“บ้านเล็กในป่าใหญ่” โครงการพระราชดำริสมเด็จพระพันปีหลวง ให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้

“พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า” พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่แสดงถึงพระราชปณิธานอันแรงกล้าที่จะทรงงานด้านการอนุรักษ์ป่า ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ เพื่อสนับสนุนการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อช่วยให้พสกนิกรชาวไทยมีน้ำเพียงพอต่อการดำรงชีพและการทำการเกษตร ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

โครงการตามพระราชดำริอันหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความใส่พระทัยด้านการอนุรักษ์ป่าไม้และทรงห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่เป็นอย่างมากก็คือ “โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่” ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นที่แรกที่บ้านห้วยไม้หก อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2534

บ้านห้วยไม้หก เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เป็นที่อาศัยของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง จำนวน 105 หลังคาเรือน ตั้งอยู่ในผืนป่าอันกว้างใหญ่ไพศาลของป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอมก๋อยที่มีพื้นที่ 1,437,500 ไร่

ป่าอมก๋อยเป็นป่าดิบผืนใหญ่ที่แผ่ปกคลุมอยู่เหนือเทือกเขาที่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำของลำน้ำแม่ปิง ด้วยคุณค่าของต้นไม้ ความหลากหลายของชีวิตสัตว์ป่า และความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำลำธาร ป่าอมก๋อยจึงเป็นป่าที่อยู่อาศัยของชาวบ้านหลาย ๆ เผ่า เช่น เผ่ามูเซอ เผ่าลีซอ และกะเหรี่ยง จากสถิติของอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ที่รวบรวมเมื่อปี พ.ศ. 2534 มีราษฎรอยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย รวม 199 หมู่บ้าน จำนวน 4,920 หลังคาเรือน มีประชากรประมาณ 23,230 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาทำอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่เลื่อนลอยด้วยการแผ้วถางป่า

หมู่บ้านเหล่านี้ตั้งอยู่กระจัดกระจายเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย บางแห่งตั้งเป็นชุมชนอยู่รวมกันมากกว่า 100 หลังคาเรือน บางชุมชนก็อยู่รวมกันเพียง 10 กว่าหลังคาเรือน ซึ่งหมู่บ้านที่ยากจนที่สุดคือ บ้านห้วยไม้หก ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง มีประชากร 485 คน

การสำรวจสภาพป่าอมก๋อยโดยกรมป่าไม้ เมื่อ พ.ศ. 2533 พบว่า ป่าถูกทำลายไป 9.45% โดยการทำไร่เลื่อนลอย และการตัดไม้ขาย การเผาป่าเพื่อเก็บเห็ดเผาะขาย และมีคนภายนอกเข้าไปลักลอบตัดต้นไม้ใหญ่โดยทำกันเป็นขบวนการ

ก่อนที่ธรรมชาติจะถูกทำลายไปมากกว่านั้น นับว่าเป็นโชคดีที่สมเด็จพระพันปีหลวง ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปเห็นพื้นที่แห่งนี้

วันที่ 4 มีนาคม 2534 นับเป็นวันเริ่มต้นโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ในวันนั้นสมเด็จพระพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่บ้านห้วยหล่อดูก ตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งได้บินผ่านผืนป่าอมก๋อยอันกว้างใหญ่ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นความหนาแน่นของไม้ใหญ่ในผืนป่าอันกว้างใหญ่นั้นก็ทรงห่วงใยว่าหากป่าแห่งนี้ไม่ได้รับการพิทักษ์รักษาอย่างเข้มงวดแล้ว สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์จะต้องสูญสลายไปแน่นอน พระองค์จึงพระราชทานพระราชดำริให้อนุรักษ์สภาพป่าและสัตว์ป่าให้รอดพ้นจากการถูกทำลาย ขณะเดียวกันก็พระราชทานพระราชดำริให้การอนุรักษ์ป่าไม้ไม่ไปทำความเดือดร้อนแก่ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้วย ดังที่ทรงมีพระกระแสรับสั่งว่า

“ความจริงชาวเขาเขาเดินอยู่ในป่าในเขา ก่อนที่พวกเราจะเข้าไปเสียอีก เพราะฉะนั้นต้องเห็นใจเขา เราต้องช่วยเขา จะไปห้ามเขา ไปกวาดต้อนเขาลงมาอยู่พื้นล่างนั้น เขาอาจลำบาก ทำมาหากินยาก ดังนั้นจึงควรหาโครงการอะไรสักอย่างที่จะให้เขาอยู่กับที่ ไม่ขยายตัว โดยหาอะไรให้เขาทำ เช่นศิลปาชีพ”

หลังจากที่เสด็จกลับจากการไปเยี่ยมราษฎรบ้านหล่อดูก ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2534 แล้ว ต่อมาในวันที่ 22 เมษายน 2534 สำนักราชเลขาธิการ ก็ได้มีหนังสือถึงแม่ทัพภาคที่ 3 ขอความร่วมมือในการดำเนินงานในโครงการอนุรักษ์สภาพป่าในพื้นที่อำเภออมก๋อย และโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่

ด้วยพระเมตตาที่ทรงห่วงใยทั้งผืนป่าและชีวิตที่ยากไร้ของราษฎรที่อาศัยอยู่ในผืนป่าใหญ่แห่งนี้ จึงได้พระราชทานพระราชดำริแนวทางการอนุรักษ์ไว้ว่า

