ทุเรียนกวน “บูกิต” สินค้าชุมชน…คุณภาพพรีเมี่ยม

นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยบริหารและการจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) จ.นราธิวาส ด้วยการนำผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาตัวแบบเชิงธุรกิจและยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนแบบครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากภาวะวิกฤตของกลุ่มผู้ประกอบการฐานรากอย่างมีส่วนร่วมในจังหวัดนราธิวาส” มาพัฒนาเป็นโมเดลในการสร้างนวัตกรรมการผลิต และการตลาดของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียน เพื่อเข้าสู่กระบวนการแข่งขันทางการตลาดในระดับสากล

ด้วยรูปแบบการจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ผศ.บงกช กมลเปรม
ผศ.บงกช กมลเปรม

โดยมี “ผศ.บงกช กมลเปรม” คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นหัวหน้าโครงการ และเป็นผู้รับผิดชอบโครงการวิจัย โดยเธอบอกว่าสำหรับรูปแบบการจัดการต้นน้ำ เราใช้วิธีแบ่งผู้ประกอบการฐานรากออกเป็น 10 กลุ่ม

ประกอบด้วยแม่มณีโฮมเมด ทุเรียนกวน, กลุ่มอิลยัส ทุเรียนกวน, กลุ่มอัสลัน ทุเรียนกวน, กลุ่มบังเลาะ ทุเรียนกวน, กลุ่มทุเรียนกวนแม่บ้านเกษตรบ้านปูเก๊ะ และส้มแขกแห้ง, กลุ่มมิงทุเรียนกวน, กลุ่มทุเรียนกวนบ้านบูเกะ, เซาเด๊าะทุเรียนกวน, กลุ่มแปรรูปผลไม้บ้านบูกิต และบูโดบูกิตทุเรียนกวน

ขณะที่กลุ่มกลางน้ำจะใช้วิธีจัดระเบียบห่วงโซ่คุณค่าใหม่, การสร้างนวัตกรรมการผลิต และการแปรรูป รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถด้านการตลาดของผู้ประกอบการ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งยังมีการนำสถาบันการเงินต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการทั้ง 10 กลุ่มด้วย

สำหรับการจัดการในส่วนของปลายน้ำ จะใช้วิธีเจาะตลาดเฉพาะ (Niche Market), ตลาดต่างประเทศ และตลาดมวลชน (Mass Market) เพื่อให้ผลผลิตไปสู่มือผู้บริโภคอย่างมีคุณภาพ ทั้งยังใช้ศักยภาพทางการเงินของแต่ละกลุ่มผู้ประกอบการมาประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนที่คิดถึงประโยชน์กับสังคมอย่างเป็นรูปธรรม (SROI) รวมถึงผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) เข้ามาบริหารจัดการ ที่สำคัญ ยังมีการติดตาม และประเมินผลในทุก ๆ โครงการอีกด้วย

ADVERTISMENT

“ผศ.บงกช” บอกว่า ตอนเริ่มโครงการ เราเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาร่วมพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส, สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนราธิวาส และ บพท. เพื่อดูว่ากลุ่มผู้ประกอบการอาชีพไหนที่มีปัญหา และได้รับผลกระทบ จนได้ข้อสรุปออกมาว่าผู้ประกอบการแปรรูปกลุ่มทุเรียนกวนได้รับผลกระทบมากที่สุด

ADVERTISMENT

“จริง ๆ แล้วทุเรียนของชุมชนบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง เป็นทุเรียนมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน เพราะเป็นทุเรียนที่มีรสชาติอร่อย หวาน มัน ยิ่งมาแปรรูปเป็นทุเรียนกวนด้วย ยิ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจทำกันแบบชาวบ้าน ผลผลิตที่ได้จึงไม่ค่อยมีคุณภาพ

กอปรกับนายทุนจีนที่รับซื้อให้ราคาค่อนข้างต่ำ ที่สำคัญ เมื่อก่อนทุเรียนบูกิตเป็นของฝากประจำชุมชน ใครมาเยี่ยม หรือมาดูงาน ก็จะหาทุเรียนกวนบูกิตเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับไป แต่ก็อย่างที่บอก ผลผลิตมีไม่มาก จึงทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค”

จนทาง มนร.เข้ามาทำโครงการวิจัย โดยเริ่มตั้งแต่การพัฒนาตัวแบบ จนถึงการผลิต การแปรรูป และการตลาด ทั้งยังดูเรื่องการพัฒนาศักยภาพทางการเงิน โดยทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อทางจังหวัด เพื่อเข้าสู่แผนยุทธศาสตร์ในการยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนแบบครบวงจร

สิ่งนี้นับเป็นเรื่องดีที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดรับการอนุเคราะห์เรียบร้อยแล้ว และจากการพูดคุยกับชาวบ้าน ประกอบกับการนำโมเดลในการพัฒนาเข้ามาช่วยเรื่องแปรรูปทุเรียน พบว่าเมื่อก่อนทุเรียนกวนมีอายุเพียง 1 เดือนเท่านั้น

