คณะพาณิชย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ จับมือกับภาครัฐ แนะวิธี How-to-go โตไงดี เศรษฐกิจปี’65

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สมาคมนักศึกษาเก่าพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (TBSA) จัดเสวนาออนไลน์ “ไทยแลนด์ Rebound ฮาวทูโก โตไงดี เศษ-กิจ 2022” ร่วมระดมความคิด และแนวนโยบายสำหรับการ Rebound ของธุรกิจ บทเรียน การปรับตัวจากโควิด-19 และความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ของภาคธุรกิจ เพื่อให้กลับมาสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ ในมุมมองของนโยบายภาครัฐ ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม ด้านวิชาการ ด้านการแพทย์ และสาธารณสุข

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล สะท้อน ให้เห็นว่า 2 ปีที่ผ่านมาโควิดทุกอย่างหยุดชะงัก ในต่างประเทศก็ปิดกิจกรรม ปิดการค้าขาย ในช่วงแรกไทยก็ได้รับผลกระทบการส่งออกช่วงแรก ๆ แต่ยังขายในประเทศได้  เพราะเรามีการปรับตัวทางธุรกิจ ในภาพของสภาอุตสาหกรรม เราเป็นภาคการผลิต 45 ภาคธุรกิจ รวม 11 คลัสเตอร์ เรายังส่งออก และเดินเครื่องได้ดี 10 เดือนมานี้ (ม.ค.-ต.ค. 64)  เติบโต 15.7% ประเมินว่า 2 เดือนนี้จะส่งออกได้ดี เพราะเริ่มกลับมาเปิดประเทศ สต๊อกเก่า ๆ ที่มีอยู่ก็หมดไป ตัวเลขที่โตขึ้น ปีนี้เลยสูงขึ้น

สำหรับ How To ในปีหน้า จะ Rebound อย่างไรนั้น ในมุมของสภาอุตสาหกรรมฯ นำเสนอนโยบาย Industry transformation, BCG Model, โครงการ Smart Agriculture Industry (SAI) และ FTI Academy  เพื่อสนับสนุนในการสร้างความสามารถ และในการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน  ซึ่งขณะนี้เราเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน BCG และร่วมผลักดันในการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้เกิดการพัฒนาต้นแบบโมเดลกลุ่มอุตสาหกรรมนำร่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดเป็นรูปธรรมและสัมฤทธิ์ผล เพื่อสร้างทางเลือกแผนธุรกิจที่มีศักยภาพสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมและร่วมจัดทำคู่มือบทเรียนความสำเร็จของ CE Champion จาก 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม อาทิ ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง อาหาร ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย มีความเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการทุกขนาดโดยเฉพาะ SMEs รวมถึงเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีจุดแข็งและมีศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ร่วมผลักดันและดำเนินงานตามนโยบาย BCG ของประเทศ ภายใต้ 3 กลยุทธ์ คือ 1) การพัฒนาโมเดล BCG และการขยายผล 2) การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ และ 3) การพัฒนามาตรฐานและการสนับสนุนด้านนโยบาย โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจเติบโตและเป็นมิตรกับ    สิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรบริสุทธิ์น้อยลง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยมีกิจกรรมสำคัญ อาทิ การส่งเสริม SAI : Smart Agriculture Industry การพัฒนา Platform การบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือที่เรียกว่า “Circular Material Hub” การจัดทำข้อตกลงร่วมบรรจุภัณฑ์พลาสติก PET ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการจัดขยะพลาสติกภายใต้การสนับสนุน AEPW การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมถึงโครงการการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมฯ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

ส่วนเอสเอ็มอีรายย่อย เราเน้นการเสริมสภาพคล่อง พี่ช่วยน้อง ซัพพลายเชน ชำระเงินเร็วขึ้น พอมาวางบิลก็รีบจ่าย เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น  โควิดเป็นตัวเร่งที่ทุกอย่างเกิดขึ้น ต้องปรับตัว โควิด พยายามพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

สอดคล้องกับผู้แทนภาครัฐ ดร.พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาครัฐได้วางแผนในการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน โดยเตรียมสินเชื่อให้กับ SMEs และผู้ประกอบการขนาดกลาง ซึ่งมีหลายธนาคารเข้าร่วม อาทิเช่น สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพของธนาคารออมสิน โดยงดจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนแรก เพราะรัฐบาลได้เข้าช่วยบางส่วน โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย ก็มีการช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายย่อยในซัพพลายเชน โดยปลอดชำระเงินต้น 2 ปี เพื่อช่วยให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินดีขึ้น ซึ่งวงเงินตอนนี้มีเหลือสามพันกว่าล้าน และอีกหนึ่งโครงการจากแบงค์ชาติมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู โดยให้ธนาคารนำไปปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งจะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายขนส่งระบบคมนาคม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และดิจิทัล ปรับสภาพแวดล้อมอุตสาหกรรม ไว้บริการในอนาคต โครงการพัฒนาคน เสริมทักษะความเชี่ยวชาญ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ Upskill และ Reskill การใช้เทคโนโลยี การทรานฟอร์มด้วยดิจิทัล ด้วยหลักสูตรของมหาวิทยาลัยจะมีส่วนช่วย เรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรื่องอาชีพ ความรู้ใหม่ ๆ สามารถเรียนหลักสูตรสั้น ๆ ตามมหาวิทยาลัยได้ การเรียนทางออนไลน์ไม่ใช่เรื่องยาก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน รวมถึงสนับสนุนเรื่อง Green Factory อุตสาหกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปีหน้า เราเป็นเจ้าภาพประชุม APEC เรื่องนี้จะเป็นเรื่องหลัก ๆ ในการประชุมครั้งนี้

