ้านบุสูง ต.นาดี อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ความจุ 15.94 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานฤดูฝน 10,780 ไร่  ฤดูแล้ง 5,735 ไร่

Advertisment

จากผลการศึกษาความเหมาะสมได้มีการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาตามองค์ประกอบโครงการที่ได้จากผลการศึกษาความเหมาะสม  พร้อมทั้งมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม หากโครงการเกิดขึ้นจริง นอกจากจะมีน้ำใช้สำหรับการเกษตรแล้ว ยังมีผลประโยชน์ด้านอื่นๆ ประกอบด้วย เป็นแหล่งอุปโภคบริโภคของชุมชน เป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับใช้ดับไฟป่าและเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผืนป่า เป็นแหล่งน้ำของสัตว์ป่า เพิ่มระดับน้ำใต้ดิน ช่วยตัดยอดน้ำหลากบางส่วน บรรเทาความรุนแรงของอุทกภัย เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และพัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อมีระบบชลประทานจะไม่ต้องเสียค่าสูบน้ำ เป็นการลดต้นทุนของเกษตรกรให้มีปริมาณน้ำใช้ตลอดฤดูทำให้ผลผผลิตทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น 

“พื้นที่ที่เห็นได้ชัดว่าได้รับประโยชน์อย่างแน่นอนคือตำบลนาดี เพราะในช่วงฤดูแล้งไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำ เราก็คิดว่าโครงการนี้จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ แต่พื้นที่ตรงนี้ฤดูฝนน้ำจะเยอะ เคยมีเหตุการณ์น้ำท่วมอุโมงค์และปีนี้ก็น้ำท่วมบริเวณท้ายน้ำ 3-4 ครั้งเลย เนื่องจากน้ำท่าเยอะและไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำ ถ้ายังไม่ทำก็จะถูกน้ำท่วมไปอย่างนี้ พอฤดูแล้งก็แห้งแล้ง” ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าว 

Advertisment

ด้านตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ นายปพนธนัย  เคนตู้ ชาวบ้านหมู่ 10 ซึ่งเป็นเกษตรกรตำบลนาดี มั่นใจว่าการเกิดขึ้นของอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำลำพระยาธาร จะมีผลดีอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม เพราะที่นี่ช่วงหน้าแล้งจะขาดน้ำ เกษตรไม่สามารถเพราะปลูกได้ หากมีแหล่งกักเก็บน้ำ ก็จะเป็นน้ำต้นทุนในการทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี หลายชุมชนใต้อ่างเก็บน้ำจะมีน้ำอุปโภคบริโภค และในอนาคตเราสามารถพัฒนาพื้นที่สันเขื่อนเป็นแหล่งท่องเที่ยว ตามรอยเขื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ที่เราเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว 

“จะมีพื้นที่หลายพันไร่ ได้รับประโยชน์จากการสร้างอ่างเก็บน้ำนี้ มีอ่างเก็บน้ำดีกว่าไม่มี สำหรับผมมันมีประโยชน์มากกว่า  อย่างช่วงหน้าฝน สมัยก่อนกบินทร์บุรีที่อยู่ใต้เราน้ำจะท่วมทุกปี    แต่เดี๋ยวนี้พอมีอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา น้ำที่ไหลไปกบินทร์บุรีมีสองสาย  คือจากบ้านผมหนึ่งสาย และจากอ่างเก็บน้ำหนึ่งสาย พอมีอ่างเก็บน้ำก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง ถ้ามีการสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำลำพระยาธารเพิ่มอีกก็จะช่วยได้อีก  เดี๋ยวนี้ตลาดไม่ค่อยท่วม แต่พื้นที่การเกษตรยังท่วมอยู่ช่วงหน้าฝน ถ้าสร้างอ่างเก็บน้ำก็จะได้รับผลประโยชน์ด้วย” 

มหิทธิ์ วงศ์ษา

นายมหิทธิ์ วงศ์ษา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทานกล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา เป็นโครงการที่มีพื้นที่โครงการบางส่วน อยู่ชายขอบอุทยานแห่งชาติปางสีดากับอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยกรมชลประทานได้มีการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี และพัฒนาด้านการเกษตรจนได้รับรางวัลสถานประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประเภทโครงการรัฐบาลดีเด่น 2 ปีซ้อน คือ รางวัล EIA Monitoring 2021 และ EIA Monitoring 2024 ดังนั้นสามารถเป็นโครงการต้นแบบสำหรับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมรวมทั้งด้านอื่นๆ เมื่อมีการพัฒนาโครงการในลุ่มน้ำลำพระยาธารที่มีองค์ประกอบโครงการที่มีผลกระทบต่อพื้นที่อนุรักษ์ได้เป็นอย่างดี  ซึ่งกรมชลประทานมั่นใจว่า จะสามารถดำเนินการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต่อยอดการจัดการน้ำและแก้ปัญหาอุทกภัย ลดน้ำแล้ง น้ำท่วม อ.นาดี , อ.กบินทร์บุรี ในจ.ปราจีนบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง ได้เป็นอย่างดี ตามแนวทางการทำงานของอ่างนฤบดินทรจินดา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ  

“กรมชลประทานมุ่งมั่นที่จะทำให้โครงการฯ ลุ่มน้ำลำพระยาธารสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านทุกคนในทางที่ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาบริเวณนั้นไม่มีการพัฒนาแหล่งน้ำเลย จากที่เราศึกษา ประชาชนในพื้นที่นั้นมีรายได้น้อย เนื่องจากเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ถ้าประสบภัยแล้งก็ทำการเกษตรไม่ได้ ถ้าน้ำท่วมก็ทำการเกษตรไม่ได้เช่นกัน การที่เราพัฒนาแหล่งน้ำก็จะทำให้ประชาชนพัฒนาการเกษตรในฤดูแล้งได้ โดยเฉพาะพื้นที่ตรงนั้นปลูกไม้ยืนต้นหรือผลไม้ได้ดี เช่น ทุเรียนปราจีนบุรี ฉะนั้นถ้าพัฒนาแหล่งน้ำให้มีน้ำใช้ตลอดปีก็จะปลูกไม้ผลได้อย่างดี เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”