“ให้มีการดำเนินการอนุรักษ์สภาพป่าไม้บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอมก๋อย ยางเปียง แม่ตื่น ในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ประมาณ 1,437,500 ไร่ ให้คงมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ โดยให้มีการดำเนินการ 1.รักษาป่าที่ยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่ ไม่ให้ถูกทำลายต่อไป 2.จัดให้มีการฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายไป โดยให้มีทั้งไม้ป่าธรรมชาติและไม้ใช้สอย 3.พื้นที่ทำกินของราษฎร ให้มีการช่วยเหลือด้านการเกษตร ให้สามารถทำกินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า และจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ”

ในวันที่ 25 มิถุนายน 2534 กองทัพภาคที่ 3 มีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 เป็นผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์สภาพป่าในพื้นที่อำเภออมก๋อย รับผิดชอบดำเนินการอนุรักษ์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าอมก๋อยและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยในพื้นที่ 1,437,000 ไร่

จากนั้นมณฑลทหารบกที่ 33 ได้เริ่มจัดตั้งกองอำนวยการโครงการอนุรักษ์สภาพป่าในพื้นที่อำเภออมก๋อย การปฏิบัติงานพิทักษ์ป่าอย่างเข้มงวดได้เริ่มขึ้นโดยการส่งชุดปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่ตามจุดต่าง ๆ ของหมู่บ้าน เพื่อสกัดกั้นเส้นทางการลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ออกจากป่า

เนื่องจากชาวบ้านตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยเป็นจำนวนมาก ทำให้ควบคุมยาก จึงต้องหาวิธีให้มีการรวมกลุ่มหมู่บ้าน โดยเริ่มพัฒนาหมู่บ้านหลักให้มีแหล่งน้ำ มีที่ทำกิน มีโรงเรียน มีสถานีอนามัย ส่งเสริมอาชีพให้ราษฎรมีรายได้ นอกเหนือจากการเพาะปลูก

ทั้งนี้เพราะการเคลื่อนย้ายครอบครัวนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ในขั้นต้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาหมู่บ้านหลักให้สมบูรณ์แบบ เพื่อให้ราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายรู้สึกอยากเข้ามารวมกลุ่ม มามีชีวิตใหม่ในหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาพื้นที่ทำกิน มีรายได้จากระบบสหกรณ์ที่สามารถช่วยให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขดังพระราชปณิธานของสมเด็จพระพันปีหลวงที่ว่า “ให้ป่าอยู่กับคนได้ คนอยู่กับป่าได้โดยไม่มีการทำลาย” จึงเกิดเป็นโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่แห่งแรกขึ้นมา

เมื่อยับยั้งไม่ให้ราษฎรเผาป่า ทำไร่เลื่อนลอย ไม่ให้ล่าสัตว์เป็นอาหารและส่งขายแก่บุคคลภายนอก ก็จะต้องนำระบบอาชีพใหม่เข้าไปสู่หมู่บ้าน พัฒนาหมู่บ้านให้มีที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง ให้ปลูกพืชสวนครัวเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือน จึงนับกำเนิดโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ขึ้นตั้งแต่นั้น

จากนั้นทรงพิจารณาเห็นว่าในระยะแรกของโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ราษฎรอาจปรับตัวไม่ทัน รายได้จากอาชีพลดลงไป จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ก่อตั้งธนาคารข้าว พร้อมกับพระราชทานข้าวสาร 10 เกวียน เพื่อไว้ช่วยเหลือราษฎรที่ขาดแคลนข้าวในปีแรกของโครงการ และยังพระราชทานทรัพย์สำหรับซื้อวัวพันธุ์พื้นเมืองให้ราษฎรเลี้ยงเป็นจำนวน 30 ตัวด้วย

ในด้านการพัฒนาอาชีพให้กับราษฎรในหมู่บ้าน ได้เริ่มโครงการทอผ้าโดยนำกี่กระตุกเข้าไปพร้อมกับมีครูเข้าไปสอน และตัวแทนราษฎร 4 คนไปอบรมที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์แล้วนำมาสอนคนอื่น ๆ ในหมู่บ้าน, มีการจัดรูปแบบการปกครองแบ่งออกเป็น 8 คุ้ม แต่ละคุ้มมีหัวหน้าเข้ารับฟังการประชุม และดูแลลูกบ้านในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน, มีโครงการสร้างบ่อน้ำในหมู่บ้าน โดยใช้แรงงานร่วมกันทั้งหมู่บ้าน โดยที่ทุกคนได้รับค่าแรงเป็นการตอบแทน, มีการส่งเสริมให้ปลูกถั่วเหลืองและข้าวบาร์เลย์แก่ราษฎรจำนวน 40 ครอบครัว, จัดทำปุ๋ยคอกสำหรับใช้ในการเพาะปลูก

โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ บ้านห้วยไม้หก ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้ โดยไม่เกิดการทำลาย ดังพระราชประสงค์ของสมเด็จพระพันปีหลวง หลังจากนั้นจึงมีการต่อยอด จัดตั้งโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่อีกหลายพื้นที่ เช่น โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริบ้านอุดมทรัพย์ อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร, โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริบ้านหนองห้า อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา, โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริดอยฟ้าห่มปก อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ เป็นอีกหนึ่งพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระพันปีหลวงทรงทำเพื่อผืนแผ่นดินไทยและพสกนิกรชาวไทยให้มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งต้นน้ำลำธารหล่อเลี้ยงชีพ และให้ชาวบ้านในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณนี้จะอยู่ในใจชาวไทยไปอีกนานแสนนาน

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากหนังสือ “ด้วยพระบารมีสู่ธรรมชาติและชีวิต” โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2535