ทางด้าน ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มองเรื่องการพัฒนาบุคลากรว่า มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ผลิตบุคลากรออกสู่ตลาดแรงงาน ต้องมองว่าปัจจุบันสิ่งที่แน่นอนคือความไม่แน่นอน นอกเหนือการสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้บุคลากรแล้ว สิ่งสำคัญที่ว่า 1.ต้องสอนให้รู้จักทักษะการวิเคราะห์ คิดอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นบัณฑิตจบจากคณะไหน เขาต้องสามารถช่วยองค์กรที่เขาทำงาน และสามารถเดินหน้าต่อไป หมดยุคที่รับคำสั่งเจ้านายเขาต้องสามารถนำเสนอคำตอบ ทางเลือก สนับสนุนผู้บริหารในการตัดสินใจ 2.ยุคดิจิทัลจะต้องสามารถใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้เป็นมาตรฐานเหมือนกัน ซึ่งทุกสถาบันการศึกษาจะต้องมอบสิ่งนี้ให้กับบัณฑิต 3.เรื่องภาษาจะต้องมีอย่างน้อย 3 ภาษา เราต้องไปในระดับภูมิภาค และทำงานที่ประเทศไหนก็ได้ โลกที่เปลี่ยนแปลง แรงงานที่ลดลง เขาต้องออกไปข้างนอก เป็นวิธีการหนึ่งในการนำเงินเข้าประเทศ

อีกอย่างหนึ่ง ต้องเข้าใจบทบาทของสถาบันการศึกษา หน้าที่ของมหาวิทยาลัยเราสามารถเป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐและเอกชนซึ่งเรียกว่า Triple Helix เพื่อร่วมทำกรณีศึกษาขึ้นมา ช่วยวิสาหกิจชุมชนนำสินค้าไปขายในต่างประเทศ บทบาทมหาวิทยาลัยเราต้องสนับสนุนให้นักศึกษาได้ทดลอง มีส่วนร่วมกับภาคธุรกิจอย่างแท้จริง และช่วยวิสาหกิจชุมชน ทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งทั้ง 3 ส่วนจะต้องเดินไปด้วยกัน

ข้อแนะนำอีกอย่างสำหรับผู้ประกอบการ องค์กรต้องรู้จักศักยภาพตัวเอง ควรตรวจสุขภาพธุรกิจ เพื่อจะได้รู้ว่าข้างในมีปัญหาอะไร เพื่อหาทางแก้ปัญหา และฐานองค์กรมีรายละเอียดเพียงพอที่จะเดินหน้าได้ต่อ พร้อมจะปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ไม่ว่าอะไรจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม นอกจากนี้ยังมีเรื่องความยืดหยุ่น ปรับตัวเองให้สอดคล้องกับดีมานด์

ปิดท้ายด้วย รศ.ดร.นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ในปัจจุบันธุรกิจสุขภาพยังไปได้อีกไกล เพราะสถานพยาบาล หรือสถานดูแลต่างๆ รวมถึงธุรกิจ Wellness ของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้ว ชาวต่างชาติให้ความนิยมและเดินทางเข้ามารักษา และจะมีธุรกิจที่จะต้องมารองรับร่วมด้วย ซึ่งตอนนี้ด้านการผลิตยา เวชภัณฑ์ หรือแม้แต่อุปกรณ์ทางการแพทย์จะได้รับมาตรฐานมากขึ้น สืบเนื่องจากเพราะ COVID จึงได้มีการพูดคุยถึงมาตรฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชุดกาวน์ ชุด PPE ถุงมือ หน้ากาก อุปกรณ์ต่าง ๆ ควรมีมาตรฐานแบบไหน และต่อจากนี้ Supplier ต่าง ๆ จะมีมาตรฐานในการผลิต และมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นสำหรับใช้ในประเทศ และส่งออกต่างประเทศอีกด้วย ส่วนเรื่องของยา และเวชภัณฑ์คาดว่าน่าจะมีความก้าวหน้าขึ้นจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน นักวิจัย และสิ่งต่าง ๆ รองรับมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรามองเห็นความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น สรุปได้ง่าย ๆ คือ เราควรสนับสนุนและผลักดันเพื่อที่จะเติบโตไปพร้อมกันทั้งเรื่องสถานพยาบาล Wellness Center การผลิตยา หรือเวชภัณฑต่าง ๆ ทางการแพทย์