“ผศ.บงกช” บอกว่า พอเราทราบปัญหานี้ จึงต้องหาวิธียืดอายุในการเก็บรักษาทุเรียนกวน จนที่สุดพบว่าจะต้องนำเนื้อทุเรียนที่แกะแล้ว กวนแล้วไปนึ่งเสียก่อนประมาณ 20-30 นาที ทั้งยังต้องใช้ระยะเวลาในการกวนนานขึ้น ก็จะทำให้ทุเรียนกวนสามารถยืดอายุได้ถึง 2 เดือน ขณะเดียวกันเราก็ปรับราคา และคุณภาพให้สูงขึ้นด้วย เพื่อให้ทุเรียนกวนบูกิตเป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม

“ผ่านมาถือว่าไปได้ค่อนข้างดี เพราะนอกจากชาวบ้านจะขายทุเรียนกวนในราคาค่อนข้างสูง ทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นด้วย จนทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ขณะเดียวกัน ทาง มนร.ก็ไม่ได้หยุดอยู่เฉพาะแค่ทุเรียนกวนเท่านั้น

หากยังช่วยชาวบ้านนำผลงานวิจัยมาช่วยแปรรูปทุเรียนไปสู่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไอศกรีมโบราณ, ทองม้วนเนื้อทุเรียน, คุกกี้เนื้อทุเรียน ทั้งยังมีการขายผ่านออนไลน์ และออฟไลน์อีกด้วย จนตอนนี้ถือว่าผลผลิตของชาวบ้านได้รับการตอบรับจากตลาดดีมาก ๆ”

สุมล แวยาโก๊ะ
สุมล แวยาโก๊ะ

“สุมล แวยาโก๊ะ” ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านปูเก๊ะ และส้มแขกแห้ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส กล่าวเสริมว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เรากวนทุเรียนแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ตอนนั้นนายทุนจีนเป็นคนรับซื้อ นอกนั้นก็มีคนที่มาเยี่ยมชุมชนซื้อเป็นของฝากบ้าง ซึ่งคนทำส่วนใหญ่จะเป็นคนเฒ่าคนแก่ เพราะคนหนุ่ม-สาวขึ้นไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯกันหมด

ผลผลิตที่ได้จึงค่อนข้างน้อย และไม่ค่อยมีคุณภาพ จำได้ว่าตอนนั้นทุเรียนกวนกิโลกรัมละ 18 บาท และหลายคนในกลุ่มมีหนี้สินกันบ้าง แต่เมื่อทาง มนร.นำผลงานวิจัยมาช่วยพัฒนา และนำนวัตกรรมการแปรรูปเข้ามาช่วย เพื่อผลิตทุเรียนกวนเป็นสินค้าพรีเมี่ยม

ปรากฏว่าตอนนี้เราขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท คุณภาพชีวิตของพวกเราจึงค่อย ๆ ดีขึ้น ยิ่งตอนหลังทางกลุ่มแปรรูปทุเรียนกวนมีห้องเย็นในการเก็บวัตถุดิบด้วย ยิ่งทำให้ผลผลิตของเราไม่เสียหาย และมีอายุยืนนานขึ้น

“ดิฉันจึงต้องขอขอบคุณทีมคณาจารย์ของ มนร.และ บพท. เป็นอย่างยิ่งที่ยื่นมือมาช่วยครั้งนี้ และหลังจากประสบความสำเร็จจากการขายทุเรียนกวน ตอนนี้เราพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมกับแปรรูปทุเรียนเป็นสินค้าอื่น ๆ ด้วย เช่น ไอศกรีมโบราณ, ทองม้วนเนื้อทุเรียน และคุกกี้เนื้อทุเรียน

และต่อไปคงจะพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย เพราะทาง มนร.เคยพาไปศึกษาดูงานโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากทุเรียนในจังหวัดอื่น ๆ เราเห็นว่ายังมีแนวทางที่จะพัฒนาสินค้าชุมชนของเราให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ด้วย”

ตอนนี้สมาชิกหลายคนในกลุ่มเริ่มปลดหนี้บ้างแล้ว และหลายคนทดลองขายผ่านโลกโซเชียล ซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี ขณะเดียวกันหลายคนที่เคยทำงานประจำ เป็นพนักงานของรัฐบ้าง เป็นพยาบาลบ้าง ก็ลาออกมาทำทุเรียนกวนบ้างแล้ว เพราะเขาเห็นว่ารายได้ดีกว่างานประจำ ทั้งยังมองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคตด้วย

เพราะทาง มนร.และ บพท.ไม่เพียงสนับสนุนอย่างเต็มที่ หากยังช่วยยกระดับทักษะ และเสริมทักษะใหม่ ๆ ให้กับชาวบ้านในชุมชนฐานรากทั้งหมด 10 กลุ่มอย่างเป็นระบบ จนเป็นที่ประจักษ์ชัดแน่ว่าจากนี้ไม่นาน ผลิตภัณฑ์แปรรูปทุเรียนกวนตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส จะข้ามเส้นแบ่งทางการค้าที่เคยโดดเด่นแต่ในชุมชนไปสู่โลกทางการค้าในระดับสากลมากขึ้น