ทภ.1 อบรมแต่งกายชุดโบราณ 16 แบบสำหรับริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่กองทัพภาคที่ 1 พล.ต.กฤษณ์ดนัย อิทธิมณฑล เสนาธิการกองทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการ กองพระราชพิธีส่วนหน้า เป็นประธานเปิดการอบรมการฝึกการแต่งกายชุดโบราณ แก่กำลังพลและตัวแทนหน่วยงานต่างๆที่ร่วมอยู่ในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักพระราชวัง กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2รอ.) มณฑลทหารบกที่ 11 หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก (นปอ.) กรมการขนส่งทหารบก กรมพลาธิการทหารบก กรมสรรพาวุธทหารบก ผู้แทนจากโรงเรียนเตรียมทหาร ผู้แทนจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ การอบรมครั้งนี้มีคลังราชพัสดุพิธี กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง เป็นครูฝึกและสาธิตการแต่งกายชุดโบราณ จำนวน 16 แบบ อาทิ ชุดนำริ้ว ชุดธงสามชาย ชุดกลองชนะ ฉุดชัก พระพนักงานลากเกริน ชุดมหาดเล็กหลวง ชุดอินทร์ เชิญพุ่มเงิน ชุดพรหมเชิญ พุ่มทอง เป็นต้น โดยจะมีกำลังพลกว่า 1,700 นายที่จะเข้าร่วมในริ้วขบวนพระบรมศพ

พล.ต.กฤษณ์ดนัย กล่าวเปิดพิธีว่า การเปิดหลักสูตร ‘unit school แต่งชุดโบราณ’ ในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเพื่อให้สมพระเกียรติในพระราชพิธี การแต่งกายของผู้ปฏิบัติในริ้วขบวนต้องดูสง่างาม สมจริงตามโบราณราชประเพณีที่สุด จึงเป็นโอกาสที่ดีเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังมาให้ความรู้ความเข้าใจในการแต่งกายให้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นทุกคนต้องให้ความสนใจ ทำความเข้าใจ เพื่อไปถ่ายทอดกับกำลังพลที่ต้องแต่งกายดังกล่าวด้วย

เสนาธิการกองทัพภาคที่ 1 กล่าวอีกว่า เพื่อให้การเตรียมการปฏิบัติของริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศและการควบคุมอำนวยการ การจัดพระราชพิธีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้องตามประเพณีและสมพระเกียรติทุกประการ วันนี้จึงให้แต่ละหน่วยได้ฝึกการแต่งกายชุดโบราณทั้ง 16 แบบ ซึ่งทุกหน่วยก็ส่งกำลังพลและตัวแทนมาทำการฝึกกับครู ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง โดยชุดที่ยากที่สุด คือชุดที่ต้องแต่งโจงกระเบนและต้องรัดประคต เนื่องจากไม่สามารถแต่งกายได้เพียงลำพัง ต้องมีคนช่วย


หลังจากที่ได้เรียนรู้วิธีการแต่งกายที่ถูกต้องตามพระราชประเพณีในวันนี้แล้ว ตัวแทนของแต่ละหน่วยก็จะไปฝึกสอนต่อให้กับกำลังพลที่เหลือ โดยจะมีการจับเวลาว่าแต่ละชุดใช้เวลาแต่งกายนานเท่าไหร่ เพื่อปรับปรุงวิธีการแต่งกายให้ถูกต้องและใช้เวลาน้อยที่สุด ทั้งนี้ ในวันพระราชพิธีจริงจะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังคอยตรวจตราความเรียบร้อยอีกครั้ง และคนที่ทำหน้าที่เป็นครูฝึกในวันนี้ ก็จะแปรสภาพไปเป็นชุดซ่อม ในการเตรียมอุปกรณ์สำหรับซ่อมแซมเครื่องแต่งกายเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและสง่างามมากที่สุด