บริจาคเลือด ช่วยชีวิต

บริจาคเลือด
คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามาฯ
หน่วยคลังเลือด ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล

การบริจาคเลือดเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยคนป่วยที่ต้องการเลือดได้ การบริจาคไม่เป็นอันตราย เนื่องจากร่างกายแต่ละคนมีปริมาณเลือด 17-18 แก้วน้ำ แต่ร่างกายใช้เพียง 15-16 แก้วน้ำ ที่เหลือเราบริจาคให้ผู้อื่นได้

คุณสมบัติผู้บริจาคเลือด

1.ต้องมีอายุ 17-70 ปี สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง อายุต้องถึง 17 ปีบริบูรณ์ ถ้าไม่ถึงต้องมีเอกสารยินยอมจากผู้ปกครอง ผู้ที่มีอายุ 60-65 ปี และเคยบริจาคมาตลอด ให้บริจาคได้ทุก 3 เดือน ส่วนผู้มีอายุ 65-70 ปี ที่เคยบริจาคต่อเนื่อง ให้บริจาคได้ทุก 6 เดือน และต้องตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดทุกชนิดทุกครั้ง

2.ร่างกายต้องแข็งแรง นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ ไม่มีอาการอ่อนเพลียใด ๆ

3.เลี่ยงรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงก่อนบริจาคเลือด เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู ก่อนบริจาคเลือด 3 ชั่วโมง เพราะมีผลทำให้พลาสมาขาวขุ่นไม่สามารถนำเลือดไปบริจาคให้ผู้ป่วยได้

4.กรณีตั้งครรภ์ ให้นมบุตร เลือดจะมีสารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับทารกในครรภ์ ควรเก็บเลือดให้ทารกเพื่อเป็นเลือดสำรองในร่างกาย เพราะอาจเป็นภาวะเลือดจาง ซึ่งตอนคลอดเสียเลือดไปมาก

ADVERTISMENT

5.ผู้หญิงที่กำลังเป็นประจำเดือน สามารถบริจาคเลือดได้ ถ้าสุขภาพแข็งแรง ประจำเดือนมาไม่มากกว่าปกติ และไม่มีอาการอ่อนเพลียใด ๆ ส่วนผู้ที่หมดประจำเดือนแล้วบริจาคเลือดได้ หากแข็งแรงและไม่มีโรคประจำตัวใด ๆ

6.ผู้ที่สักหรือเจาะผิวหนัง เช่น เจาะหู หากเจาะด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่สะอาดปราศจากเชื้อโรค โดยผู้ชำนาญและเป็นเข็มหรือวัสดุที่ใช้ครั้งเดียวก็ปลอดจากการติดเชื้อ แต่ควรเว้นระยะให้แผลอักเสบหายสนิทอย่างน้อย 7 วัน

ADVERTISMENT

7.หากท้องเสีย ท้องร่วง ควรงดบริจาคอย่างน้อย 7 วัน เพราะอาจอ่อนเพลียจากการสูญเสียน้ำในร่างกาย หากฝืนบริจาคจะมีอาการเป็นลม หน้ามืด ส่วนผู้ป่วยที่รับเลือดอาจได้รับเชื้อที่อาจติดต่อทางกระแสเลือดได้

8.มีอาการน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุในระยะ 3 เดือน อาจเป็นโรคอันตรายร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคติดเชื้อโดยเฉพาะโรคเอดส์ ซึ่งมีสภาวะจิตใจวิตกกังวลหรือพักผ่อนไม่เพียงพอจึงควรเลี่ยงบริจาคเลือด

9.ผู้บริจาคเลือดที่ได้รับการผ่าตัดใหญ่ที่ใช้ยาสลบหรือยาชาเข้าไขสันหลัง ซึ่งสูญเสียเลือดจำนวนหนึ่งจึงต้องใช้เวลาสร้างทดแทน รวมถึงเนื้อเยื่อและสารอาหารในการซ่อมแซม ควรเว้นบริจาคเลือด 6 เดือน

กรณีผู้บริจาคเลือดได้รับการผ่าตัดเล็ก คือไม่ต้องใช้ยาสลบ แต่ใช้การระงับความรู้สึกเฉพาะที่ เช่น ยาชาเฉพาะส่วน และไม่ต้องมีการช่วยหายใจ ควรเว้นบริจาคเลือดอย่างน้อย 7 วัน