Gig Economy ทัศนคติที่เปลี่ยนไปของวัยทำงาน

คุณรู้จักคำนี้มั้ย? Gig Economy หรือ Gig Worker ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมากลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐอเมริกาได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งหากให้อธิบายความหมายโดยชัดเจนก็คือ เทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่โดยเน้นการจ้างงานในรูปแบบชั่วคราว สัญญาจ้าง ฟรีแลนซ์ หรือแม้แต่คนที่ทำธุรกิจส่วนตัวแบบที่ไม่มีลูกน้อง ก็อยู่ในคำจำกัดความของคำนี้ ซึ่งตรงกับคำแสลงในปัจจุบันว่า Gig ที่หมายถึงรูปแบบชั่วคราวนั่นเอง

ปัจจุบันกำลังเป็นแรงงานสำคัญและกลายเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคต จากการเก็บข้อมูลของ Mckinsey Global สถาบันที่ปรึกษาชั้นนำของสหรัฐฯ รวบรวมข้อมูลแรงงานที่ทำงานทั้งอียูและสหรัฐฯ รวมกันมีมากกว่า 162 ล้านคน โดยแรงงานเหล่านี้เฟื่องฟูผลพวงจากการก้าวหน้าของเทคโนโลยีล้ำสมัย และความนิยมทำงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อย่าง Uber, Airbnb และ Fiverr เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีงานฟรีแลนซ์รูปแบบใหม่ๆ เปิดกว้างไม่เฉพาะในอียูและสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมทั่วโลก

วัยทำงานยุคใหม่ของไทย คือ Gig

ทั้งนี้เทรนด์การทำงานยุคใหม่ของกลุ่มคนหนุ่มสาวในประเทศไทย ที่ต้องการอิสระและมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น ทำให้มีการประเมินว่า ในคนจำนวน 10 คนจะมีคนที่เป็น Gig Worker อยู่ 3 คนที่รับงานอิสระ หรืองานครั้งคราวอย่างเต็มตัว รวมถึงการทำธุรกิจในรูปแบบคนเดียว รับจ้างทั่วไป ธุรกิจส่วนตัว ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งสินค้าเดลิเวอรี และลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์อื่นๆ ซึ่งเป็นงานที่อยู่นอกเหนือจากงานในระบบประจำ ที่สำคัญคือคนรุ่นใหม่ยุคนี้ไม่นิยมในการเข้าสู่ระบบงานประจำ ทำให้มีการประเมินว่าแรงงานประเทศไทยยุคต่อไปจะเป็น ‘Gig’ เพิ่มมากขึ้นตามการพัฒนาของสังคมและเทคโนโลยี

ปัจจัยที่หนุนการเติบโตของ Gig Economy

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดและความนิยมที่เพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์มหางาน เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยในการเติบโตของ Gig Economy แต่ยังมีแง่มุมอื่นอีกที่ส่งผลต่อความนิยมของการทำงานอิสระ

วัฒนธรรม : วิวัฒนาการไม่หยุดนิ่งของวัฒนธรรมให้กำเนิดคนทำงานรุ่นใหม่ ด้วยความเบื่อหน่ายกับงานบริษัทและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ยืดหยุ่น คนจำนวนมากขึ้นหันมาเลือกงานที่ให้อิสระกับพวกเขามากกว่าเดิม ทั้งการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียอย่างง่ายดาย ช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงตามโลกแห่งยุคดิจิทัลนี้ และคนทำงานฟรีแลนซ์สามารถกำหนดชั่วโมงทำงานของตัวเองได้ตามใจ

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ : หลังจากเศรษฐกิจซบเซาไปทั่วในปลายทศวรรษ 2000 และต้นทศวรรษ 2010 บริษัทต้องหากลยุทธ์ต่างๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อเอาตัวรอด หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาคือการลดจำนวนพนักงานประจำ และจ้างคนมาทำงานแทนแบบออนดีมานด์

งานที่มีไม่สม่ำเสมอ : หลายบริษัทไม่จำเป็นต้องมีนักออกแบบกราฟิก นักพัฒนาฯ และนักการตลาดประจำ จึงหันไปพึ่งแพลตฟอร์มหางานเพื่อจ้าง Gig worker แบบออนดีมานด์ โดยไม่ต้องเผื่อเวลาทำงานมากนัก

 ข้อดีของการทำงานแบบ Gig Economy

การลดรายจ่ายในธุรกิจ เมื่อไม่จำเป็นต้องจัดหาที่ทางและฝึกอบรมให้พนักงานระยะสั้น บริษัทสามารถประหยัดทรัพยากรและเวลาได้มหาศาล Kelly Services พบว่า 43% ของบริษัทที่ใช้บริการจาก Gig Worker สามารถลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับแรงงานได้ถึง 20% ในขณะที่การจ้างพนักงานประจำอาจสิ้นเปลืองกว่าถึง 30-40%

ในอีกแง่มุมหนึ่ง ความยืดหยุ่นมีบทบาทสำคัญสำหรับคนทำงาน 33% ระบุว่าการรักษาสมดุลระหว่างงานกับชีวิตเป็นเรื่องยาก และ Gig economy ทำให้พวกเขามีเวลาส่วนตัวมากขึ้น

ข้อเสีย Gig Economy ก็มีเหมือนกัน

Gig Worker อาจรู้สึกไร้ทิศทาง ส่งผลให้ไม่สามารถสร้างคุณค่าในระยะยาวและทำผลงานที่โดดเด่นให้กับบริษัท ข้อเสียอีก 1 อย่างคือ การขาดการกำกับดูแล ด้วยความที่เป็นเทรนด์เกิดใหม่ Gig Economy จึงยังต้องการกำกับดูแลโดยผู้กำหนดนโยบาย ขณะนี้ความกังวลหลักๆ มีทั้งการไม่มีวันลา ประกันสุขภาพ และแผนการออมเงินสำหรับเกษียณอายุ เมื่อไม่มีนโยบายคุ้มครอง Gig Worker พวกเขาอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์หลายอย่าง เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาหารายได้เพียงพอ ผู้ทำงานอิสระจำนวน 63% นำเงินเก็บมาใช้ในแต่ละเดือน เทียบกับเพียง 20% ของลูกจ้างประจำ

เศรษฐกิจแบบ Gig Economy แม้ทุกวันนี้จะยังมีอุปสรรคไม่น้อยแต่ Gig Economy แต่จะคงอยู่กับโลกใบนี้ ที่สำคัญการเร่งของโควิด 19 ทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญของระบบการทำงานยุคใหม่ ด้วยเหตุนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังพิจารณาการจ้างงาน อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เพราะหากจะมุ่งจ้างแรงงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ อาจต้องพิจารณาถึงความยืดหยุ่นในการทำงาน หรืออาจจ้างเอาท์ซอร์สเพื่อให้สามารถควบคุณงบประมาณได้ด้วย ผสานกับการจ้างงานในรูปแบบปกติ