
โรคนอนไม่หลับ เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะคนที่มีอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง และไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม จะยิ่งมีผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก การทราบว่าปัญหานอนไม่หลับมาจากสาเหตุใด มีอาการอย่างไร และมีวิธีนอนให้หลับอย่างไรบ้าง จะมีส่วนช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนได้
อาการของโรคนอนไม่หลับ
ภาวะนอนไม่หลับส่งผลกระทบต่อปัญหาทางสุขภาพ ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้ ทั้งนี้ควรทราบก่อนว่าลักษณะของอาการนอนไม่หลับเป็นอย่างไร โดยสามารถสังเกตอาการของโรคนอนไม่หลับได้ดังนี้
- นอนหลับยาก แม้ว่าจะง่วงแต่นอนไม่หลับ หรือใช้เวลานานกว่าจะนอนหลับได้ในแต่ละคืน
- นอนหลับไม่สนิท นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หรือสะดุ้งตื่นระหว่างคืนบ่อย ๆ ทำให้การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง และพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ
- รู้สึกไม่สดชื่นหลังตื่นนอน แม้ว่าจะนอนหลับพักผ่อนครบตามชั่วโมงที่ควรจะเป็น แต่กลับตื่นมาด้วยความรู้สึกเหนื่อยล้า ไม่สดชื่น หรือไม่มีพลังงาน
- ทำงานผิดพลาดมากขึ้น การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของสมอง ประสิทธิภาพในการทำงานจึงลดลง เกิดข้อผิดพลาดหรือเกิดอุบัติเหตุได้บ่อยครั้ง แม้จะเป็นงานประจำที่มีความคุ้นเคยก็ตาม
นอนไม่หลับ สาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง
อาการนอนไม่หลับเกิดจากสาเหตุหลายประการ การทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริง จะช่วยให้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น โดยสาเหตุหลัก ๆ มีดังนี้
- ความเครียด ความวิตกกังวลเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้นอนไม่หลับทั้งคืน หรือนอนหลับยากขึ้นได้
- สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น เสียง แสง หรืออุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม ล้วนแต่มีผลให้เกิดอาการนอนไม่หลับ หรือรู้สึกกระสับกระส่ายได้ทั้งสิ้น
- เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การดื่มกาแฟ ชา หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ใกล้กับช่วงเวลาเข้านอน อาจส่งผลให้นอนไม่หลับได้
- แสงสีฟ้าจากหน้าจอ การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนเข้านอน อาจทำให้นอนหลับไม่สนิทหรือตื่นบ่อย เนื่องจากแสงสีฟ้ามีผลต่อฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อการนอนหลับ
- ยาและโรคทางการแพทย์บางโรค เช่น ยาแก้ปวด/แก้ไข้หวัดบางชนิด ยาต้านเศร้า หรือโรคบางโรค เช่น กรดไหลย้อน โรคหัวใจ เบาหวาน หอบหืด ไทรอยด์เป็นพิษ โรคพาร์กินสัน เป็นต้น
นอนไม่หลับส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจอย่างไรบ้าง
การนอนไม่หลับส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ความเสี่ยงทางด้านร่างกาย เช่น การตัดสินใจที่ช้าลง ความสามารถในการจดจำลดลง หรือเกิดอาการเหนื่อยล้าตลอดทั้งวัน จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการขับขี่หรือทำงานกับเครื่องจักร
นอกจากนี้ ยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิต และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง คนที่นอนไม่เพียงพอจึงมีโอกาสติดเชื้อหรือเกิดโรคเรื้อรังได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคเบาหวาน หรือโรคอ้วนก็ตาม
การนอนไม่หลับ สมองไม่หยุดคิด สามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจได้เช่นกัน บางรายอาจมีอารมณ์แปรปรวน รู้สึกวิตกกังวลตลอดเวลา หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าได้มากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ความสัมพันธ์กับครอบครัวหรือคนรอบตัวแย่ลงอีกด้วย
ทำอย่างไรให้นอนหลับง่ายและหลับสนิทตลอดทั้งคืน
ใครที่ไม่อยากให้ร่างกายอ่อนแอหรือป่วยง่าย ต้องรู้จักวิธีแก้ปัญหานอนไม่หลับอย่างถูกวิธี ซึ่งในขั้นต้นควรเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง ที่อาจช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น วิธีแก้นอนไม่หลับมีดังนี้
- ปรับเวลาเข้านอนและเวลาตื่น การเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดียวกันของทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นวันทำงานหรือวันหยุด ทำให้ร่างกายคุ้นเคยและหลับได้ง่ายกว่าเดิม
- งดเครื่องดื่มคาเฟอีนในช่วงบ่าย หากคุณเป็นคนนอนหลับยาก วิธีแก้ง่าย ๆ คือ การหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟหรือชา เพราะคาเฟอีนอาจรบกวนการนอนหลับได้
- ลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ก่อนนอนประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อปรับร่างกายให้พร้อมก่อนการพักผ่อน
- สร้างบรรยากาศให้เหมาะสม การนอนหลับในห้องที่เงียบ มืด และมีอุณหภูมิเย็นสบาย จะช่วยให้หลับง่ายขึ้น
- หาตัวช่วยนอนหลับ การดื่มชาคาโมมายล์อุ่น ๆ เป็นวิธีทําให้นอนหลับได้สบายมากขึ้น เพราะเป็นสมุนไพรที่ช่วยให้ผ่อนคลายและช่วยลดความวิตกกังวลได้
สรุปปัญหานอนไม่หลับและวิธีแก้ไขด้วยตัวเอง
โรคนอนไม่หลับเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายประการ การทำความเข้าใจถึงสาเหตุของการพักผ่อนไม่เพียงพอ และวิธีแก้อาการนอนไม่หลับอย่างเป็นธรรมชาติ จะช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนให้ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมในห้องนอนอย่างเหมาะสม หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเอง เพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ และถือเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บได้
แต่หากปัญหานอนไม่หลับยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและรับการวินิจฉัยโรคให้ถูกต้อง เพราะเป็นไปได้ว่าปัญหานอนไม่หลับที่กำลังเผชิญอยู่ อาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคกรดไหลย้อน หรือโรคต่อมลูกหมากโต ที่ไม่สามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง เพื่อการแก้ไขอย่างตรงจุด