บพท.ยกกาฬสินธุ์โมเดล พาชุมชนหลุดพ้นความยากจน

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มีภารกิจหลักในการจัดสรรทุนวิจัย และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในมิติต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมา บพท.ดำเนินภารกิจสำคัญอย่างการแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สิ่งสำคัญคือต้องหากลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนจนจริง ๆ ในประเทศไทยว่าอยู่ที่ไหน และอยู่ในสถานะแบบไหน เนื่องจากฐานข้อมูลเดิมจากรัฐนั้นมีความผิดพลาด พบคนจนไม่จริงอยู่จำนวนมาก

ดังนั้น เมื่อดูตัวเลขครัวเรือนยากจนในปี 2562 มีอยู่ประมาณ 980,000 คน และในปี 2565 มีคนจนเพิ่มขึ้นประมาณกว่า 1 ล้านคน ซึ่งเป็นเกณฑ์การวัดจากรายได้เพียงอย่างเดียว เพราะมีจำนวนประชากรที่ไม่กรอกรายได้มีจำนวนมาก อีกทั้งบางรายมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แต่มีคุณสมบัติที่จะรับบัตรคนจน

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา

“ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา” ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า บพท.เก็บข้อมูลระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ที่นอกจากดูเกณฑ์รายได้ ยังต้องใช้ดูเกณฑ์ชีวิตความเป็นอยู่ด้วย เมื่อตั้งเกณฑ์สำรวจใหม่ ข้อมูลที่ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการพบคนจนเพิ่มขึ้นถึง 8 ล้านคน และการทำงาน บพท.ใช้กลไกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการช่วยขับเคลื่อนในพื้นที่

กาฬสินธุ์เป็น 1 ในจังหวัดนำร่อง ที่ บพท.ร่วมกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาคราชการ เอกชน ประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่ขับเคลื่อน “การแก้ปัญหาความยากจนด้วยงานวิจัยเชิงพื้นที่แบบร่วมมือด้วยนวัตกรรมและการขับเคลื่อนระบบข้อมูลในจังหวัดกาฬสินธุ์” รวมถึงจัดตั้งโครงการคนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อนำนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำมาสู่การปฏิบัติ

“ดร.กิตติ” กล่าวต่อว่า กาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง จากฐานข้อมูลปี 2562 ระบุว่าจังหวัดกาฬสินธุ์มีประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ รองจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดปัตตานี โดยมีสัดส่วนคนจนอยู่ที่ร้อยละ 31.26

จากข้อมูลโครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2562 มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด หรือ GPP 58,517 ล้านบาท เป็นการผลิตภาคเกษตร 13,552 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.1 และการผลิตภาคนอกเกษตร 45,065 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76.9 เฉลี่ย 73,587 บาทต่อคนต่อปี

ทั้งนี้ ได้มีการนำร่องโครงการแก้จนไปแล้ว 2 อำเภอที่ 958 ครัวเรือน ได้แก่ 1.อำเภอสหัสขันธ์ คือโมเดลเห็ดฟาง เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านแนวคิด BCG Model 2.อำเภอนามน ได้แก่ โมเดลปลูกผัก ที่มุ่งเน้นการปลูกผักแบบแปลงรวม โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.กาฬสินธุ์ สนับสนุนการตรวจรับรองมาตรฐาน

ซึ่งทั้ง 2 โมเดลสามารถช่วยเหลือครัวเรือนยากจนให้มีรายได้ที่ดี และมีงาน มีอาชีพ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการคนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งเป็นกลไกเชิงนโยบายที่ใช้ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนร่วมกันของจังหวัด มีการบูรณาการการทำงานช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย เชื่อมโยงชุมชน ท้องถิ่น อำเภอ

รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน
รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน

“รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน” อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า หลักการทำงานของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์คือ เราไม่ได้ทำงานด้านปัญหาความยากจนเพียงเพราะเป็นงานวิจัย แต่เราทำงานด้านการแก้จนเพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ประเทศชาติพัฒนาขึ้น โ

ดยทางกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทของมหาวิทยาลัย จากการผลิตบัณฑิต เป็นการพัฒนากำลังคนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคมได้ เพราะฉะนั้นการทำงานแก้จนจึงเชื่อมโยงไปกับทุกมิติ ไม่ใช่แค่ตอบ KPI ของงานวิจัยเท่านั้น

“ที่ผ่านมาอาจารย์ของเราจึงออกสู่ท้องถิ่นเพื่อทำงานกับชุมชน ทำให้การเรียนการสอนของเราเปลี่ยนทิศทางไปที่ชุมชนท้องถิ่นด้วย ฉะนั้น การจัดการเรียนการสอนกับการทำงานพัฒนาสังคมจึงเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น ที่ผ่านมาที่อำเภอนามน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่อง ที่เราไปสร้างโมเดลแก้จน

ก็มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนได้ข้อมูลว่ามีพื้นที่โรงเรียนที่เป็นโรงเรียนร้างที่อยู่ในบริเวณวัดดงสวางสามารถนำมาทำเป็นโมเดลปลูกผักแก้จนของชาวบ้านได้ ส่วนสหัสขันธ์ใช้โมเดลเห็ดฟาง”

นอกจากนั้น ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยยังคิดค้นเตาเผาถ่านไร้ควัน เพื่อมาใช้กับการเผาถ่านจากเหง้ามันสำปะหลัง นวัตกรรมที่สอดคล้องตามเทรนด์ BCG เพราะเป็นการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างเหง้ามันสำปะหลังมาเผาเป็นถ่าน ที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงพลังงานชีวมวลอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยนวัตกรรมทั้งเตาเผาถ่านไร้ควัน และถ่านจากเหง้ามันสำปะหลังเป็นองค์ความรู้ที่พร้อมนำไปปรับใช้และถ่ายทอดให้กับชาวบ้าน ณ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมภูสิงห์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้ประชาชน

สุนันทา เทียมพรม
สุนันทา เทียมพรม

“สุนันทา เทียมพรม” ชาวบ้านดงสวางจันทร์เจริญ หมู่ 15 ต.สงเปลือย อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เมื่อก่อนดิฉันมีฐานะยากจน เป็นเสาหลักในการเลี้ยงดูครอบครัวกว่า 5 ชีวิต ยึดอาชีพรับจ้างเป็นหลัก รายได้ไม่แน่นอน เพียงพอบ้าง ไม่เพียงพอบ้าง

แต่เมื่อเข้าร่วมโมเดลปลูกผักแก้จน ซึ่งได้รับการจัดสรรที่ดินสองแปลงในพื้นที่โรงเรียนร้างเพื่อปลูกผักบุ้ง ผักชี พริก คะน้า เป็นพืชผักสวนครัวทั่วไป ทำให้มีรายได้ที่แน่นอน เพราะผลผลิตจากผักที่ปลูกสามารถส่งขายได้ถึงวันละ 500 บาท ดิฉันรู้สึกว่าเมื่อมีรายได้แน่นอน คุณภาพชีวิตของเราก็เริ่มดีขึ้น

จนทำให้ชีวิตของพวกเขาเริ่มมีความหวังกับโครงการนี้ในที่สุด